อธิการบดีม.สุรนารี โอด “ช่างดูว้าเหว่” ฟังรัฐทุ่มงบฯ ติด Top มหาวิทยาลัยโลก
อธิการบดีจุฬาฯ รับคำท้าไต่อันดับมหาวิทยาลัยโลก หวั่นนโยบายนักการเมือง ไม่แน่นอน ไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนบ่อย ส่งผลให้โครงการสำเร็จยาก ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยวิจัย ยุคประชาธิปัตย์
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัย จัดการประชุมสุดยอดมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยรศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล รองผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยโลก (World-Class University:WCU) ) ตามนโยบายรัฐบาล ระยะที่ 2 (2558-2560) ว่า สกอ.กำลังพัฒนาโครงการ Thai WC ตามนโยบายชุดปัจจุบัน โดยพัฒนามาจากโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (National Research Universities:NRU) ภายใต้ แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์)
รศ.ดร.วันชัย กล่าวถึงโครงการนี้ว่า จะเปิดกว้างให้ทุกมหาวิทยาลัยรับทุน โดยตั้งเป้าเชิงท้าทาย แบ่งเป็น 4 กลุ่ม งบฯ แยกเป็น 500 ล้านบาทต่อปี สำหรับมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลก Top 100, 300 ล้านบาทต่อปี สำหรับมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลก Top 200, 100 ล้านบาทต่อปี สำหรับมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลก Top 500 และ 20 ล้านบาทต่อปี สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีอัตลักษณ์ระดับโลก ซึ่งโครงการนี้กำลังนำเสนอให้ครม.เห็นชอบเร็วๆ นี้
จากนั้น มีเวทีเสวนาเชิงวิพากษ์แนวทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยโลก โดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยวิจัยทั้ง 9 แห่ง
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับคำท้าที่จะก้าวสู่ มหาวิทยาลัยโลก จากนั้น แสดงความเห็นด้วยกับโครงการนี้ ด้วยประเทศต่างๆ มีการเคลื่อนไหวกันมานานแล้ว และเคลื่อนไหวรุนแรงกว่าประเทศไทย
“สำหรับความกังวลลึกๆ เป็นเรื่องของนโยบายของรัฐ ซึ่งมีความไม่แน่นอน และต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนผู้บริหารบ่อย ขณะเดียวกันนโยบายทั้งหลายก็เปลี่ยนตามไปด้วย ตรงนี้ทำให้ขาดความต่อเนื่อง โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ เป็นตัวอย่างอันดีที่สุด”
ศ.นายแพทย์ภิรมย์ กล่าวถึงงานวิจัยที่ต้องการความต่อเนื่อง “ไม่ใช่ปีนี้ได้แบบนี้ ปีหน้าถูกตัด แล้วมหาวิทยาลัยจะเอาเงินจากไหน” ซึ่งก็น่าเห็นใจมหาวิทยาลัยต่างๆ มาก เรื่องของการสร้างคน โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ มีการสร้างคนให้ทุนเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก แต่มาปีนี้ไม่มีแล้ว นี่คือความลำบากของมหาวิทยาลัยในการหาเงินมาสมทบ
สำหรับเรื่องความสามารถในการแข่งขัน อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวอีกว่า ก็ต้องการความต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ฉะนั้นหากนโยบายยังขาดความแน่นอน ไม่ต่อเนื่อง ก็ลำบากที่จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยโลก สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
“เรามีบทเรียนจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือจีน มีงบประมาณค่อนข้างเพียงพอ แต่สำหรับโครงการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยโลก งบประมาณที่ให้มาก็ต้องพิจารณาด้วยเช่นเดียวกัน รวมถึงการช่วยเหลือมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพน้อยกว่า ให้ก้าวขึ้นมาสู่มหาวิทยาลัยโลกได้ด้วย”
ขณะที่ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวถึงการจะก้าวสู่มหาวิทยาลัยโลกได้ต้องสร้างคน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุไว้ว่า กลางสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งจะให้งบฯ วิจัย 1% ของ GDP ซึ่งไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท หรือกรณีที่นายพงศ์เทพ เทพกาญนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวเปิดงานว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายสนับสนุนงบประมาณสำหรับการวิจัย 30% ส่วนอีก 70% เอกชนควรลงทุนนั้น หมายความว่า รัฐก็ไม่ควรให้งบฯ ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท
“ปีนี้รู้หรือไม่ มหาวิทยาลัย 80 แห่งได้แค่ 600 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่โครงการมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยโลก มีการเป้าเชิงท้าทาย ต่ำสุด ได้แค่ 20 ล้านบาท ดูๆ ก็ว้าเหว่จะพัฒนาประเทศกันอย่างไร”
ด้านรศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการสนับสนุนโครงการ ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ หรือมหาวิทยาไทยสู่มหาวิทยาลัยโลก แค่ระยะเวลา 3 ปี นับว่า สั้นเกินไป โดยปกติต้อง 5-6 ปีขึ้นไปจึงจะเห็นผล
“คนของประเทศไทย มีศักยภาพ แต่เรายังขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณ 80 มหาวิทยาลัย กับงบประมาณ 600 ล้านบาท ดูเล็กมากๆ เมื่อเทียบกับงบประมาณ 1,800 ล้านหยวน ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งได้” อธิการบดี มข. กล่าว และว่า เงิน 500 ล้านบาท กับการผลักดันมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยโลก ให้ได้ Top 100 น้อยมาก จึงเป็นได้แค่งบประมาณสนับสนุนทุนวิจัยเท่านั้น คำถามอยู่ที่ว่า เราจะก้าวไปสู่มหาวิทยาลัยโลกที่มีนักวิจัย มีนักเรียนจากต่างชาติมาเรียนได้ ต้องมีทุนวิจัย ทุนการศึกษาผนวกเข้ากับโครงการด้วย
รศ.ดร.กิตติชัย กล่าวด้วยว่า การสร้างความเป็นเลิศด้านการศึกษา เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกได้ ต้องมีคนต่างชาติเข้ามาทำงาน มีกำหนดเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ รวมถึงการขจัดอุปสรรคที่เป็นกฎระเบียบ เช่น เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้วสบาย ส่วนมหาวิทยาลัยที่ยังเป็นระบบราชการ ใช้เงินยากมาก และกว่าจะใช้จ่ายได้แต่ละครั้งก็ยุ่งยาก เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวทีเสวนานโยบายนี้ด้วยว่า ขณะที่การวิพากษ์วิจารณ์กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น อธิการบดีจุฬาฯ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุรนารี จนมาถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พูดจบ ปรากฎว่า ได้มีโน้ตขึ้นมาบนเวทีให้รศ.ดร.วันชัย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการอ่าน
“เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานเปิดงานนั้น ยังไม่กลับ และรอปรึกษาหารือข้อเสนอเชิงนโยบายการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยโลก กับอธิการบดีทุกท่าน ผมเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญ ต้องยุติเวทีก่อน” จากนั้น อธิการบดีท่านอื่นๆ ที่ขึ้นเวที เช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิ ดล ฯ ซึ่งก็ยังไม่ทันได้แสดงความเห็น ต่างหันมองหน้ากัน ก่อนจะพร้อมใจกันลุกขึ้น และเดินลงเวที เพื่อไปพบหารือกับรัฐมนตรีฯ ท่านดังกล่าว