วัดปรอทคนไทยในมาเลย์...ตั้งความหวังกับ "เจรจาดับไฟใต้"
ขณะที่ในประเทศไทยมีทั้งกระแส สนับสนุนให้เดินหน้า และ ถอยหลังเพื่อทบทวน กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับกลุ่มที่อ้างว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น น่าสนใจว่าคนไทยในมาเลเซียซึ่งอยู่ใกล้ชิดข้อมูลข่าวสารการพูดคุยสันติภาพ และจำนวนไม่น้อยเป็นคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้...พวกเขาคิดกันอย่างไร
"ทีมข่าวอิศรา" ได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของไทยรายหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ดูแลคนไทยในมาเลเซีย จึงได้สัมผัสและรับทราบความคิดความอ่าน ตลอดจนความรู้สึกของคนไทยในดินแดนเสือเหลืองแทบทุกกลุ่ม ทั้่งนักธุรกิจ ร้านต้มยำกุ้ง หรือคนขายแรงงาน เขาบอกว่าการเปิดประเด็นพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มคนที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556 และนัดพูดคุยอย่างเป็นทางการไปแล้ว 2 ครั้งนั้น สร้างความหวังให้กับคนไทยในมาเลเซียอย่างมาก
"ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหันหน้าคุยกัน คือเจรจากัน แต่อยู่ที่ว่าจะเจรจาในรูปแบบไหน หากมองแบบบางประเทศเขาจะไม่คุยกับศัตรู แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วมันก็ต้องคุยกันอยู่ดี ผมคิดว่ามันอยู่จุดที่ว่าไม่มีหนทางไหนแล้วที่จะแก้ไขปัญหานอกจากคุยกัน เพราะทุกคนล้วนต้องการสันติภาพ สันติวิธี แต่เราจะใช้สันติวิธีรูปแบบไหนเพื่อให้เกิดความเข้าใจ"
"เมื่อมีการเปิดประเด็นเรื่องการพูดคุยเจรจา มีกระแสตอบรับที่ดีมากที่นี่ ทุกคนพอใจ ยินดีที่มีการพูดคุย เพราะทุกวันนี้เราไม่รู้ว่าอยู่ในสภาวะอะไร ทุกคนจึงอยากเห็นความสงบเกิดขึ้น เท่าที่คุยกับคนไทยในมาเลเซีย ทุกคนมีความหวัง แต่ก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องทำค่อยเป็นค่อยไป ส่วนนักวิชาการ (ในมาเลเซีย) บางคนยังไม่เข้าใจปัญหา บางคนก็อ้างถึงแต่ประวัติศาสตร์ และในหลายๆ บทความของมาเลเซียได้แสดงความเห็นในลักษณะตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มก่อความไม่สงบมีหลายกลุ่ม การไปเจรจาแค่กลุ่มเดียวคงไม่ได้ และรู้สึกแปลกใจที่รัฐบาลไทยไม่เคยถามประชาชนในพื้นที่เลยว่าเขาต้องการหรือเปล่า หรือต้องการอะไรกันแน่"
"เท่าที่ผมได้พูดคุยด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มต้มยำกุ้ง หรือกลุ่มคนสามจังหวัดที่ไปทำการค้า กระแสส่วนใหญ่ตอบรับในทางที่ดี ทุกต้องการให้สงบ เพราะอยู่มาเลเซียก็ลำบาก ต้องมาหาโอกาสที่นี่ หากบ้านเราสร้างงานให้เขาได้ก็ไม่มีใครอยากมา ระหว่างค่าแรงที่ได้แต่ค่าครองชีพสูง กับการต้องจากครอบครัว ผมว่าคนเหล่านี้เลือกที่จะอยู่ในประเทศไทยมากกว่า ที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือคนเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหาแบ่งแยกดินแดน แต่กลับต้องพลอยเดือดร้อนไปด้วยจากการถูกมองแบบผิดๆ"
อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ยังคงดำรงอยู่ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงรายนี้บอกว่า จริงๆ แล้วต้องตั้งประเด็นปัญหาขึ้นมาก่อน ไม่ใช่ไปมองที่อาการ ขณะนี้เรากำลังสับสนว่าทำไมต้องย้อนกลับเหมือนเดิม แต่ไม่มีการยกประเด็นพูดคุยกันว่าปัญหาภาคใต้ที่แท้จริงมันคืออะไร ปัญหามันมาจากความยากจน จากนโยบายของรัฐ จากเศรษฐกิจ หรือปัญหาศาสนา? ซึ่งเมื่อหลายๆ ฝ่ายมาคุยกันก็ยังมองปัญหาคนละแบบ ขณะที่เราพยายามจะแก้ปัญหา แต่อาการที่เกิดขึ้นคือทำไมยังมีการฆ่ารายวัน ทำไมยังมีเหตุระเบิด กลุ่มก่อความไม่สงบไม่พอใจรัฐบาลเรื่องอะไร หรือเป็นเพราะผิดพลาดที่นโยบาย
