“ธีรภาพ โลหิตกุล” บนเส้นทางสู่อาเซียน “ไม่ต้องเถียงกันว่าใครเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ”
“ธีรภาพ โลหิตกุล” เชื่อว่าชื่อนี้คงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักเขียนและช่างภาพ ผู้รอบรู้เรื่องราวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ด้วยผลงานหนังสือกว่า 42 เล่ม การจัดรายการวิทยุ และการเป็นวิทยากรรับเชิญไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ
ธีรภาพ โลหิตกุลเป็นผู้ได้รับ “รางวัลศรีบูรพา” ประจำปี พ.ศ.2556 นับเป็นคนที่ 25 นับแต่มีการมอบรางวัลนี้โดยกองทุนศรีบูรพา ซึ่งมีการจัดพิธีมอบรางวัลขึ้นพร้อมกับการจัดงาน “วันนักเขียน – 5 พฤษภา” เป็นประจำทุกปี ในปีนี้จัดขึ้นที่โรงแรมรอแยล (รัตนโกสินทร์) ถนนราชดำเนิน
ในโอกาสที่อาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมโดยมีสามเสาหลักคือ ประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม และประชาคมการเมืองและความมั่นคง “ธีรภาพ” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ได้กล่าวถึงมุมมองต่อเรื่องนี้ไว้ในการแสดงสุนทรกถาในพิธีมอบรางวัล
ธีรภาพเล่าว่า ”ปี 2532 งานเขียนสารคดีพาผมข้ามฟากสู่สื่อโทรทัศน์ เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ประเทศเพื่อนบ้านครั้งสำคัญ เมื่อได้ทำงานเขียนบทสารคดีโทรทัศน์ในรายการ “โลกสลับสี” ของบริษัทที่มี ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นผู้นำ เป็นผู้เริ่มนโยบายผลิตรายการสารคดีเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านให้คนไทยได้เรียนรู้เพื่อนบ้าน เป็นวิสัยทัศน์ที่เกิดขึ้น ก่อนที่คนไทยจะตื่นตัวเรื่องประชาคมอาเซียนมากกว่าสองทศวรรษ
งานที่โลกสลับสี ทำให้ผมพบความจริงว่า สงครามและความขัดแย้งในอดีต เป็นม่านมายาภาพที่บังตาคนไทย ทำให้เรามองไม่เห็นความจริงของประเทศเพื่อนบ้านที่มั่งคั่งทางอารยธรรม ร่ำรวยด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตที่เปี่ยมด้วยสีสันอันแตกต่างหลากหลาย แต่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
งานเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร งานจัดรายการวิทยุ และการเป็นวิทยากรให้ข้อมูลความรู้แก่นักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม งานเหล่านี้ทำให้ผมมีโอกาสเดินทางเข้าออกประเทศเพื่อนบ้านนับครั้งไม่ถ้วน ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปในดินแดนที่เพิ่งยุติสงคราม ได้พบว่าในท่ามกลางความบาดหมางอันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ด้านลบที่มีต่อกันในอดีต และความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันในปัญหาเขตแดนในปัจจุบัน ทั้งที่จริงแล้ว เรามีวัฒนธรรมอันงดงามร่วมกันหลายประการ มีสายสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติแบบที่เรียกว่า “กินน้ำร่วมห้วย กินกล้วยร่วมหวี กินปลีร่วมกาบ อาบน้ำร่วมวัง” เป็นอย่างนี้มานานชนิดที่ตัดขาดกันไม่ได้ ย้ายแผ่นดินหนีกันไม่ออก
ตราบจนกระทั่งวันนี้ เรากำลังจะสร้างอนาคตของภูมิภาคนี้ร่วมกันในนาม “ประชาคมอาเซียน”
ความเป็นจริงข้อนี้สำแดงให้ประจักษ์ในกิจกรรมสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีมานานแต่มักไม่เป็นข่าว หรือไม่ก็เป็นข่าวที่เล็กมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ความขัดแย้งในเชิงลบ อาทิ ในวาระครบรอบ 15 ปีที่เปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ชาวแม่สอดกับชาวเมียวดีได้ทำบุญร่วมกัน ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์และสามเณรไทยจากฝั่งแม่สอด และจากฝั่งเมียวดี ฝั่งละ 99 รูป มาทำพิธีทำบุญตักบาตรร่วมกันกลางสะพานมิตรภาพ เป็นความความสัมพันธ์ที่งดงามมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผมเคยเห็น แต่ถูกเผยแพร่ในพื้นที่สื่อน้อยที่สุด
หรือการแสดงรามายณะเฉลิมพระเกียรติ ที่กระทรวงวัฒนธรรมไทยจัดต่อเนื่องกันมาหลายปี ก็สะท้อนวัฒนธรรมร่วมที่มีมานานของชาวอาเซียน จนสามารถจัดแสดงนาฏศิลป์ที่มีเนื้อหาเดียวกันได้ แม้ว่าจะแต่งหน้า แต่งตัว สวมหัวโขนแตกต่างกัน ซึ่งวัฒนธรรมร่วมเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องถกเถียงเพื่อที่จะหาว่าใครเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ เพราะเราต่างรับมาจากต้นรากอารยธรรมอินเดียเหมือน ๆ กัน
ในงานสัมมนาหอการค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชาร่วมกับสภาหอการค้าไทย ได้จัดให้มีการแสดงวัฒนธรรมชุด “มงกวนจองได” หรือพิธีบายศรีสู่ขวัญด้วยการผูกด้ายมงคลที่ข้อมือ พบว่าทั้งนักแสดง นักดนตรี บางคนมาจากสุรินทร์ บางคนมาจากจังหวัดบันเจียงบันเจยฝั่งกัมพูชา สามารถร้องและบรรเลงเพลงเดียวกันได้แนบสนิท ไม่มีความแตกต่าง ยืนยันความเป็นจริงที่ว่า วิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมของผู้คนสองฟากฝั่งพรมแดนนั้น แท้ที่จริงอยู่เหนือพรมแดน หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่เคยมีพรมแดนใดมาขวางกั้น
ในความเห็นส่วนตัว ผมเห็นด้วยกับหลักการและจุดมุ่งหมายของประชาคมอาเซียน แต่ผมก็ไม่เคยคิดฝันว่าการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน จะนำมาซึ่งความมั่งคั่งรุ่งเรืองไพบูลย์ และความร่มเย็นเป็นสุขของประชาชาติอาเซียนได้ฉับพลันทันที หากแต่ได้ตระหนักว่า ระหว่างทางที่เราจะก้าวไปสู่การเป็นครอบครัวเดียวกันในนามประชาคมอาเซียน นั่นคือช่วงเวลาที่วิเศษที่สุด คือเวลานี้แหละ
ที่จะให้เราหันมาสนใจเรียนรู้ ดูแล และแบ่งปันซึ่งกันและกัน จากที่เราสนใจแต่เกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา ขยายพื้นที่ของความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลบมายาภาพหรือภาพลวงตาที่ทำให้เราบาดหมางกันมาในอดีต เปลี่ยนมาเป็นความรับรู้ร่วมกันว่า แท้ที่จริงเราเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย
ดังปรัชญาของการก่อตั้งประชาคมอาเซียนที่บอกว่า “Unity on Diversity”