"พงศ์เทพ" กระตุกเอกชนร่วมลงขันม.วิจัย เผยรัฐหนุนงบฯช่วย 30%
รมว.ศธ. ย้ำชัด ประเทศชาติต้องการ "นวัตกรรม" ที่สามารถจดสิทธิบัตรนำไปใช้เผยแพร่ได้ทั่วโลก โอดยอดการจดสิทธิบัตรของไทยน้อย พร้อมฝากความหวังมหาวิทยาลัยวิจัยทั้ง 9 แห่ง
(7 พ.ค.) นายพงศ์เทพ เทพกาญนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวเปิดการประชุมสุดยอดมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่2 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายพงศ์เทพ กล่าวถึงการวิจัยและพัฒนา เป็นหัวใจสำคัญของผลิตภัณฑ์ บริการ และสินค้าทุกชนิด หากจะประสบความสำเร็จทางการค้า ต้องผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนามาทั้งสิ้น ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าหมายสนับสนุนงบประมาณสำหรับการวิจัย 30% ส่วนอีก 70% เอกชนควรลงทุน
"ปัจจุบันภาคเอกชนไทยยังลงทุนด้านการวิจัยน้อยมาก ดังนั้นแนวทางคือต้องกระตุ้นให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของงานวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจของตนเอง และในขณะเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยที่จะได้พัฒนาโครงสร้างต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานวิจัย รวมถึงเพิ่มจำนวนนักวิจัยให้มากขึ้นด้วย"
รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า วันนี้มหาวิทยาลัยวิจัยต้องออกไปบอกกับภาคธุรกิจว่า ท่านมีความสามารถอะไร และสามารถวิจัยและพัฒนาอะไรให้แก่เขาได้ หากนักวิจัยเดินไปบอกนักธุรกิจได้ว่างานวิจัยของตนจะช่วยลดรายจ่ายในด้านต่างๆ ให้เขาได้อย่างไร เช่น ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ปีละ 20 ล้านบาท โดยที่สนับสนุนงบฯวิจัยเพียง 10 ล้านบาท เป็นต้น รับรองว่า ภาคธุรกิจต้องสนใจ ส่วนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ไม่ได้ทำงานวิจัยขนาดใหญ่ก็สามารถใช้วิธีการเดียวกันนี้กับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีได้เช่นกัน
รมว.ศธ.กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศชาติต้องการ คือการผลิตนวัตกรรมที่สามารถจดสิทธิบัตรที่นำไปใช้เผยแพร่ได้ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันยอดการจดสิทธิบัตรของไทยยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามจากการพิจารณาผลงานของมหาวิทยาลัยวิจัยทั้ง 9 แห่ง เห็นว่า มีศักยภาพพอที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำ ไม่ใช่มัวแต่ตามงานวิจัยหรือลอกสิ่งที่คนอื่นทำไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนทุนเพื่อการวิจัย แต่ขอให้การวิจัยต่าง ๆ เดินไปในทางเดียวกันกับยุทธศาสตร์ประเทศ
นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) กล่าวว่า แม้ว่างบฯ มหาวิทยาลัยวิจัยจะถูกปรับลดลงอย่างมาก แต่จากการจัดอันดับ 100 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชีย จัดทำเป็นครั้งแรกโดยนิตยสาร ไทม์ ไฮเออร์ เอ็ดดุเคชั่น ก็ยังพบว่า มีมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับถึง 3 แห่ง คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับที่ 55 มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับที่ 61 และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับที่ 82 สะท้อนให้เห็นว่า ศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทยสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าสู่เวทีโลกได้
ด้านนายอมเรศ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า การแข่งขันที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันจะต้องพึ่งพานวัตกรรมใหม่เป็นหลัก ดังนั้นประเทศไหนที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในวันนี้ก็จะมีโอกาสทางธุรกิจมากในอนาคต ปัจจุบันมาเลเซียมีการเร่งลงทุนด้านงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้นมาก จนมีสัดส่วนผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์แซงทุกประเทศในอาเซียน ดังนั้นในส่วนของไทยจะต้องเร่งทำงานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้มากขึ้น โดยใช้วิธีกระตุ้นให้ภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยให้ถึงเป้าหมายร้อยละ 70.