มติเหล่าทัพไม่รับเงื่อนไขบีอาร์เอ็น สถิติป่วนใต้ เม.ย.พุ่งขึ้นอีก
มติเหล่าทัพไม่รับเงื่อนไข 5 ข้อบีอาร์เอ็น หวั่นยกระดับป่วนใต้ ปล่อยนักโทษทั้งหมดขัดกฎหมายไทย รัฐมนตรีกลาโหมย้ำบ้านเมืองมีขื่อมีแป จี้ สมช.ปรับแนวทางเจรจาต่อ เตรียมนำมติเสนอนายกฯ ลั่นต้องฟังความเห็นทหาร "ยุทธศักดิ์" สอนมวย สมช.ต้องมืออาชีพ รู้จักต่อรอง-แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แนะโยนโจทย์กลับให้กลุ่มป่วนใต้แก้บ้าง ขณะที่สถิติเหตุรุนแรงเดือน เม.ย.พุ่งสูงขึ้นกว่าเดือน มี.ค. ระเบิดยังเพียบ เฉลี่ยเกือบวันละ 1 ลูก
กองทัพได้แสดงท่าทีต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่แกนนำกลุ่มอย่าง นายฮัสซัน ตอยิบ และนายอับดุลการิม คาลิบ ออกแถลงผ่านคลิปวีดีโอเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ก่อนวันนัดพูดคุยสันติภาพร่วมกับตัวแทนรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพียง 2 วัน โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวมีทั้งการให้ปล่อยตัวนักโทษ ยกเลิกหมายจับคดีความมั่นคง ยกระดับมาเลเซียเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย และดึงตัวแทนชาติอาเซียน เอ็นจีโอ รวมถึงองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
การประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพและตัวแทนเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 1 พ.ค.2556 ที่กระทรวงกลาโหม โดย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และผู้แทนของแต่ละเหล่าทัพเข้าประชุม โดยมีวาระสำคัญคือการพิจารณากำหนดนโยบายแนวทางการประสานงานและการปฏิบัติร่วมกันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังจากที่แกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นเสนอข้อเรยกร้อง 5 ข้อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ชื่่อดัง
ภายหลังการประชุม พล.อ.อ.สุกำพล เปิดเผยว่า เรื่องภาคใต้ได้ข้อสรุปว่าในส่วนของการเจรจาก็ว่ากันไป แต่การปฏิบัติงานเพื่อให้ภาคใต้มีความสันติสุขต้องทำต่อ และต้องดำเนินการให้เป็นเส้นขนานกัน ไม่ตัดออกจากกัน นอกจากนั้นยังมีการประสานไปยังตำรวจเกี่ยวกับการนำกำลังลงไปในพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในภาคใต้มีความสามัคคีและเข้าขากันดี แต่งานมีความซับซ้อนทั้งในส่วนความมั่นคง งานพัฒนา การอำนวยความยุติธรรม จึงอาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันบ้าง และทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกัน ซึ่งต้องแก้ไขกันต่อไป ขอย้ำว่าเรื่องงานในภาคใต้จะทำอย่างเต็มที่และต้องดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเรียกร้อง 5 ข้อของแกนนำบีอาร์เอ็น พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า การพูดคุยก็คุยกันไป ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูว่าส่วนไหนรับได้ และส่วนไหนรับไม่ได้ ตนคงไม่แสดงความคิดเห็นตรงจุดนี้ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเราได้แสดงออกในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องความจริงใจว่าเรามีกฎหมายมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) อยู่ หากจะมอบตัวก็พร้อมให้ประกันตัวได้ ซึ่งตรงกับข้อหนึ่งที่เรียกร้องมา แต่จะให้ปล่อยตัวคิดว่าเกินไป คงทำไม่ได้ เพราะบ้านเมืองเรามีขื่อมีแป ขอให้สู้กันตามกติกาที่ว่าไว้
"ส่วนข้ออื่นๆ นั้นขอให้หน่วยงานอื่นไปพิจารณากัน ส่วนของทหารต้องติดตามและรับทราบข้อมูลว่าผลการพูดคุยเป็นอย่างไร" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุ
