สมัชชาปฏิรูปฯ ชูแก้บริหารจัดการน้ำ-คอร์รัปชั่น-พลังงานหมุนเวียน
(2 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ) สมัชชาปฏิรูปประเทศไทย จัดแถลงข่าวงานสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2556 “พลังพลเมือง ปฏิรูปประเทศไทย” และ “39 วัน ปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีการแถลงข้อเสนอประเด็นนโยบายสาธารณะ เพื่อกำหนดเป็นร่างระเบียบวาระสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 จำนวน 7 ระเบียบวาระ คือ
1.ธรรมนูญเพื่อการจัดการตนเอง 2.เพิ่มพลังพลเมืองปฏิรูประบบป้องกันและปราบปรามการทุจริต 3.การปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียน: สิทธิ การเข้าถึง และความเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน 4.พลังพลเมืองปฏิรูปสื่อเพื่อการปฏิรูปสังคม 5.ปฏิรูปกลไกขับเคลื่อนความเสมอภาคระหว่างเพศ 6.การบริหารจัดการน้ำและแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ และ 7.กลไกและกระบวนการในการปฏิรูปประเทศไทยระยะยาว
ศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น การบริหารจัดการน้ำและแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ กล่าวถึงแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของรัฐบาล ว่า เป็นการแก้ปัญหาจุดบกพร่องในการรับมืออุทกภัยเมื่อปี 2554 นั่นคือ "จุดอ่อน" เนื่องจากองค์กรที่มีหน้าที่บริหารจัดการน้ำ อยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่ประสานกัน ตามแผนแม่บทฯนี้จะทำให้มีหน่วยงานบริหารจัดการน้ำอย่างเบ็ดเสร็จ มีอำนาจรวมอยู่ในองค์กรเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นอกจากกลไกของรัฐแล้ว ภาคชุมชนก็มีบทบาทสำคัญในการรับมือน้ำท่วมด้วยตัวเอง ด้วยการใช้องค์ความรู้เชิงนิเวศของท้องถิ่น จึงอยากให้แผ่นแม่บทฯ เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของสาธารณะให้มากขึ้น ควรให้เป็นงานร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคม
"เท่าที่เห็นคณะกรรมการลุ่มน้ำต่าง ๆ ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ยังไม่เห็นมีบทบาทอะไรตามแผ่นแม่บทนี้ของรัฐบาลเลย จึง อยากให้การตัดสินใจแก้ปัญหาครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการสร้างตัดสินใจสร้างความเสียหาย โครงการต่าง ๆ ถ้าทำได้ไม่ดี จะกลายเป็นถาวรวัตถุที่สิ้นเปลือง และไม่มีประโยชน์ พร้อมกันนี้ คณะทำงานฯ อยากให้มีการเปิดพื้นที่เพื่อการถกเถียงกันมากกว่านี้ และความร่วมมือของทุกภาคส่วนร่วมกัน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงร่วมกันในอนาคต” ศ.ดร.สุริชัย กล่าว
ด้านดร.เดชรัต สุขกำเนิด ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการปฏิรูประบบพลังงานหมุนเวียน กล่าวข้อเสนอให้ทำฐานข้อมูลพลังงานหมุนเวียนระดับท้องถิ่นจนถึงระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ จัดทำกระบวนการวางแผนพลังงานระดับชุมชน ปัจจุบันมีจังหวัดกระบี่ และชุมพร ที่ได้วางแผนพลังงานหมุนเวียนภายในจังหวัดตัวเองแล้ว มีศักยภาพที่จะพึ่งตนเองด้วยพลังงานหมุนเวียนได้ 100% ในอีก 5-6 ปี และที่สำคัญต้องมีกองทุนพลังงานหมุนเวียน
"ที่เราขอเสนอให้มีกองทุนในระดับจังหวัด และเพื่อความยั่งยืนในเชิงระบบควรจะต้องมีพระราชบัญญัติสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนด้วย"
ส่วนนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กล่าวถึงความจำเป็นของการปฏิรูปกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตว่า ปัจจุบัน งบ แผ่นดินในแต่ละปี ราว 30% จะถูกคอร์รัปชั่นไป ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คนรวยยิ่งรวย จนยิ่งจน ช่องว่างห่าง เกิดความไม่เป็นธรรมตามมา เสี่ยงต่อการนำไปสู่ความรุนแรง
"ปัญหาคอร์รัปชั่นไทยตอนนี้ยังรุนแรง ส่วนหนึ่งเพราะจิตสำนึกเรื่องคุณธรรมที่ถูกต้องของคนในสังคมอ่อนแอลงมาก พลังของเครือข่ายคอร์รัปชั่นเบ่งบาน มีอยู่ในทุกกลไกของการใช้งบประมาณ ด้านกลไกกระบวนการยุติธรรม มีข้อจำกัด เกิดความล่าช้า ทำให้คดีคอร์รัปชั่นพอกหางหมู ถ้าใช้ระบบเดิม ไม่มีทางจัดการได้หมด"
นพ.พลเดช กล่าวถึงพลังของพลเมืองทั่วไปในสังคม หรือพลังเงียบ จะเป็นพลังขับเคลื่อนการปฏิรูปที่จะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ดีที่สุด ด้วยกระบวนการเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำมาทำความเข้าใจ และตรวจสอบร่วมกัน
ท้ั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2556 นั้น จะจัดขึ้นในวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย. 2556 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา โดยมีระเบียบวาระตาม 7 วาระข้างต้น.