วิเคราะห์คำพิพากษาคดี "มูฮาหมัดอัณวัร" กับคำชี้แจงของ กอ.รมน.
คำพิพากษาคดีความมั่นคงที่ก่อกระแสร้อนแรงที่สุดในพื้นที่ชายแดนใต้ขณะนี้ ไม่มีคดีไหนฮอตเท่าคดีของ นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ อดีตคนข่าวสื่อทางเลือก และคนทำงานภาคประชาสังคม ตกเป็นจำเลยในคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร พร้อมกับพวกรวม 11 คน โดยศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร กำหนดโทษ 12 ปี
แม้คำพิพากษาจะออกมาหลายวันแล้ว แต่ข่าวที่พูดและวิจารณ์กันปากต่อปากยังค่อนข้างสับสน คำพิพากษาฉบับเต็มที่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์แม้จะค่อนข้างสั้นเพียง 14 หน้า แต่ก็ยาวเกินกว่าที่หลายคนจะตั้งใจอ่าน บางคนจึงเข้าใจว่าเขาเป็นจำเลยในคดีฆ่าตัดคอชาวบ้าน บ้างก็ว่าโดนคดีฆ่าตัดคอตำรวจ ทั้งที่จริงๆ แล้วหากพิจารณาคำพิพากษาอย่างละเอียดจะพบว่า นายมูฮาหมัดอัณวัร ถูกศาลตัดสินลงโทษในความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจรเป็นหลักเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับคดีฆ่าหรือพยายามฆ่าโดยตรง
"ทีมข่าวอิศรา" จึงสรุปคำพิพากษาโดยแยกเป็นประเด็นๆ ให้ได้อ่านทำความเข้าใจกันง่ายๆ
คดีที่ศาลฎีกาเพิ่งอ่านคำพิพากษาไปนั้น มีด้วยกัน 4 สำนวน โดย นายมูฮาหมัดอัณวัร เป็นจำเลยที่ 3 ในสำนวนแรกจากจำเลย 6 คน ขณะที่อีก 3 สำนวนมีจำเลย 5 คน
เปิดคำฟ้อง :
คำฟ้องของโจทก์ (พนักงานอัยการ) สรุปว่า ระหว่างเดือน ส.ค.2546 ถึงวันที่ 5 ก.ค.2548 ทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้ง 11 คนกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
- เป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานี หรือ ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต
- เป็นอั้งยี่และกบฏเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรไทยและยึดอำนาจปกครองในส่วนของ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน เพื่อตั้งประเทศหรือรัฐใหม่ที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง
- สะสมกำลังพลและอาวุธ สมคบกันตระเตรียมการและวางแผนการเพื่อเป็นกบฏและเพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดอันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อก่อการร้าย ใช้กำลงประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานของรัฐและประชาชนทั่วไป
พฤติการณ์ :
จำเลยทั้ง 11 คนกับพวกสมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จับกลุ่มปรึกษากันเพื่อจะกระทำการก่อการร้ายในเขตพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลาบางส่วน
พื้นที่เกิดเหตุ :
ต.ปูยุด อ.เมืองปัตตานี, ต.ยะรัง ต.ปิตูมุดี อ.ยะรัง, ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา
เส้นทางคดี :
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นายมูฮาหมัดอัณวัร กับจำเลยรวม 9 คนมีความผิดจริง ให้ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี ยกเว้นจำเลยที่ 2 ที่ 10 และ 11 ที่อายุไม่เกิน 20 ปี ให้ลดโทษ 1 ใน 3 ต่อมาในศาลอุทธรณ์ ศาลให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3 คือนายมูฮาหมัดอัณวัร โจทก์และจำเลยบางรายยื่นฎีกา
ข้อเท็จจริงประกอบพยานหลักฐานที่ศาลฎีกาพิจารณา :
- วันที่ 5 ก.ค.2548 มีคนร้ายร่วมกันฆ่า ด.ต.สัมพันธ์ อ้นยะลา เจ้าพนักงานตำรวจ สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้นโรงเรียนประสานวิทยามูลนิธิ หรือ ปอเนาะพงสตา และโรงเรียนบุญบันดาล หรือ ปอเนาะแนบาแด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้สถานที่เกิดเหตุ และได้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 7 รายซึ่งพักอาศัยอยู่ในโรงเรียนทั้งสองแห่งไปซักถาม ก่อนออกหมายจับจำเลยทั้ง 11 คนมาดำเนินคดี
- พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจ เบิกความถึงสาเหตุที่เข้าตรวจค้นโรงเรียนว่า จากการตรวจศพ ด.ต.สัมพันธ์ พบว่าคนร้ายนำโทรศัพท์มือถือของผู้ตายไปด้วย และต่อมาตรวจสอบพบว่า บุคคลที่เรียนและพักอาศัยอยู่ที่โรงเรียนบุญบันดาลรายหนึ่งเป็นผู้นำโทรศัพท์ของผู้ตายไปใช้ และนำไปติดต่อกับบุคคลต่างๆ เช่น ผู้ต้องหาชุดแรก 7 ราย เจ้าหน้าที่จึงคุมตัวไปซักถามโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก (พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457) และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548)
