ทีมไทยแลนด์ถอนตัวชิงโครงการน้ำ เหลือ 4 บ.เข้ายื่นซอง คาดเสร็จสิ้นปลาย มิ.ย.
กบอ.เปิดรับเอกสารทางเทคนิคและราคา โครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน เหลือ 4 บริษัทชิงเค้กแบ่งโครงการ เอกชนหวัง รบ.ช่วยบังคับใช้กม. ลดความเสี่ยงเวนคืนที่ดิน-ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
วันที่ 3 พฤษภาคม คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดรับซองเอกสารข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา ชั้น Definitive Design โครงการออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งงยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ ณ ตึก สอบช. ทำเนียบรัฐบาล โดยรับเอกสารข้อเสนอจาก 6 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกได้แก่ บริษัท ITD – Powerchina, บริษัท K – Water, บริษัท Summit SUT, บริษัท Loxley และกิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ ขณะที่บริษัทญี่ปุ่น-ไทย ได้ถอนตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งได้เปิดให้ยื่นเอกสารข้อเสนอตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 14.00 น.
นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (ไอทีดี) กล่าวว่า มั่นใจว่าได้ออกแบบระบบอย่างดีที่สุดมาบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยคาดหวังว่ารัฐบาลจะช่วยอำนวยความสะดวกในขั้นตอนต่างๆ ที่อาจทำให้โครงการล่าช้าไป เนื่องจาก มีหลายส่วนที่รัฐบาลผลักความเสี่ยงให้ผู้รับจ้าง เมื่อมีใครตั้งข้อสังเกต ก็มาใส่เพิ่มในทีโออาร์ โดยเฉพาะ เรื่องการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการเวนคืนที่ดิน คาดหวังว่าภาครัฐจะช่วยในการบังคับใช้กฎหมาย ต้องเริ่ม พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินฯ ให้เสร็จตามกำหนดเวลา และเริ่มการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"เข้าใจในส่วนมวลชนที่ต่อต้าน เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่เชื่อมั่นว่าสามารถบริหารจัดการได้ หากหวั่นในข้อคำถามทั้งหมดก็จะไม่สามารถก่อสร้างหรือทำโครงการใดๆ ได้เลย ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะไม่มีอะไรพิศดาร" นายสุเมธ กล่าว และว่า แม้ว่าจะมีบางบริษัทถอดใจไปบ้างแล้ว แต่ทางบริษัทเชื่อว่าจะสามารถทำได้ หากภาครัฐทำหน้าที่ให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกรอบเวลา ผู้รับจ้างก็สามารถทำหน้าที่ได้ทันตามกำหนด
"งบ 3.5 แสนล้านบาท ในการวางระบบบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ ถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศจีนที่มีการลงทุนสูงกว่านี้"
ด้านนายมณฑล ภานุโภคิน กรรมการผู้จัดการ เค.วอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า คาดหวังว่ารัฐบาลจะอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการให้ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย เชื่อมั่นว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ แม้จะมีเสียงห่วงกังวล ตั้งข้อสังเกต แต่ก็เป็นเพียงการคาดเดาล่วงหน้าเท่านั้น
"ผมเชื่อว่าโครงการนี้พิเศษ รัฐบาลจะมีการเตรียมวิธีการที่ดีไว้รองรับ มีการบังคับใช้กกฎหมาย ขณะที่การเวนคืนที่ดินก็ไม่ห่วง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่ก็หนักใจอยู่บ้าง จึงหาทางออกที่ดีที่สุดที่จะลดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม และจากนี้เมื่อทราบว่าได้โมดูลหรือโครงการใด จึงจะจัดทำ detail design เพพิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีื่อลงรายละเอียดการก่อสร้างอีกครั้ง"
ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเปิดรับซองถึงการพิจารณาหลังจากนี้ว่า จะมีคณะอนุกรรมการจากกระทรวง ทบวง กรม ทั้งด้านน้ำ เทคโนโลยีและอาจารย์มหาวิทยาลัย จำนวน 50 ท่าน มาให้ความเห็นประกอบการพิจารณา และมีอนุกรรมการตรวจคุณภาพดูแลเอกสาร โดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์
