“รถเมล์ฟรี” เปลี่ยน นโยบาย “ฉีกตั๋ว” แทน “ติ๊ก” จำนวนคน-หวั่นเงินรั่วไหล
หวั่นถูกครหาเงินรั่วไหล!! ขสมก.เปลี่ยนนโยบายตรวจสอบข้อมูล "รถเมล์ฟรี" จากแค่ "ติ๊ก"จำนวนคน เป็น "ฉีกตั๋ว" ให้แทน ขณะที่การเปิดรับสมัครพนักงานเก็บค่าโดยสาร ทำท่าไปไม่รอด มีคนสมัครไม่ถึง 1% จากจำนวนที่เปิดรับ 400 อัตรา
หลังถูกทักท้วง เรื่องความโปร่งใส เกี่ยวกับเม็ดเงินรายได้ ที่ใช้ไปในโครงการรถเมล์ฟรี เพื่อประชาชน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้เปลี่ยนรูปแบบการตรวจสอบข้อมูลจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการ จากเดิมที่ใช้วิธีการบันทึกจำนวนผู้โดยสารในแต่ละเที่ยว เพื่อคำนวณเป็นยอดเงินที่จะต้องเบิกจ่ายจากรัฐบาล มาเป็นการ "ฉีกตั๋ว" ให้ผู้โดยสาร เหมือนการให้บริการรถเมล์ปกติ
แต่ในขั้นตอนการดำเนินการดูเหมือนจะเกิดปัญหาต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขาดแคลนพนักงานเก็บค่าโดยสาร ที่จะมารับผิดชอบงานส่วนนี้ เพราะหลังจากที่ ขสมก. เปิดรับสมัครพนักงานใหม่ จำนวนกว่า 400 อัตรา มาหลายเดือน แต่ปรากฏว่ามีผู้มาสมัครไม่ถึง 1%
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556 นายนเรศ บุญเปี่ยม รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ ขสมก. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ผลจากการที่โครงการรถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน ถูกทักท้วงจากหลายหน่วยงานเกี่ยวกับความถูกต้องในการบันทึกข้อมูลจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการโดยสารแต่ละเที่ยวการเดินรถเพื่อคำนวณเป็นยอดเงินที่จะต้องเบิกจ่ายจากรัฐบาล
นายนเรศ กล่าวว่า ขสมก. จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลใหม่ จากเดิมที่ใช้วิธีการให้พนักงานเก็บค่าโดยสาร หรือพนักงานขับรถบันทึกข้อมูลจำนวนประชาชนที่มาใช้บริการ ในเอกสาร มาเป็นการ "ฉีกตั๋ว" รถเมล์ให้แทน เพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลมีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาการรั่วไหลของเงินงบประมาณ ที่รัฐบาลต้องเสียไปในแต่ละปี จากการดำเนินโครงการนี้
นายนเรศ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่ ขสมก. เปลี่ยนนโยบายการตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการรถเมล์ฟรีใหม่ ทำให้ต้องเปิดรับสมัครพนักงานเก็บค่าโดยสารเพิ่มขึ้น
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ขสมก.ได้ทยอยปรับลดจำนวนพนักงานเก็บค่าโดยสารลงไป เพื่อรองรับการใช้งานรถใหม่จำนวน 3,000 กว่าคัน ที่มีการติดตั้งระบบการขายตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ระบบ อี-ทิกเก็ต มาใช้แทนคน ซึ่ง ขสมก.อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดการจัดซื้อ หลังจากที่ ครม. มีมติอนุมัติให้ดำเนินการเรื่องนี้เรียบร้อยแล้ว
“ พนักงานเก็บค่าโดยสาร ที่จะรับเข้ามาใหม่ มีระยะเวลาการว่าจ้างสั้นแค่ 2 ปี กำหนดค่าแรงให้ไม่ต่ำกว่า วันละ 300 บาท ตามนโยบายปรับเพิ่มอัตราค่าแรงของรัฐบาล เราเปิดรับมาหลายเดือนแล้ว แต่ปรากฏว่า มีผู้แจ้งความประสงค์สมัครงานในตำแหน่งนี้น้อยมาก ประกาศรับสมัคร ไปจำนวน 400 กว่าคน แต่มาสมัครจริงไม่ถึง 1% ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมถึงไม่มีคนมาสมัครกันน้อยแบบนี้ ทั้งที่ เราก็ให้เงินเดือนค่าตอบแทน สวัสดิการที่ดี รายได้ขั้นต่ำต่อวันเกิน 300 บาท แน่นอน”
รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ ขสมก. กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้คนมาสมัครงานในตำแหน่งพนักงานเก็บค่าโดยสารมีน้อย อาจเป็นเพราะ ขสมก. กำหนดสัญญาว่าจ้างไว้ จำนวนแค่ 2 ปีเท่านั้น จึงทำให้คนไม่สนใจที่จะเข้ามาทำงานนี้มากนัก แต่ทาง ขสมก. ก็ไม่สามารถที่จะขยายระยะเวลาว่าจ้างเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากมีนโยบายที่ปรับลดจำนวนพนักงานเก็บค่าโดยสารลง หลังการจัดซื้อรถใหม่มาใช้งาน
“ผลจากการที่มีคนมาสมัครงานน้อย ทำให้การบริการ รถเมล์ฟรี บางสาย อาจจะมีปัญหาบ้าง ต้องใช้พนักงานขับรถเป็นดำเนินการแทน แต่ ขสมก.ก็จะพยายามหาทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้การบริหารประชาชนเป็นไปด้วยความสะดวกสบายมากที่สุด และการให้บริการรถเมล์ฟรี 800 เที่ยวต่อวัน มีครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ยังหวังว่า จะมีคนสนใจเข้ามาสมัครงานในตำแหน่งพนักงานเก็บค่าโดยสารกันมากขึ้นนับจากนี้” รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ ขสมก. ระบุ
------------
อ่านเรื่องประกอบ : เปิดกรุคดีโกงเงิน "รถเมล์" พนักงานขายตั๋วเกินจริง 7 บาท เจอคุก 2 ปี
หมายเหตุ: รูปประกอบจาก ไทยรัฐออนไลน์