‘เฉลิม’ รับปากเคลียร์ปัญหา ‘พีมูฟ’ - ม็อบลั่นชุมนุมยืดเยื้อ 28 พ.ค.รอผล
‘เฉลิม’ รับปากเร่งรัดสานต่อ 4 ปัญหา ‘โฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน-ปากมูล –บ้านมั่นคง’ ให้‘ม็อบพีมูฟ’ภายใน 27 พ.ค. ผู้ชุมนุมลั่นยังไม่กลับบ้านรอผลถึงที่สุด
วันที่ 7 พ.ค. 56 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ และเครือข่าย เช่น สมัชชาคนจน เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้และภาคเหนือ ฯลฯ ประมาณ 3,000 คน เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและการพัฒนาของรัฐบาลในอดีตอย่างจริงจัง โดยมี 7 กลุ่มปัญหา ได้แก่ ปัญหาการไม่สานต่อนโยบายโฉนดชุมชน, ปัญหาการดำเนินคดีกับคนจนอย่างไม่เป็นธรรม, .ปัญหาที่ดินชุมชนทับซ้อนที่ดินรัฐ, ปัญหาที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค ปัญหาผลกระทบจากเหมืองแร่ โรงไฟฟ้าและโรงโม่หิน, ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ ,และปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน
โดยกลุ่มพีมูฟได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 20 ใจความว่า นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม โดยปัจจุบันมีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นั้น ปัจจุบันพบว่ารัฐบาลก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาใดตามที่รับปากไว้ ขณะที่มีการจับกุม ดำเนินคดี ไล่ที่ประชาชนเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเปิดการเจราจาเพื่อรับฟังปัญหาของกลุ่มฯและหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
โดยช่วงเช้าที่ผ่านมา ชาวบ้านแต่ละกลุ่มปัญหาได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อรัฐบาลเป็นรายบุคคล ซึ่งมีตัวแทนออกมารับหนังสือช่วงระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่ช่วงบ่ายแกนนำแต่ละกลุ่มปัญหาได้เข้าเจรจากับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟ
นางนุชนารถ แท่นทอง ตัวแทนพีมูฟ กล่าวว่า นับตั้งแต่ น.ส.ยิงลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับปากแก้ปัญหาเรื่องที่ดินและที่ทำกินตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 55 จนถึงปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสานต่อโครงการโฉนดชุมชนในพื้นที่ที่รัฐบาลได้มีมติเห็นชอบแล้วทั้ง 58 แห่ง ซึ่งสามารถดำเนินการออกโฉนดได้เพียง 3 แห่ง ขณะที่ชาวบ้านหลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาขาดที่ทำกิน ถูกจับกุม ขังคุกดำเนินคดีเนื่องจากเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ของรัฐรวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการออกโฉนดชุมชน
นางมาลี ตามศรีวัน ตัวแทนกลุ่มสมัชชาคนจน จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนปากมูลว่า ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลกว่า 24 ปี ทำให้พันธุ์ปลาในแม่น้ำลดลง ระบบนิเวศของแม่น้ำถูกทำลายจนเน่าเสีย ชาวบ้านไม่สามารถประกอบอาชีพประมงได้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนเป็นการถาวรและจ่ายค่าเยียวยาให้แก่ชาวบ้านกว่า 6000ครอบครัว ครอบครัวละ 310,000 โดยเร็ว รวมทั้งยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ ซึ่งเป็นกรอบแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลที่ไม่ได้ผลเป็นรูปธรรมทั้งหมดและจัดตั้งคณะอำนวยการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลชุดใหม่ที่สามารถสานต่อการแก้ปัญหาได้ต่อเนื่องแม้เปลี่ยนรัฐบาล
ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย แกนนำพีมูฟ เปิดเผยภายหลัง ร่วมประชุมกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟ ว่า ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ร.ต.อ.เฉลิมเร่งดำเนินการแก้ปัญหา พร้อมแต่งตั้งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟด้วย
โดยร.ต.อ.เฉลิมรับปากนำ 4 ประเด็นหลัก เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 14 พ.ค. 56 ได้แก่ 1.การออกมติคุ้มครองชั่วคราวในพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการออกโฉนดชุมชน ซึ่งติดปัญหาการส่งมอบที่ดินจากหน่วยงานราชการ 2.การแก้ปัญหาผลกระทบเขื่อนปากมูล โดยจะขอให้ครม.ทบทวนยกเลิกมติครม.ในอดีตที่แก้ปัญหาเขื่อนปากมูลทั้งหมด และตั้งคณะกรรมการเฉพาะแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลโดยตรง
3.การสานต่อโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน ในพื้นที่ 5 ชุมชน ภาคเหนือ ซึ่งเกิดปัญหาชุมชนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเจ้าของที่ โดยติดปัญหาเรื่องการขาดงบประมาณซื้อที่ดินเนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันยังไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินได้ จึงจะแก้ปัญหาโดยการให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณจัดซื้อที่ดินและดำเนินโครงการแทนไปก่อนชั่วคราว และ4.การอนุญาตก่อสร้างบ้านมั่นคง โดยยกเว้นให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในโครงการฯได้รับข้อยกเว้นตามกฎกระทรวงมหาดไทยให้สร้างบ้านที่มีระยะห่างจากรั้วบ้านต่ำกว่า 2 เมตรได้ตามหลักเกณฑ์โครงการก่อสร้างของรัฐบาล
นายประยงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ยังกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน เพื่อเร่งรัดเรื่องดังกล่าวในวันที่ 20 พ.ค. 56 และกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาพีมูฟ เพื่อติดตามการทำงานของอนุกรรมการฯทั้ง 10 ชุด ในวันที่ 27 พ.ค. 56 และจะนำข้อยุติทั้งหมดเสนอครม.ต่อไปในวันที่ 28 พ.ค. 56
“เราจะชุมนุมต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 28 พ.ค. เพื่อดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการตามที่รับปากไว้ไหม” แกนนำพีมูฟกล่าว