ม็อบบางสะพานบุกสถานทูตญี่ปุ่น-อุตฯ-ผังเมือง ค้านนิคมฯเหล็ก ในพื้นที่ชุ่มน้ำ
ชาวประมง เกษตร จากบางสะพาน ประจวบฯ ม็อบค้านนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมทุนสหวิริยาในพื้นที่ชุ่มน้ำ เบรกอุตฯ อย่าขยายสวนอุตสาหกรรมทับป่าสงวนฯ วอนผังเมืองใหม่เลิกพื้นที่สีม่วงเปลี่ยนเป็นสีเขียว
วันที่ 2 พ.ค.56 ช่วงเช้า ชาวประมง เกษตรกร และผู้ประกอบการท่องเที่ยวขนาดย่อมประมาณ 120 คนจาก อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เดินทางมาชุมนุมหน้าสถานฑูตญี่ปุ่น ถ.วิทยุ เพื่อทวงถามความตระหนักของนักลงทุนญี่ปุ่นในการลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างบริษัท JFE Steel บริษัท Marubeni-Itochu Steel Inc.(MISI) บริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี และบริษัทเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย เพื่อขยายอุตสาหกรรมเหล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีเจ้าหน้าที่ทูตสายเศรษฐกิจลงมารับข้อร้องเรียนจากชาวบ้านว่าจะนำข้อมูลไปให้นักลงทุนญี่ปุ่นพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุนดังกล่าว
“ก่อนจะเดินหน้าลงทุน มีปัญหาที่ JFE และ MISI ต้องรับรู้ การรุกที่ป่าสงวน การทำลายธรรมชาติ และ EIA ที่ยังไม่ผ่าน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความขัดแย้งบานปลายขึ้น” นางจินตนา แก้วขาว ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บางสะพาน กล่าว
ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุม เปิดเผยข้อมูลว่าปัจจุบันบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี(SSI)จำกัด(มหาชน) เจ้าของโรงรีดเหล็กใน อ.บางสะพาน ถูกกรมที่ดินดำเนินคดีฐานครอบครองเอกสารสิทธิ์ผิดกฎหมายในเขตป่าสงวนแห่งชาติพรุแม่รำพึง และถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิแล้ว 52 แปลง และยังมีปัญหาครอบครองที่ดินสาธารณะประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันถูกองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สั่งให้เช่าพื้นที่เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
กลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าการขยายอุตสาหกรรมเหล็กจะทำลายเศรษฐกิจชุมชนในภาคเกษตร ประมงและท่องเที่ยว ซึ่งกำหนดเป็นเศรษฐกิจสามขาในแผนพัฒนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และห่วงว่าจะถูกคุกคามในสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เนื่องจากแผนขยายอุตสาหกรรมเหล็กประกอบด้วยโรงถลุงแร่เหล็กและโรงงานอีกหลายชนิดที่ก่อให้เกิดมลพิษสูง ทั้งนี้ อ.บางสะพานเป็นพื้นที่วางไข่ของปลาทูในอ่าวไทย และมีป่าสงวนแห่งชาติพรุแม่รำพึง ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ เมื่อ พ.ศ. 2009 นอกจากนี้ยังมีธุรกิจสวนมะพร้าวอินทรีย์ 1 ใน 2 แห่งของโลก และส่งออกผลิตภัณฑ์แก่สหภาพยุโรป
ล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ยกเลิกการลงนามเบื้องต้นที่จะร่วมทุนกับ SSI เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเหล็กใน อ.บางสะพาน ส่วนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ของโรงถลุงเหล็กยังไม่ผ่านคณะผู้ชำนาญการของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) โดยคณะผู้ชำนาญการตั้งคำถามกว่า 100 ข้อเนื่องจากไม่มั่นใจว่าการสร้างโรงถลุงเหล็กจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน
ในช่วงบ่าย กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางไปที่กระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากได้รับข้อมูลว่าแม้จะไม่มีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเหล็ก แต่จะมีการดำเนินการขอเปิดเขตประกอบการอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม หรือชุมชนอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการขยายอุตสาหกรรมเหล็กทับพื้นที่ป่าสงวนเช่นเดิม โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและอธิบดีกรมโรงงานออกมารับเรื่องร้องเรียนและให้ความมั่นใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่ายังไม่มีหลักเกณฑ์และรายละเอียดในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางไปที่สำนักโยธาและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้มีการปรับผังเมืองใหม่ให้อำเภอบางสะพานเป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งเหมาะกับสภาพแวดล้อมจริง
“พื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นพื้นที่สีม่วงตั้งแต่ปี 2546 ทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมต่างๆที่ก่อมลพิษให้ชาวบ้านอย่างหนัก และบางส่วนไปตั้งลุกล้ำที่ทำกินชุมชน แต่ปัจจุบันกำลังมีการจัดทำผังเมืองใหม่ เราจึงขอให้บางสะพานเป็นพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมกับเกษตรกรรม เหมาะสมกับชุมชน ปลอดอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษ”
นางจินตนา กล่าว ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางกลับ และจะขอติดตามความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าวต่อไป .
ที่มาภาพ : http://bit.ly/18tuQT9