- ผู้ต้องสงสัยทั้ง 7 รายซึ่งให้การเป็นพยานโจทก์ ยอมรับว่าบุคคลที่เรียนและพักอยู่ในโรงเรียนทั้ง 2 แห่งต่างถูกชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานี หรือขบวนการบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต มีการเข้าพิธีซูเปาะ (สาบาน) ร่วมรับฟังคำบรรยายปลุกระดมเพื่อกอบกู้เอกราชของรัฐปัตตานีกลับคืนมา และฝึกความแข็งแกร่งของร่างกาย พร้อมฝึกจิตใจให้กล้าหาญด้วยการกระทำความผิดกฎหมายรูปแบบต่างๆ รวมทั้งฝึกยุทธวิธีการสู้รบและการใช้อาวุธ
- พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจอีกนายหนึ่ง เบิกความว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนเริ่มมีมาตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง กระทั่งกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตริเริ่มจัดระบบการต่อสู้ให้เข้มแข็ง เปลี่ยนยุทธวิธีโดยใช้การหาสมาชิกจากนักเรียนตามโรงเรียนปอเนาะและตาดีกา มีการฝึกพัฒนาเยาวชนที่เป็นสมาชิกเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อแบ่งแยกดินแดน และขบวนการนี้ได้ปฏิบัติการรูปแบบต่างๆ โจมตีหน่วยทหาร ปล้นอาวุธปืน ฆ่าผู้นำท้องถิ่น และล่าสุดคือลักลอบฆ่าตัดคอ ด.ต.สัมพันธ์
- ศาลเชื่อว่ามีขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานีซึ่งเป็นคณะบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหมายกระทำการแบ่งแยกราชอาณาจักร ยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ทั้งใช้กำลังประทุษร้ายกระทำการอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย รวมทั้งกระทำการอันใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ โดยมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาล อันเป็นความผิดฐานกบฏและก่อการร้ายจริง แม้คำเบิกความจะเป็นคำให้การชั้นสอบสวนและซักถามจะเป็นการซัดทอดจากผู้เป็นสมาชิกของขบวนการด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นการปัดความผิดของตน เป็นเพียงการเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่ประสบพบเห็นมา มีการนำชี้สถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่ามีอยู่จริง
คำพิพากษา :
- คดีรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริง (เป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานีที่มุ่งหมายกระทำการแบ่งแยกราชอาณาจักร) เฉพาะจำเลยที่ 3 นายมูฮาหมัดอัณวัร กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลจึงพิพากษาแก้ (แก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์) ให้จำคุก 12 ปีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
คำชี้แจงจาก กอ.รมน.
เป็นที่ทราบกันดีว่าหลังคำพิพากษาถูกเผยแพร่ออกไป มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา เพราะเชื่อมั่นในพฤติกรรมและงานที่ มูฮาหมัดอัณวัร ทำตลอดมา บ้างก็มีอารมณ์โกรธ แสดงความผิดหวังหรือแม้กระทั่งโจมตีกระบวนการยุติธรรม
ร้อนถึง พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่ต้องออกมาแถลงเรื่องนี้เมื่อวันจันทร์ที่ 6 พ.ค.2556 โดยบอกว่า เรื่องที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกจำเลยคดีความมั่นคงจากกรณีเหตุการณ์คนร้ายได้ร่วมกันก่อเหตุฆ่าตัดคอ ด.ต.สัมพันธ์ อ้นยะลา สังกัดสถานีตำรวจภูธรยะรัง จ.ปัตตานี เหตุเกิดเมื่อ 5 ก.ค.2548 ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวได้จำนวน 11 คน และนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อ 25 ก.ค.2550 ให้จำคุกจำเลยคนละ 12 ปีจำนวน 9 คน คือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 (นายมูฮาหมัดอัณวัร เป็นจำเลยที่ 3) จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 7 ถึงที่ 11 ในความผิดต่อความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร แต่ในขณะที่กระทำความผิด จำเลยที่ 2 ที่ 10 และที่ 11 มีอายุไม่ถึง 20 ปี ให้ลดมาตราส่วนโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 8 ปี และให้ยกฟ้องจำนวน 2 คน คือจำเลยที่ 4 และที่ 6
