ตามรอยปราชญ์เกษตรแผ่นดิน’56 ‘โชคดี-สุวิทย์’ พอเพียง-พึ่งตนเอง
แรกนาขวัญปีนี้ เป็นวาระยกย่อง 2 ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สำนักข่าวอิศราพาไปตามรอย ‘โชคดี ปรโลกานนท์ – สุวิทย์ ไตรโชค’ เพื่อค้นพบคำตอบที่เป็นไปได้และเคล็ดลับความสำเร็จของเกษตรไทย พ.ศ.นี้
โชคดี ปรโลกานนท์ : วิถีวนเกษตรเพื่อชีวิตพอเพียงที่เปี่ยมสุข
“ผมชอบการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อแม่เป็นชาวนาชาวไร่ เลยคิดว่าตัวตนของเราน่าจะเป็นเกษตรกร” ‘โชคดี ปรโลกานนท์’ หรือ ‘ลุงโชค’ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2556 และนักอนุรักษ์ผู้มีส่วนพลิกฟื้นพื้นที่สีเขียวบนเขาแผงม้า อ.วังน้ำเขียว กว่า 2 หมื่นไร่ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้หนุ่มชาวพัทลุงคนหนึ่งเลือกเรียนสาขาพืชไร่ที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และจบออกมาโดยไม่คิดทำอาชีพอื่นใดนอกจากมุ่งหน้าเป็นเกษตรกร
31 ปีก่อน ‘โชคดี’ บัณฑิตใหม่ พกความรู้ด้านเกษตรที่ร่ำเรียนมาเต็มอ้อมแขน ลงแรงทำไร่ข้าวโพด ที่อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา แต่ความรู้ในชั้นเรียนที่สอนให้รู้จักความสำเร็จในอาชีพเกษตรกรโดยวัดเพียงปริมาณผลผลิตและรายได้ที่ได้รับ ทำให้ 5ปีแรกในการปลูกข้าวโพดก็ต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า ‘ลุงโชค’ เล่าว่า ผลของการเร่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้ดินเสื่อมโทรม ยิ่งต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา เงินที่ได้มาก็ยังหมดไปกับการซื้ออาหารและดื่มเหล้าคลายเครียด ทำให้สุขภาพย่ำแย่ ไม่มีความสุขและไม่ร่ำรวยอย่างที่คิดฝัน
“ตอนนั้นเลยหันมาทบทวนตัวเองและปรับวิถีคิดใหม่ โดยพยายามหารูปแบบทางเกษตรที่มีเป้าหมายของชีวิต คือ ความสุข แทนตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ ปรากฏว่าไปตรงกับแนวคิดวนเกษตรของพ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม และตรงกับหลักการทรงงานของในหลวงที่ต้องพึ่งตนเอง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผมชอบมากๆ เราต้องพึ่งตนเองโดยเริ่มจากปัจจัยสี่ในการดำรงชีพให้ได้ก่อน ต้องมีอาหารกิน มียา มีที่อยู่อาศัย พอพิจารณาดูแล้วปัจจัยสี่ทั้งหลายก็มาจาก ‘ต้นไม้’ นั่นเอง”
และนั่นเป็นที่มาของ ‘สวนลุงโชค’ สวนวนเกษตรจากน้ำพักน้ำแรงกว่า 24 ปี บนพื้นที่ 100 ไร่ ที่เต็มไปด้วยความเขียวชะอุ่มของพันธุ์ไม้หลากชนิด ทั้งข้าว พืชผักพื้นบ้าน พืชสมุนไพร ไม้ใช้สอย ไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งแม้ไม่ได้ปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อขายโดยเฉพาะ แต่‘ลุงโชค’ บอกว่าวนเกษตรก็สามารถสร้างรายได้อย่างที่ใครคิดไม่ถึง
“การปลูกต้นไม้หลากหลายแบบวนเกษตรไม่ใช่ว่าจะไม่มีรายได้ ปีที่ 2 ของการทำวนเกษตรผมก็เริ่มมีรายได้จากการขายพันธุ์ต้นไม้ ขายผลิตภัณฑ์จากต้นไม้ เช่น ต้นไม้บางชนิดที่มีกลิ่นหอม อย่าง ใบเสน่ห์จันทร์หอม ตะไคร้ ใบมะกรูด ก็เอามากลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย หรือทำเป็น สเปรย์ไล่ยุง ขาย รายได้อีกส่วนที่หลายคนคิดไม่ถึงคือ การขายใบไม้ ใบไม้หลายชนิดมีรูปทรงแปลกๆ ก็ขายไปทำพวงหรีดงานศพได้ เพราะฉะนั้นใบไม้จึงเป็นที่ต้องการมาก รายได้จากวนเกษตรจึงเป็นการเปลี่ยนคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ให้กลายเป็นมูลค่าขึ้นมา”
เมื่อถามถึงปัญหาความยากจนของอาชีพเกษตรกรไทย ปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาเศรษฐกิจพอเพียงแสดงทัศนะว่า เพราะเกษตรกรยุคนี้ไม่ได้ใช้วิถีเกษตรในการดำรงชีวิต เกษตรกรเป็นคนสร้างอาหารแต่กลับไม่มีอาหารไว้กินเอง และต้องพึ่งพาทุกอย่างตามที่ระบบทุนผ่านกลไกของรัฐจัดหาไว้ให้ ทั้งปัจจัยการผลิต ของกินของใช้