เตรียมนำผลประชุมรายงานนายกฯ
ต่อข้อถามว่า สุดท้ายแล้วรัฐบาลและสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ต้องถามความเห็นกองทัพใช่หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า จะบอกนายกรัฐมนตรีเอง แต่จะไม่บอกสื่อมวลชน ตนบอกสื่อตรงนี้ไม่ได้ เพราะการพูดคุยไม่ควรนำมาเปิดเผยทุกข้อ การพูดคุยต้องมีความลับกันบ้าง คงบอกไม่ได้ว่ากองทัพยอมรับหรือไม่ยอมรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็น เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องของตนคนเดียว เป็นเรื่องของหลายหน่วยงานที่ต้องมาพูดคุยกัน แต่สุดท้ายรัฐบาลต้องฟังความเห็นของกระทรวงกลาโหม
ส่วนจะเป็นการล้มการเจรจาหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าจะรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อไม่ได้นั้น พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า "สื่อเป็นคนพูดเองว่าไม่รับ ผมไม่ได้บอก แต่ถือเป็นเรื่องที่เขาเสนอมา เรามาวิเคราะห์กัน ไม่ได้ให้น้ำหนักมากมายอะไร ผมไม่มีสิทธิ์ไปล้มโต๊ะเจรจา แต่มีการพูดคุยดีกว่าไม่พูดคุย"
เผยเหล่าทัพไม่รับเงื่อนไขบีอาร์เอ็น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมเหล่าทัพไม่ยอมรับข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น เพราะมองว่าการยอมรับข้อเรียกร้องจะเป็นการยกระดับการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ส่วนกรณีที่บีอาร์เอ็นต้องการให้ประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจานั้น ทางกองทัพมองว่าข้อเสนอดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศมาเลเซียเข้ามาแทรกแซง เพราะนโยบายของรัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศที่สามเข้ามาแทรกแซงการแก้ไขปัญหา เนื่องจากกองทัพยังต้องการให้ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องภายในประเทศ
เช่นเดียวกับข้อเรียกร้องที่ต้องการให้โอไอซีเข้าไปเป็นผู้สังเกตการณ์หรือสักขีพยานในกระบวนการเจรจา กองทัพมองว่าเป็นการให้องค์กรนานาชาติเข้ามาแทรกแซง ซึ่งขัดกับนโยบายการแก้ไขปัญหา สำหรับข้อเสนอที่ให้ทางการไทยปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคงทั้งหมด ก็ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอได้ เพราะบางคดีมีคำพิพากษาตัดสินโทษไปแล้ว หากมีการปล่อยอย่างไร้เงื่อนไขก็ถือว่าขัดต่อกฎหมายของไทย
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แนวร่วมกระทำผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญาร้ายแรง อาจพิจารณาลดโทษให้ได้ ซึ่งจะมีการพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ทั้งนี้ในที่ประชุมมีความเห็นว่าต้องการให้ สมช.ไปพิจารณาแนวทางที่จะพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นต่อไปได้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะนำผลการพูดคุย รวมทั้งข้อเสนอของกองทัพนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป
"ยุทธศักดิ์"เตือนรับข้อเรียกร้องบีอาร์เอ็นเท่ากับ"ยกระดับ"
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันอังคารที่ 30 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตรองนายกรัฐมนตรีซึ่งกำกับดูแลงานด้านความมั่นคงในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า การจะพูดจากันต้องดูว่าถูกสถานที่ถูกสถานการณ์หรือไม่ และข้อเรียกร้อง 5 ข้อที่แกนนำบีอาร์เอ็นโพสต์ผ่านเว็บไซต์ยูทิวบ์นั้นหากไทยยอมรับข้อเสนอ 1 ใน 5 ข้อก็เท่ากับว่าบีอาร์เอ็นสามารถยกระดับการเจรจาของกลุ่มตนเองได้