ต่อมาจำเลยทั้ง 9 คนยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 9 ได้มีคำพิพากษาเมื่อ 16 มิ.ย.2552 ให้ยกฟ้องเพิ่มเติมจำนวน 2 คน คือ จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 (นายมูฮาหมัดอัณวัร) พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานีและจำเลยที่เหลือ 7 คนได้ยื่นฎีกาขัดค้าน ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวต่อว่า จากคำพิพากษาดังกล่าวได้มีการสร้างกระแสในเชิงปฏิเสธและไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจดังนี้
1.ผู้พิพากษาของประเทศไทยปฏิบัติหน้าที่ในพระนามขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นองค์ศาสนูปถัมภก คือให้การอุปถัมภ์ทุกศาสนา ไม่แบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติต่อทั้งศาสนาพุทธ อิสลาม คริสต์ หรือศาสนาอื่นๆ ดังนั้นการอ้างอิงถึงความไม่ยุติธรรมจากเรื่องศาสนาจึงไม่มีเหตุผลอันควรสำหรับกระบวนการยุติธรรมของศาลไทย อีกทั้งผลการพิจารณาของศาลไทยมิได้มีผลความเชื่อถือเฉพาะในประเทศไทย แต่รวมถึงสามารถนำไปประกอบเป็นหลักฐานในการพิพากษาคดีระดับสากลด้วย
2.กระบวนการศาลยุติธรรมของไทยมีขั้นตอนที่ได้ให้ความเสมอภาคระหว่างจำเลยและผู้กล่าวหา ตลอดทั้งยึดถือในหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมอยู่ในตัว จึงได้มีขั้นตอนที่ใช้ความละเอียดในการพิพากษาคดีถึง 3 ขั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มิได้ตัดสินโดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ อีกทั้งศาลแต่ละระดับจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคดีที่แยกจากกัน และไม่มีการแทรกแซงซึ่งกันและกัน โดยจำเลยทุกคดีจะมีสิทธิในการร้องขอความยุติธรรมได้รวม 3 ชั้น และสิ้นสุดที่ศาลฎีกา จึงเห็นได้ว่าศาลของประเทศไทยได้ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมในการให้โอกาสต่อทั้งจำเลยและฝ่ายผู้ฟ้อง คืออัยการ
3.นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ถูกตั้งข้อกล่าวหาร่วมกับพวกอีก 11 คน เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2548 จากพฤติกรรมร่วมกันซ่องสุมผู้คนทำการฝึกเพื่อต่อต้าน ทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงถูกตั้งข้อหาร่วมกันก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาจากหลักฐานและพยานบุคคลแล้วพิพากษาให้ลงโทษจำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เป็นเวลา 12 ปี
หลังจากนั้น นายมูฮาหมัดอัณวัร และเครือญาติมีความเห็นว่าศาลชั้นต้นมิได้ให้ความยุติธรรมเพียงพอ จึงได้ดำเนินการร้องขอความยุติธรรมผ่านศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้อง ต่อมาฝ่ายอัยการซึ่งเป็นทนายความของรัฐเห็นว่ารูปคดีของ นายมูฮาหมัดอัณวัร ยังมีข้อสงสัยในพฤติกรรมอันมีผลต่อความมั่นคงสันติสุขของประชาชน ชุมชน และประเทศ จึงได้เสนอเรื่องให้พิจารณาในระดับสูงสุดคือศาลชั้นฎีกา ด้วยพยานหลักฐานที่ครบถ้วนและมีความชัดเจนมิอาจโต้แย้งได้ ศาลฎีกาจึงได้พิพากษายืนตามศาลขั้นต้น คือ จำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ เป็นเวลา 12 ปี นับว่าเพียงพอต่อการให้ความยุติธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว
4.ในอดีตก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุก นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ศาลของประเทศไทยได้เคยพิพากษายกฟ้องคดีความที่มีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิมตกเป็นผู้ต้องหาจำนวนหลายราย ดังนั้นการที่จำเลยผู้หนึ่งผู้ใดจะถูกพิพากษาอย่างไรจะขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและดุลยพินิจของผู้พิพากษาที่มิได้มุ่งแต่จะใช้บทลงโทษเฉพาะต่อประชาชนแต่เพียงประการเดียว แต่ยังต้องคำนึงถึงหลักการอื่นๆ ที่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลด้วย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เอกสารคำพิพากษา
2 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์