“เกษตรมันไม่ใช่แค่อาชีพ แต่มันใหญ่กว่านั้น มันเป็นวัฒนธรรมและเป็นเรื่องของจิตวิญญาณแต่พอเรามองเกษตรเป็นแค่อาชีพ ไปเน้นแต่ตรงรายได้ แต่ไม่เคยคิดเรื่องรายจ่าย จึงสู้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องกลับไปใช้วิถีอย่างเดิม คือต้องพอเพียง และพึ่งตนเองให้ได้
ที่ผ่านมาประเทศไทยดีใจว่าเราขายข้าวได้เยอะที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่คนปลูกข้าวกลับจนที่สุดในประเทศ คนที่รวยคือพ่อค้าส่งออกกับรัฐมนตรีที่ขายข้าว แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ทำเท่าไหร่ภาคเกษตรก็กลายเป็นเพียงคนงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในระบบเกษตรพันธะสัญญาที่ไม่ได้เงินเดือนและสวัสดิการ”
แม้จะเข้าสู่วัย 57 ปี อันเป็นวัยที่สุกงอมทางความคิดและเป็นต้นแบบวิถีเกษตรพอเพียงให้ลูกหลานจำนวนไม่น้อย จนกระทั่งได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดินในปีนี้ แต่‘ลุงโชค’ กล่าวว่า แม้แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่า ‘ปราชญ์’ ก็ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้
“ผมคิดว่าเราต้องรู้ทันทุกมิติ คงไม่ใช่แค่ก้มหน้าก้มตาปลูกต้นไม้ต่อไป คงต้องเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกและสิ่งที่เราทำมันจะไปตอบโจทย์ได้อย่างไร คงต้องเรียนรู้ตลอดเวลา” ปราชญ์เกษตรผู้ไม่หยุดเรียนรู้กล่าวทิ้งท้าย
...การหมั่นเรียนรู้และทบทวนสิ่งที่ได้กระทำคงเป็นเคล็ดลับความสุขตามวิถีเกษตรในแบบฉบับของเขา ‘โชคดี ปรโลกานนท์’
สุวิทย์ ไตรโชค : ความสำเร็จปลูกเมล่อนคุณภาพรายได้ 3 ล้าน! จากการพัฒนาความรู้
“ตอนเด็กๆที่บ้านทำนา เวลาเราขายข้าว คนซื้อตั้งราคาให้ พอเราไปซื้อปุ๋ย คนขายก็ตั้งราคาให้ เลยรู้สึกว่าเกษตรกรเป็นกลุ่มคนที่แย่สุด จนสุด และไม่มีอำนาจต่อรองอะไร เลยคิดว่าวันหนึ่งผมจะกลับมาพัฒนาการเกษตร ทำให้เกษตรกรไทยมีฐานะดีขึ้นให้ได้” ‘สุวิทย์ ไตรโชค’ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่นปี 2556 หรือเกษตรกรเงินล้าน ผู้มีรายได้เฉลี่ยปีละ 3 ล้านบาท จากความสำเร็จในการปลูกเมล่อนคุณภาพสูงมากว่า 20 ปี บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ในจ.พระนครศรีอยุธยา เล่าถึงความคิดแรกเริ่มของการมุ่งสู่ภาคเกษตรตั้งแต่วัยเยาว์
‘สุวิทย์’ ในวัยหนุ่มก็ไม่ได้เลือกเรียนด้านเกษตร อย่างที่อยากจะประกอบอาชีพ ด้วยความเป็นคนเรียนดีเขาจึงเลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจบออกมาทำงานเป็นวิศวกรเต็มตัว เหตุผลที่เขาเลือกเรียนและทำงานที่ดูเหมือนห่างไกลอาชีพที่ใฝ่ฝันเป็นเพราะเขาต้องการทำงานที่ได้เงินดีเพื่อเก็บไว้ลุงทุนในภาคเกษตรต่อไป
ปี 2529 ‘สุวิทย์’ ซึ่งในเวลานั้นเป็นวิศวกรในบริษัทการบินไทย เริ่มใช้เวลาว่างจากงานช่วงเสาร์-อาทิตย์ปลูกเมล่อนเพราะเห็นว่าขายได้ราคาดี กระนั้น 5 ปีแรกของการลงทุนทำไร่ ‘สุวิทย์’ ก็ต้องล้มเหลว และขาดทุนต่อเนื่อง ...แต่เขาไม่เคยยอมแพ้
เวลาว่างจากงานประจำ คือเวลาที่‘สุวิทย์’ ใช้ศึกษาหาความรู้ เขาบินไปไกลถึงประเทศอิสราเอลเพื่อศึกษาระบบน้ำหยดที่ใช้ในแปลงพืช อ่านตำราด้านเกษตรและเข้าไปขอความรู้ทุกอย่างด้วยตนเองกับอาจารย์ด้านเกษตร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ‘สุวิทย์’นำความรู้ด้านวิศวกรรมที่ร่ำเรียนมาประยุกต์เข้ากับวิชาเกษตรจนสามารถพัฒนาระบบน้ำหยดที่ได้มาตรฐานและนำมาใช้เป็นเจ้าแรกในไทย ตลอดจนสามารถคิดสูตรการให้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับเมล่อนได้ด้วยตนเอง
เพียงปีเดียวหลังจากนั้น เกษตรกรมากความรู้รายนี้สามารถทำกำไรจากการปลูกเมล่อนได้เป็นกอบเป็นกำชนิดที่เรียกว่า คืนทุนที่เคยขาดทุนตลอด 5 ปีแรกได้ทั้งหมด!
