ก.พาณิชย์เล็งเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในปี 56 เป็น 3.7 แสนไร่
ก.พาณิชย์เล็งเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ไทยเป็น 3.7 แสนไร่ ในปี 56 คาดพืชไร่ขยายตัวมากสุด เอกชนชงรัฐเลิกหนุนใช้สารเคมีเกษตร-ส่งเสริมการแปรรูปในประเทศ
วันที่ 10 พ.ค. 56 กระทรวงพาณิชย์ จัดงาน ‘Organic Symposium 2013’ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ ‘นโยบายสนับสนุนตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยของกระทรวงพาณิชย์’ ใจความว่า ปัจจุบันการทำเกษตรอินทรีย์จะทำให้ระบบนิเวศได้รับการฟื้นฟู สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และต่อต้านจากโรคร้ายได้ ดังนั้นผู้บริโภคในยุคปัจจุบันจึงได้เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ ทั้งในรูปของสินค้าอุปโภค บริโภค อย่างไรก็ดี หากภาครัฐและเอกชนสามารถรวมตัวกันได้ในการแลกเปลี่ยนความรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐาน จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ไทยเป็นครัวของโลกได้
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาเกษตรอินทรีย์โลก ระบุว่า มีเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์ทั่วโลก 1.8 ล้านคน มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ และพื้นที่ระยะปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์ รวมกันราว 232.5 ล้านไร่ โดยประเทศที่มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากที่สุด คือ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา และจีน แต่ประเทศที่มีประชากรทำเกษตรอินทรีย์มากที่สุดกลับเป็นอินเดีย ยูกันดา และเม็กซิโก ขณะที่ด้านการตลาดเกษตรอินทรีย์โลก ปี 54 มียอดจำหน่ายรวม 1.88 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.62 เมื่อเทียบกับปี 53 โดยสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดใหญ่ที่สุด
รองปลัดพาณิชย์ กล่าวต่อว่า สำหรับในเอเชีย มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 23 ล้านไร่ โดยจีนมีพื้นที่มากที่สุด รองลงมา คือ อินเดีย และไทยอยู่อันดับ 7 ซึ่งตลาดในเอเชียนั้นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีตลาดสำคัญอยู่ที่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 2.2 แสนไร่ มีประชากรที่ทำเกษตรอินทรีย์ราว 7,000 คน สร้างผลผลิต 80,000 ตัน/ปี มูลค่าการส่งออกคิดเป็น 4,000 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ โดยไทยวางเป้าหมายขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 56 เป็น 3.7 แสนไร่ โดยเฉพาะพืชไร่อินทรีย์ที่จะมีอัตราการขยายตัวมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีเป้าหมายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรยั่งยืนตามแนวทางสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีหลักว่าต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมแต่ละพื้นที่ ดังนั้นเพื่อให้เกิดรูปธรรม ขณะนี้ภาครัฐได้แต่งตั้งคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ เพื่อกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, พาณิชย์,วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, อุตสาหกรรม, สาธารณสุข, ศึกษาธิการ, สำนักนายกรัฐมนตรี, ภาคเอกชน, ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนเกษตรกร จนจัดทำเป็นยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2556-2559 แล้ว
“เราจะมุ่งมั่นสร้างศักยภาพเกษตรอินทรีย์ในเชิงพาณิชย์สู่สากล จะสนับสนุนการขยายตลาดสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในกลุ่มสินค้าที่เป็นอาหาร มิใช่อาหาร และธุรกิจบริการ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัย และการพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อเป้าหมายให้ไทยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์แห่งหนึ่งของโลก” นางนันทวัลย์ กล่าวในที่สุด
ด้านนายวิฑูรย์ ปัญญากุล นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กล่าวว่า ปี 54 กรีนเมทได้สำรวจสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ขายในไทย พบสินค้าแปรรูปที่วางขายในร้านสะดวกซื้อในไทยส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ นั่นแสดงให้เห็นว่า ไทยมีการจัดกระบวนการแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่ำ ส่วนความนิยมบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้น พบคนกรุงเทพ 62% รู้จักสินค้าชนิดนี้ และเลือกซื้อสูงถึง 40% เพื่อมุ่งหวังจะเกิดผลดีต่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังพบว่ามีคนส่วนน้อยที่รู้จักเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง เนื่องจากส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเกษตรอินทรีย์เป็นประเภทเดียวกับไฮโดรโปนิกส์ ทั้งที่ความจริงไม่กลับแตกต่างกัน ฉะนั้นความรู้ที่ผิด ๆ ยังเป็นจุดอ่อนสำหรับคนไทยอยู่
ขณะที่นายปริญญา พรศิริชัยวัฒนา บริษัทรังสิตฟาร์ม กล่าวว่า ไทยยังมีการเติบโตด้านเกษตรอินทรีย์ช้าเมื่อเทียบกับระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เพราะเกษตรกรถูกปลูกฝังการใช้สารเคมีทางการเกษตรมานาน ทำให้ทำเกษตรอินทรีย์ไม่เป็น นอกจากนี้การจัดการพันธุกรรมพืชกำลังเป็นที่ต้องการของนานาชาติ ซึ่งเกี่ยวโยงกับเทคโนโลยีการตัดต่อทางพันธุกรรมและสิทธิบัตร แม้จะมีความพยายามผลักดันมาในไทย แต่รัฐบาลยังปกป้องไม่อนุญาตให้ใช้เมล็ดพันธุ์ตัดต่อทางพันธุกรรมเข้ามาปลูกในแปลงเพาะอยู่ เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับเกี่ยวกับสิทธิบัตร อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่ายังคงมีนักวิจัยบางรายพยายามจะนำเข้ามาอยู่
“จุดแข็งของเกษตรอินทรีย์จะสร้างความมั่นคงทางอาหาร แต่หากปล่อยให้มีการตัดต่อพันธุกรรมพืชโดยไม่ให้สิทธิความเป็นเจ้าของ ทุกอย่างจะตกไปอยู่ในอำนาจทุน ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าอำนาจในอนาคตไม่ใช่ขีปนาวุธ แต่เป็นความมั่นคงทางอาหารที่ชาติใดได้ครอบครองจะกลายเป็นมหาอำนาจโลก” ผู้บริหารบริษัท รังสิตฟาร์ม กล่าว.