ชาวไร่อ้อยสระแก้วฟ้องศาลปกครอง เอาผิดก.อุตฯ รีรอตั้งโรงงานน้ำตาล เสียหาย 640 ล.
เกษตรกรสระแก้วตบเท้าฟ้องศาลปกครอง เอาผิดก.อุตฯ-บ.น้ำตาล“หนุนปลูกอ้อย แต่ไม่ตั้งโรงงานแปรรูป”กระทบชาวไร่ผลิตล้นตลาด 5 ปี เสียหาย 640 ล้าน เผยเคยร้อง ‘ยิ่งลักษณ์’ แต่เงียบ
วันที่ 10 พ.ค. 56 ที่ศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา สภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจ.สระแก้วกว่า 500 คน ตัวแทนเกษตรกรผู้ฟ้องคดีจำนวน 735 คน เข้ายื่นฟ้องศาลปกครองให้ดำเนินคดีกับ กระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด เพื่อขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและโรงงานน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี ดำเนินการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ขึ้นที่จ.สระแก้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 50 ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มในพื้นที่จ.สระแก้ว
จากมติครม.ดังกล่าว บริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ได้เข้ามาประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกอ้อยเพิ่ม เพื่อตั้งโรงงานแปรรูปและรับซื้อผลผลิตแห่งใหม่ อย่างไรก็ดีกลับไม่มีการจัดตั้งโรงงานใหม่ตามที่สัญญาไว้ ทำให้เกษตรกรที่หันมาลงทุนปลูกอ้อยจำนวนหลายพันคน ต้องประสบภาวะผลผลิตล้นตลาด โรงงานน้ำตาลเดิมซึ่งมีอยู่เพียง 1 แห่งในจังหวัดสระแก้วเดิมก็ไม่สามารถรองรับปริมาณการผลิตได้ ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขาดทุนต่อเนื่องมายาวนานกว่า 5 ปี
นายปรเมศฐ์ แดนดงยิ่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจ กล่าวว่า คำร้องต่อศาลในคดีนี้ คือ 1.ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนหรืองดเว้นการใช้หลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการกำหนดเงื่อนไขการย้ายสถานที่ตั้งและขายกำลังการผลิตของโรงงาน น้ำตาล ซึ่งกำหนดให้โรงงานที่จะตั้งใหม่ต้องมีระยะห่างจากที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลเดิมไม่น้อยกว่า 80 ก.ม. โดยสันนิษฐานว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวถูกใช้นำมาเป็นข้ออ้างในการไม่พิจารณาจัดตั้งโรงงานแห่งใหม่ซึ่งเดิมจะจัดตั้งใน อ.ตาพระยา แต่ประสบปัญหาด้านชลประทานจึงจะย้ายไปจัดตั้งใน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้วทำให้อยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลเดิมน้อยกว่า 80 ก.ม.
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ออกเป็นกฎกระทรวงตามที่ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 กำหนดไว้ แต่ออกเป็นบันทึกข้อความเมื่อปี 2554 และยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างเป็นมาตรฐาน เนื่องจากในหลายจังหวัด เช่น จ.เลย ยังมีการอนุญาตให้จัดตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่มีระยะห่างจากโรงงานเดิมน้อยกว่า 80 ก.ม. ได้ จึงตีความได้ว่าการกระทำดังกล่าวของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการเลือกปฏิบัติ เข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ให้โรงงานน้ำตาลเดิมผูกขาดการรับซื้อผลผลิตเพียงเจ้าเดียว
2. ขอให้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ให้บริษัทนิวกว้างสุ้นหลี สามารถย้ายสถานที่ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาล ไปตั้งที่ อ. วัฒนานครได้ และ3 .ขอให้มีคำสั่งให้บริษัทนิวกว้างสุ้นหลี ดำเนินการขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตน้ำตาล และ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เพื่อดำเนินกิจการและรับซื้อผลผลิตอ้อย
ด้านนายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า ผลจากการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อใช้เป็นพืชพลังงานผลิตเอทานอล การที่รัฐบาลรับประกันราคา รวมทั้งการโฆษณาชวนเชื่อของโรงงานในจ.สระแก้วให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อย ทำให้ในปีที่ผ่านมาจ.สระแก้วมีผลผลิตอ้อยถึง 3.6 ล้านตัน แต่โรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวสามารถรองรับผลผลิตได้เพียง 2.5 ล้านตันต่อหนึ่งฤดูกาล เกษตรกรจึงต้องขนอ้อยสดไปขายนอกพื้นที่ เช่น ชลบุรี บรีรัมย์ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทบเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั้งในจ.สระแก้วและข้างเคียงมากกว่า 3,000 ราย เป็นเหตุให้ขาดทุนรวมกันไม่ต่ำกว่า 142 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้หากคิดมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ปี 2550 – ปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการส่งเสริมปลูกและโรงงานใหม่ไม่ไปตั้งตามสัญญา คิดเป็นความเสียหายรวมมูลค่ากว่า 640 ล้านบาท และหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขคาดว่าในปีการผลิต 2556/2557 เกษตรกรชาวไร่อ้อยจ.สระแก้วจะได้รับความเสียหายเพิ่มคิดเป็นมูลค่า 202 ล้านบาท
“ทุกวันนี้เราต้องขนอ้อยไปขายนอกพื้นที่ที่ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก โรงงานในพื้นที่ก็ไม่มีคิวให้หรือมีก็ต้องรอนานทำให้ผลผลิตเสียหายทั้งเรื่องน้ำหนักและความหวาน เกษตรกรจึงถูกเอารัดเอาเปรียบจนมีแต่หนี้สิน” ตัวแทนเกษตรกรไร้อ้อยรายหนึ่งกล่าว
ทนายความผู้รับฟ้องคดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เกษตรกรเคยร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจพาณิชย์และ อุตสาหกรรม วุฒิสภา ซึ่งมีมติเมื่อปลายปี 2555 ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาจริงและเสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมรีบแก้ไข แต่กระทรวงฯก็ยังไม่มีท่าทีใดๆ นอกจากนี้เกษตรกรยังเคยร้องเรียนกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีโดยตรง เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมาซึ่งนายกฯได้ลงพื้นที่ใน จ.สระแก้ว โดยรับปากช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่จนถึงขณะนี้ก็ไม่มีความคืบหน้า เกษตรกรจึงจำเป็นต้องขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาตามที่ร้องขอ