หลังจากปี 2535 ‘สุวิทย์’ กลายเป็นต้นแบบและเป็นครูให้เกษตรกรที่สนใจปลูกเมล่อนอีกหลายราย เขาถ่ายทอดความรู้ให้หลายคนที่สนใจจนประสบความสำเร็จไปตามๆกัน ‘สุวิทย์’ ตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกเมล่อนคุณภาพขึ้น เพื่อรวมตัวกันวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อ ภายใต้แบรนด์สินค้า ‘ไทยเฟรช’ และ ‘นาวิต้า’ ที่วางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ และยังมีผู้ส่งออกมารับซื้อเมล่อนไปขายในหลายประเทศ โดยขายได้ราคาแพงที่สุดถึงลูกละ 1,000 บาท....ไม่แปลกที่ปัจจุบัน ‘สุวิทย์’และเพื่อนสมาชิกกว่า 20 รายจะมีรายได้รวมกันเหยียบปีละ 100 ล้าน
‘สุวิทย์’ เผยว่า เคล็ดลับเงินล้านไม่ได้อยู่ที่การเน้นผลิตเมล่อนในปริมาณมากเพื่อขายเอาเงิน แต่ต้องเน้นการปลูกให้ได้คุณภาพที่ควบคุมได้จากการใช้เทคโนโลยีระบบน้ำและระบบปุ๋ยที่เขาพัฒนาขึ้น ทำให้พืชได้น้ำและธาตุอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้นเมล่อนของเขาแต่ละต้นต้องควบคุมให้มีผลเพียงผลเดียว เพื่อให้ได้รสที่หวานอร่อยที่สุด
“ปัญหาของภาคเกษตรไทยคือ ผลิตแล้วตกสเปค ทั้งๆที่ผลผลิตทุกชนิดที่คุณภาพดีมีไม่พอขาย ตลาดต้องการของคุณภาพแต่ผลิตไม่พอ ส่วนผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานก็เกินความต้องการของตลาด ทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาต่ำมาก สุดท้ายคือขาดทุน และถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ไม่มีประกันราคาหรือจำนำผลผลิตก็แย่
จริงๆเกษตรกรไทยไม่ใช่ไม่เก่ง เมื่อเทียบกับเกษตรกรอาเซียน เกษตรกรไทยเก่งที่สุด แต่ยังขาดความรู้เรื่องระบบน้ำ และการใช้ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม เคล็ดลับที่จะทำให้เกษตรกรไทยมีเงินเป็นล้านและไม่เป็นหนี้ได้ จึงอยู่ที่ความรู้ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องพัฒนา”
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์เกษตรเงินล้าน และมีทรัพย์สินคือที่ดินอันเป็นผลกำไรจากการปลูกเมล่อนกว่า 400 ไร่ แต่ ‘สุวิทย์ ไตรโชค’ ก็ยังใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เขาใช้เงินวันหนึ่งไม่มากไปกว่าวันละ 200 บาท และยังคงวิถีชาวไร่ลงแปลงทุกวันเพื่อดูแลผลเมล่อนแต่ละต้นของตนอย่างทะนุถนอม
เคล็ดลับความสำเร็จอีกอย่างที่ปราชญ์เงินล้านผู้นี้อาจไม่ได้บอก คือ ความรักในวิถีเกษตรที่เรียบง่าย แม้จะร่ำรวยเพียงใดก็ยังมีใจเป็น ‘เกษตรกร’
……………………………………
แม้เส้นทางของ ‘โชคดี ปรโลกานนท์’ และ ‘สุวิทย์ ไตรโชค’ จะแตกต่างในแนวคิด แต่ปลายทางของปราชญ์เกษตรของแผ่นดินทั้งสองมุ่งสู่จุดเดียวกัน คือ ความปรารถนาและพร้อมจะผลักดันให้เกษตรกรและภาคเกษตรไทยมีความสุขในวิถีตนได้ด้วยการพึ่งพาตน
ที่มาภาพ :::
http://www.volunteerspirit.org/node/561
http://invention53.blogspot.com/2011/03/blog-post_29.html
http://www.dailynews.co.th/article/728/168637?page=4
http://www.redbullspirit.org/project/14/project-2-5-260.html
http://www.dailynews.co.th/agriculture/178282