"ส่วนตัวเห็นด้วยกับการเจรจา อย่างน้อยก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะได้รู้ว่าเขาคิดอย่างไร แต่ที่ผ่านมาเหมือนเขาไม่พอใจ แล้วไม่พอใจใคร ใครอยู่เบื้องหลัง เราไม่รู้เลย ขั้นแรกอาจอยู่ในช่วงของการสร้างความไว้วางใจ ผมคิดว่าการพูดคุยใช่จะสำเร็จในวันสองวัน แต่ที่น่าแปลกคือกลุ่มคนที่ก่อเหตุรุนแรงไม่อ้างความรับผิดชอบ จริงๆ ก็มีหนทางหลายหนทางที่จะแก้ไขปัญหา เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน เพียงแต่ว่าขณะนี้อาจจะมีความไม่เข้าใจกัน ฉะนั้นการพูดคุยก็เป็นเรื่องที่ดี แต่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่ชื่นชมยินดีด้วยหรือเปล่าคงต้องใช้เวลา"
ส่วนบทบาทของมาเลเซียที่ยื่นมือเข้ามาเป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" ในการพูดคุยสันติภาพนั้น ตัวแทนรัฐบาลไทยในมาเลเซียรายนี้มองว่า รัฐบาลของมาเลเซียโดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีก็อยากได้ความนิยมมากขึ้น จึงผลักดันเรื่องนี้อย่างมาก
"ผมมองในภาพใหญ่คือเพื่อต้องการชนะเลือกตั้งและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับคนมุสลิม เพราะนายกรัฐมนตรีท่านนี้ (นาจิบ ราซัก) ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งมา แต่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหลังจากท่านอับดุลเลาะห์ (นายอับดุลเลาะห์ อะหมัด บาดาวี อดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้า) ถูกกดดันจนต้องลาออก เพราะไปแพ้เลือกตั้ง (ชนะในสัดส่วนที่น้อยลง) กระทั่งท่านนาจิบขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคแทน ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ (วันที่ 5 พ.ค.) ท่านนาจิบจึงต้องการคะแนนจากระบบเขต ซึ่งเป็นเสียงของประชาชนที่แท้จริงให้มากที่สุด ถ้าท่านชนะเลือกตั้งได้ ก็จะทำให้ท่านมั่นใจ และพูดได้เต็มปากว่าได้รับการสนึบสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างแท้จริง"
"เมื่อปีที่ผ่านมาท่านนาจิบก็ไปทำฮัจญ์ที่ซาอุดิอาระเบีย ในโลกอิสลามถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าท่านนายกฯนาจิบสนใจและมีแนวคิดเรื่องอิสลาม กรณีดับไฟของพี่น้องมุสลิมที่อยู่ทางใต้ของประเทศไทย (ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับประชาชนมาเลเซียในรัฐทางตอนเหนือของประเทศ) เมื่อท่านให้ความใกล้ชิด ก็จะสามารถสร้างความนิยมให้กับท่านได้ ขณะที่ก่อนหน้านี้ท่านก็ไปช่วยคนฟิลิปปินส์ (กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ กับกลุ่มอิสลามโมโร) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั่นเอง ยังต้องใช้เวลาอีกนาน จากนั้นก็กลับมาช่วยประเทศไทย ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของท่านยิ่งดีขึ้น แต่จะช่วยสร้างความนิยมทางการเมืองได้มากขึ้นจริงหรือเปล่า จุดนี้คงต้องติดตามกันต่อไป"
โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ค.!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : "ร้านต้มยำกุ้ง" ธุรกิจของคนไทยโดยเฉพาะคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เฟื่องฟูอย่างมากในมาเลเซีย
ขอบคุณ : ภาพโดย จรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัลจากเครือเนชั่น