ส่วนเกณฑ์การให้คะแนนมี 3 ส่วน ได้แก่ 1.แนวคิดในการทำงาน 20% 2.เทคนิคในการก่อสร้าง 60% 3.ประสบการณ์ 20% รวม 100% หากบริษัทใดได้คะแนนเกิน 80% จะได้รับการพิจารณาด้านราคาต่อไป แต่หากบริษัทใดได้คะแนนไม่เกิน 80% จะไม่ได้รับการพิจารณา จากนั้นคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคา ยึดราคามาตรฐานของกระทรวงการคลังเป็นหลัก ซึ่งทุกบริษัทรับทราบดี จึงไม่มีการแข่งกันเรื่องราคา แต่เป็นการแข่งเรื่องประสิทธิภาพตามราคาที่วางกรอบไว้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาหลายวัน คาดว่ากระบวนการเจรจาจะเสร็จสิ้นได้ข้อสรุปต้นเดือนมิถุนายน และนำเสนอต่อ คณะกรรมการ กบอ.และครม.เพื่อทำเรื่องกู้เงิน จากนั้นจะนำรายละเอียดและเทคนิคไปร่างหนังสือสัญญา และเซ็นสัญญากับบริษัทต่อไป โดยที่การเซ็นสัญญาอาจเกินช่วงเดือนมิถุนายนได้
'สุพจน์' แจงใช้ระบบโอดี กู้ทิ้งรอได้ ไม่คิดดอกเบี้ย-ค่ารักษาเงิน
ขณะที่ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบาย และบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวว่า เมื่อพิจารณาแผนแม่บทเบื้องต้น พบว่า แต่ละบริษัทมีข้อมูลใกล้เคียงกัน จึงไม่น่ามีปัญหาในการตกลงราคา ในส่วนกรอบงบประมาณ จากวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ตามเป็นเงินกู้ตาม พ.ร.บ.เงินกู้ฯ แต่ขณะนี้การใช้เงินเบื้องต้น ถูกใช้ในการพัฒนาโครงสร้างระยะยาวของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) 1 หมื่นล้านบาท จึงเหลือสำหรับขั้นตอนนี้ 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งใช้ไปบ้างแล้วในการขุดลอก เมื่อปี 2555 สำหรับแม่น้ำสายหลัก และให้กระทรวงคมนาคม 2.4 หมื่นล้านบาท ทำพื้นที่ปิดล้อมตะวันออกตะวันตก ตั้งแต่คลองพระยาบรรลือ เขื่อนพระรามหก แม่น้ำป่าสักทั้งสองฝั่ง ซึ่งเป็นการปิดล้อมใหญ่ป้องกันน้ำท่วมนิคมอุตสหกรรมและพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ ฉะนั้น รวมแล้วจะเหลืองบในส่วนนี้ประมาณ 3.01 แสนล้านบาท
สำหรับการกู้เงิน นายสุพจน์ กล่าวว่า จะกู้เงินภายในประเทศ อาจจะเป็นธนาคารออมสิน ในสินเชื่อ OD (OVER DRAFT) ที่เป็นเครดิตจากทางธนาคาร กรณีฝากไว้ไม่เบิกออกมาทางธนาคารจะไม่คิดดอกเบี้ย ต่างกับแบบอื่นที่ต้องเสียดอกเบี้ยและค่ารักษาเงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เมื่อครบกำหนดเวลามีเพียง 4 บริษัทที่เข้ายื่นเอกสาร ข้อเสนอด้านเทคนิคและราคา ทั้ง 9 โมดูล ที่เป็นฉบับจริงและสำเนาเอกสารจำนวน 25 ชุด โดยที่
1.ITD – Powerchina ยื่น 9 โมดูล ส่งเอกสารต้นฉบับ 63 กลอ่ง สำเนา 1,350 กล่อง รวม 1,413 กล่อง ในวงเงิน 291,000 ล้านบาท เงินประกันซอง 14,550 ล้านบาท
2. K – Water ยื่น 9 โมดูล ส่งเอกสารต้นฉบับ 27 กล่อง สำเนา 450 กล่อง รวม 477 กล่อง ในวงเงิน 291,000 ล้านบาท เงินประกันซอง 14,550 ล้านบาท
3. Summit SUT ยื่น 1 โมดูล (บี 2) ส่งเอกสารต้นฉบับ 8 กล่อง สำเนา 175 กล่อง รวม 183 กล่อง ในวงเงิน 14,000 ล้านบาท เงินประกันซอง 910 > 700 ล้านบาท
4. Loxley ยื่น 1 โมดูล (เอ 6) ส่งเอกสารต้นฉบับ 7 กล่อง สำเนา 99 กล่อง รวม 106 กล่อง ในวงเงิน 4,000 ล้านบาท เงินประกันซอง 200 ล้านบาท
"ทีมไทยแลนด์" ถอนตัว!! ชิงโครงการน้ำ ลั่นวงเงินไม่พอ
ขณะที่ กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ ส่งเอกสารขอถอนตัวจากการนำเสนอโครงการ โดยให้เหตุผลว่า
"ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการสำรวจ ศึกษา และเตรียมข้อเสนอ แต่จากการศึกษา พบว่า ไม่สามารถดำเนินงานภายในวงเงินที่กำหนดได้ จึงไม่สามารถยื่นข้อเสนอในโมดูล เอ 3 และ โมดูล เอ 6 & บี4 ได้" ทำให้เหลือเพียง 4 กลุ่มบริษัทเท่านั้น ที่เข้ายื่นข้อเสนอและได้รับการพิจารณาต่อ
โดยเอกสารต้นฉบับและซองราคาทั้งหมดถูกเก็บไว้ที่ตึก สอบช.ในส่วนสำเนาทั้งหมดเก็บไว้ที่ตึก 11 (โรงยิม) ภายในทำเนียบรัฐบาล