บันทึกถึงมูฮาหมัดอัณวัร กับคำพูดสุดท้ายที่ได้ยินก่อนสิ้นอิสรภาพ
ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาเราได้เจอกันในงานของหน่วยราชการแห่งหนึ่ง "อันวาร์" หรือ มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ มาขอคำปรึกษาในฐานะที่ฉันเป็นรุ่นพี่ของคนเขียนเรื่องราวในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ด้วยเหตุผลคือเขาอยากทำหนังสือพิมพ์
ฉันเห็นแววตาแห่งความมุ่งมั่นและรอยยิ้มที่จริงใจของเขาที่มุ่งหมายจะเผยแพร่เรื่องราวดีๆ มีสาระสู่สังคม...
เรารู้จักกันมาหลายปีตั้งแต่ฉันเริ่มเข้ามาทำงานขีดๆ เขียนๆ อย่างจริงจังในพื้นที่นี้ "วาร์" คือชื่อที่ฉันเรียกขานเขา
อันวาร์บอกเล่าความคิดและตัวตนของเขาต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในงานวันนั้นว่า "เราไม่ได้อยู่ฝ่ายขบวนการ เรานำเสนอความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ความคิดเห็นของคนที่ไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ เราเป็นตัวเชื่อมสิ่งเหล่านี้ และเห็นด้วยกับการนำเสนอที่สร้างสรรค์ ใช้สันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง โปรดอย่าดันเราให้เข้าไปสู่ขบวนการใช้ความรุนแรง แต่ด้วยความที่เรายังโนเนม ไม่ดัง เมื่อเรานำเสนอข่าวหรือความคิดของประชาชนก็จะถูกต่อว่า และเข้าไม่ถึงระบบราชการ ขอให้หน่วยงานราชการเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้เราด้วย"
นั่นคือคำพูดสุดท้ายของเขาที่ฉันได้ยิน เพราะอีกเพียง 1 วันถัดมา ชื่อและตัวของเขากลับเปลี่ยนไปอีกสถานะหนึ่ง สถานะซึ่งอิสรภาพสิ้นสุดลง เพราะเขาถูกศาลฏีกาพิพากษาว่ากระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร ต้องโทษจำคุก 12 ปี อิสรภาพของเขาสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2556 นับเป็น "พฤษภาทมิฬ" ในความรู้สึกของผู้คนที่รู้จักเขา
ตัวตนของ อันวาร์ หนุ่มชาว อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ที่ฉันรู้จักและทำงานด้วยกันมา เขาเป็นสื่อมวลชนน้ำดีคนหนึ่งของวงการสื่อสารมวลชนไทย ทั้งความคิดความอ่านและการกระทำอยู่ในที่สว่างมาโดยตลอด เป็นข้อมูลประจักษ์ที่ทำให้เห็นตัวตนของเขาได้เป็นอย่างดี
การร่วมงานกับกลุ่ม "บุหงารายา นิวส์" ที่เป็นคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ด้วยเพราะอยากสื่อสารเรื่องราวดีๆ จากชายแดนใต้ออกไปให้สังคมได้รับรู้ผ่านงานเขียน การร่วมจัดตั้งสำนักพิมพ์ภาษามลายูผลิตการ์ตูน 3 ภาษา และล่าสุดคือการร่วมงานกับสำนักสื่อ Wartani ล้วนเป็นเครื่องการันตีตัวตนของเขาได้อย่างชัดเจน
วันที่ฉันไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำจังหวัดปัตตานี เราโบกมือทักทายและสลามกัน พูดกันผ่านโทรศัพท์ที่เสียงไม่ชัด หากถ้อยคำนั้นของเขายังคงเปี่ยมไปด้วยความเข้มแข็ง
"สู้ครับ กำลังใจเต็มร้อย" เป็นเสียงของอันวาร์ที่ยังก้องอยู่ในโสตประสาท ประสบการณ์ชีวิตที่มีค่าของเขาต้องถูกถ่ายทอดออกมาอย่างแน่นอน...ฉันเชื่ออย่างนั้น
ร้านขายของชำใกล้กับ สภ.ยะรัง คือบ้านของอันวาร์ เขาเพิ่งเปิดขายน้ำชากาแฟหน้าบ้านมาได้ 3 เดือนด้วยงบสนับสนุนเรื่องอาชีพจากหน่วยงานหนึ่ง กิจการกำลังไปได้ดี แต่เมื่อตอนนี้ไม่มีเขาอยู่ที่บ้าน สมาชิกในบ้านจึงต้องปรับแผนชีวิตกันใหม่ รวมทั้ง รอมีละห์ แซเยะ ภรรยาคู่ชีวิต
"ไม่คิดว่าเรื่องจะจบอย่างนี้ ตอนเย็นวันที่ 30 เม.ย.มีหมายจากศาลให้ไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 1 พ.ค. เขาขับรถไปหาฉันที่นราธิวาสและกลับมาปัตตานีตอนเช้าเพื่อไปศาลด้วยกัน พอเที่ยงรู้ผลชัดว่าต้องถูกคุมขัง 12 ปีก็ทำอะไรไม่ถูก เขาฝากขังที่ศาลก่อน พอตอน 5 โมงเย็นก็ย้ายไปที่เรือนจำปัตตานี เราไม่ได้คุยอะไรกันมากเพราะไม่คิดว่าผลจะออกมาแบบนี้ แต่มองในแง่บวกถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะเขาพร้อมต่อสู้ เป็นปัญหาที่ทำให้ได้เรียนรู้และหาทางแก้ไขกันต่อไป"
