“6 ฟรีทีวีไทย” โชว์วิธีกำกับดูแลตนเอง เปิดช่องทางร้องเรียน
กสทช.จัดเสวนาจรรยาบรรณสื่อทีวี ตัวแทนฟรีทีวีไทย ทั้ง 6 ช่อง เปิดวิธีกำกับดูแลตัวเอง รวมถึงช่องทางร้องเรียน
วานนี้ (9 พ.ค.2556) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดการประชุมเสวนาเพื่อนำเสนอจรรยาบรรณในกิจการโทรทัศน์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องกลไก Self Censorship/Self Regulation ขึ้น ที่โรงแรมสุโกศล โดยมีตัวแทนฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง มานำเสนอจรรยาบรรณและแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลตนเอง
นางนิมะ ราซิดี ตัวแทนสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 กล่าวว่า ยอมรับว่าช่อง 3 โดนร้องเรียนจากคนดูเข้ามามาก ซึ่งปัจจุบันเมื่อมีเรื่องร้องเรียนจะถูกส่งไปที่ กสทช.ไม่ใช่ที่สถานีแล้ว โดยปัญหาที่ช่อง 3 เจอร้องเรียนเข้ามาค่อนข้างมาก คือการนำละครจากต่างประเทศเข้ามาฉาย เนื่องจากวัฒนธรรมในละครเรื่องนั้นอาจจะขัดกับวัฒนธรรมไทย
น.ส.ทวินันท์ คงคราญ เลขานุการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 กล่าวว่า ช่อง 5 พร้อมปรับตัวรับการออกอากาศในระบบดิจิตอล โดยจะไม่เป็นแค่ทีวีของทหาร สำหรับการควบคุมตนเองด้านจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ อยู่ในแผนแม่บทบริหารของสถานีที่บุคลากรต้องยึดเป็นแนวทางปฏิบัติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
“ช่อง 5 จะมีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนภายใน 30 วัน ผ่านช่องทางการร้องเรียน ทั้งโทรศัพท์ เว็บไซต์ จดหมาย ฯลฯ เนื่องจากนโยบายการทำงานของช่อง 5 จะยึดหลักว่า ถูกต้องก่อนถูกใจ คุณค่าใหญ่กว่าเรตติ้ง” น.ส.ทวินันท์กล่าว
นายสุบัณฑิต สุวรรณนพ ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 กล่าวว่า การดูแลตนเองช่อง 7 มีมานานแล้ว โดยจะเน้นการกลั่นกรองผู้จัดว่าเหมาะสมกับละครแบบไหน หรือรายการเนื้อหาใด มีการคณะกรรมการพิจารณาการผลิตละครโทรทัศน์ทำหน้าที่ควบคุมเพื่อให้ละครที่สถานีผลิตเหมาะสมกับผู้ชม ตั้งแต่การคัดเลือกบทประพันธ์ที่ไม่หมิ่นเหม่ด้านจริยธรรมคุณธรรม ทำให้ช่อง 7 ไม่ค่อยมีเรื่องร้องเรียนจากคนดู ทั้งนี้การคัดเลือกภาพยนตร์และจัดวางภาพยนตร์ที่จะนำมาฉาย ทางสถานีจะยึดหลักตรม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
“แต่มองอีกด้าน หากมีการควบคุมอย่างเข้มข้นเกินไป สังคมไทยจะเสียโอกาสในการดูละครที่มีเนื้อหาน่าสนใจบางเรื่อง เช่น ละครที่กล่าวถึงด้านไม่ดีของบางอาชีพในสังคม” นายสุบัณฑิตกล่าว
นายสนธิ อิชยาวิโรจน์ ตัวแทนบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง 9) กล่าวว่า แม้บางครั้งจะเกิดความสับสนในบทบาท ระหว่างเป็นหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะต้องยึดถือกฎหมายหลายฉบับ แต่ อสมท.มีระเบียบและข้อปฏิบัติของจรรยาบรรณของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อประโยชน์สาธารณะ
นางพรอัปสร นิลจินดา ผอ.ส่วนจัดและควบคุมรายการ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) กล่าวว่า ช่อง 11 มีคณะกรรมการตรวจสอบ มีกฎระเบียบของกรมประชาสัมพันธ์ให้ปฏิบัติ ทั้งจริยธรรมของผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน โดยจะเน้นหลักการเคารพสิทธิส่วนบุคคล กฎหมาย ความมั่นคง ศาสนา และทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษ
ท้ายสุด น.ส.จิตติมา บ้านสร้าง บรรณาธิการแผนและยุทธศาสตร์ข่าว สํานักข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ไทยพีบีเอสเกิดขึ้นจากกฎหมายเฉพาะ ซึ่งกำหนดถึงข้อบังคับทางจริยธรรมวิชาชีพ มีกระบวนการตรวจสอบจากสาธารณะ ผ่านสภาผู้ชมผู้ฟัง มีกลไกรับเรื่องร้องเรียน และมีข้อบังคับว่าเรื่องใดควรหรือไม่ควรทำสำหรับผู้ปฎิบัติ นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการจัดหาและควบคุมคุณภาพรายการ โดยกฎหมายกำหนดให้ไทยพีบีเอสผลิตข่าวและรายการที่มีลักษณะเฉพาะตัว