รอมีละห์ แต่งงานอันวาร์และอยู่กินกันมาเกือบ 3 ปี เธอทำงานช่วยเหลือสังคมมาตั้งแต่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใหม่ๆ และได้ร่วมก่อตั้ง "กลุ่มเยาวชนใจอาสา" ทำงานและลงพื้นที่มาโดยตลอด จนกระทั่งได้รู้จักอันวาร์จากกิจกรรมที่ทำร่วมกัน
ด้วยอุดมการณ์และเจตนารมณ์ที่เหมือนกัน ทำให้ทั้งคู่มีความใกล้ชิดและในที่สุดก็กลายเป็นความรัก ทั้งคู่แต่งงานกันและทำงานด้วยกันมาตลอด
"เราไม่ได้เตรียมตัวมาเพื่อการจากลา แต่เมื่อเกิดสิ่งนี้ขึ้น การขอดุอาเป็นทางออกที่ดีที่สุด ไม่รู้ว่าอัลลอฮ์จะทดสอบขนาดไหน ขออย่าให้เกิดสิ่งเลวร้ายเพราะไม่มีอะไรเลวร้ายกว่านี้อีกแล้ว เรามีความหวังทุกทาง ทุกที่มีคนติดตามเรื่องราวของเขา มันใจร้ายเกินไปไหม เขาทำงานในที่สว่างมาหลายปี เลือกต่อสู้ด้วยปลายปากกา แต่เมื่อต้องเจอกับผลแบบนี้ แล้วคนที่กล้าๆ กลัวๆ ที่จะออกมาต่อสู้ก็จะอยู่นิ่ง เพราะออกมาเป็นคนดีมันอยู่ยาก"
"หลังจากนี้ก็ต้องเข้มแข็งมากขึ้น และต้องอยู่ให้ได้เพื่อเป็นกำลังใจให้เขาได้ต่อสู้ให้ถึงที่สุด พร้อมกับรับภาระดูแลพ่อแม่ของเขา และฉันคงย้ายไปอยู่ที่ยะรังเพื่อจะได้ไปเยี่ยมเขาทุกวัน ดูแลพ่อแม่เขาและทำงานไปด้วย รวมทั้งต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวตัวเองที่นราธิวาสด้วย ต้องปรับแผนชีวิตใหม่"
รอมีละห์ บอกด้วยว่า กระแสธารน้ำใจและการให้กำลังใจทั้งในโลกออนไลน์และโลกแห่งความเป็นจริงทำให้เธอและสามีไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
"ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเข้มแข็งได้ถึงวันไหน จะพยายามทำให้ดีที่สุด ถ้าเราอ่อนแอก็ยังมีคนที่อ่อนแอกว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะนิ่งเฉยก้มหน้ารับชะตากรรม ฉันจะทำให้เต็มที่และดีที่สุด"
ขณะที่แม่ของอันวาร์ มารีเยาะ หะยีเต๊ะ วัย 62 ปี นางป่วยเป็นโรคหัวใจ เบาหวานและต้อกระจก แต่ยังมีกำลังใจดี เพราะมีรอมีละห์ไปช่วยดูแลตลอดในยามที่อันวาร์ไม่อยู่ นางย้อนความหลังให้ฟังอย่างเจ็บช้ำ
"ตอนที่ถูกตั้งข้อหานี้ วาร์เรียนอยู่ ปี 2 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คนที่ถูกกล่าวหามี 11 คนแต่ไม่รู้จักกัน เขาโดนคดีตอนปี 2548 เข้าไปอยู่ในเรือนจำมา 1 ปี 2 เดือน แล้วก็ประกันตัวออกมา (ช่วงที่ยื่นอุทธรณ์) จากนั้นก็ป่วยหนักเป็นปี ปวดท้องต้องผ่าตัด เพื่อนที่โดนข้อหาเดียวกันก็ปวดท้องมากเหมือนกัน จากนั้นเขาก็ไปกรุงเทพฯ ไปเริ่มทำงานข่าว แล้วก็ลงมาอยู่ที่บ้าน เริ่มทำงานกับอินเตอร์เน็ต ไปทำงานกับเพื่อนและทำงานกับสังคมมาตลอด"
มารีเยาะ บอกว่า อันวาร์เป็นคนใจเย็น ยิ้มง่าย เมื่อแต่งงานก็ไปมานราธิวาส-ปัตตานี เพราะรอมีละห์ทำงานหลักอยู่ที่นราธิวาส นางหวังฝากชีวิตไว้กับอันวาร์เพราะเป็นลูกชายสุดท้อง
"ลูกคนอื่นมีครอบครัวไปอยู่ที่อื่นกันหมดแล้ว ฉันก็หวังจะอยู่กับเขา พอมาเป็นแบบนี้ก็หมดอาลัยตายอยาก กลางวันก็คุยกับเพื่อนบ้านให้หายเหงา กลางคืนก็นอนร้องไห้ นอนไม่หลับ กำลังใจไม่เต็มร้อย หวังให้เขากลับมาอยู่ด้วยกันเร็วๆ" เป็นเสียงเศร้าๆ ของแม่อันวาร์
ฉันรับรู้และเชื่อมาตลอดว่าทุกคนบนโลกใบนี้อยู่ได้ด้วยความหวังและกำลังใจ เสียงของอันวาร์ที่ยังดังก้องอยู่ในหัวของฉันว่า "สู้ครับ กำลังใจเต็มร้อย" ก็เป็นความหวังและพลังใจให้คนที่เฝ้ามองอย่างฉันเหมือนกันว่า อันวาร์และคนครอบครัวจะผ่านเรื่องร้ายๆ ไปได้...ฉันเชื่ออย่างนั้น
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อันวาร์กับร้านน้ำชากาแฟของเขา