ฉะนั้นต่อจากนี้หากจะมีการเจรจากันต่อไป ต้องทำความตกลงว่าหากมีข้อเสนออะไรก็ควรปรึกษากันก่อน ไม่ใช่ปล่อยข่าวผ่านเว็บไซต์ ถือว่าเป็นการโยนปัญหาให้ฝ่ายรัฐไทยต้องแก้ไข ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ได้เปรียบของกลุ่มบีอาร์เอ็น
"ผมเห็นว่าการเจรจาต้องอยู่บนความเสมอภาคกัน ฉะนั้นในช่วงที่ยังไม่มีการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเพิ่มเติม ทางรัฐบาลควรให้ความสำคัญในการเจรจากับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ด้วย และควรไปพูดคุยกับกลุ่มอื่นในทางลับบ้าง ไม่ใช่แค่กลุ่มบีอาร์เอ็นกลุ่มเดียวเท่านั้น"
จี้สมช.ต้องมืออาชีพ-โยนโจทย์กลับบ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่าการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ผ่านมาถือว่าล้มเหลวหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ถือว่าถึงขั้นล้มเหลวหรือเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ แต่อยากให้ทางรัฐบาลเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไปด้วย โดยอาจเสนอปัญหาให้ทางกลุ่มบีอาร์เอ็นไปแก้ด้วย ไม่ใช่ให้บีอาร์เอ็นโยนปัญหาให้รัฐบาลแก้อย่างเดียว และการพูดจากันนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของไทย
"การพูดคุยในประเด็นนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญของไทยนั้น รัฐบาลไม่สามารถนำมาพิจารณาได้ ผมมองว่าจุดประสงค์ที่กลุ่มบีอาร์เอ็นต้องการจริงๆ ก็คือข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อดังกล่าว ผมขอให้ตัวแทนของ สมช.มีความเป็นมืออาชีพในการต่อรองและสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ การเจรจาแต่ละครั้งจะต้องหาจุดร่วมของทั้งสองฝ่ายให้ได้เสียก่อน หากเราไม่สามารถทำตามข้อเสนอของเขาได้ก็ต้องบอกให้เขาทราบ" พล.อ.ยุทธศักดิ์ ระบุ
"อภิสิทธิ์"เตือนเจรจาบีอาร์เอ็นต้องมีเอกภาพ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพูดคุยเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า ตามหลักไม่ใช่เรื่องที่จะให้บีอาร์เอ็นมากำหนดกรอบ ส่วนเรื่องที่จะถามความคิดเห็นของประชาชนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่ไปยอมรับว่าเป็นกรอบหารือใดๆ ทั้งสิ้น เพราะข้อเรียกร้อง 5 ข้อไม่เป็นไปตามที่ได้เคยตกลงกันเอาไว้
"ฝ่ายค้านเตือนมาตลอดว่าการพูดคุยต้องระมัดระวัง ต้องช่วยกันหาทางแก้ ที่ผ่านมาถ้าอะไรที่พวกเราพอช่วยแนะนำได้ก็จะแนะนำตลอด ฉะนั้นการพูดคุยเจรจาในครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย.รัฐบาลต้องระวัง ต้องเป็นเอกภาพให้มาก สำหรับนายกรัฐมนตรี ถ้ารับผิดชอบงานภาคใต้เองแล้วก็ต้องดูแลให้ทุกหน่วยงานมีเอกภาพ ต้องรัดกุม รักษาผลประโยชน์ เพราะขณะนี้แนวทางของฝ่ายตรงข้ามใช้เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มากดดัน ทางรัฐบาลก็ต้องไม่ยอมให้ใช้วิธีการนี้" นายอภิสิทธิ์ ระบุ
สถิติป่วนใต้เดือน เม.ย.พุ่งขึ้นอีก
วันเดียวกัน ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้สรุปเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ในรอบเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ปรากฎว่าเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นทั้งหมด 63 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุลอบยิง 35 เหตุการณ์ เหตุระเบิด 21 เหตุการณ์ เหตุก่อกวน 6 เหตุการณ์ และลอบวางเพลิง 1 เหตุการณ์
ทั้งนี้ สถิติเกิดเหตุรุนแรงในห้วงเดือน เม.ย.ถือว่าสูงขึ้นกว่าเดือน มี.ค.2556 ซึ่งเป็นช่วงหลังจากรัฐบาลไทยไปลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็น (ลงนามเมื่อ 28 ก.พ.) โดยสถิติเหตุรุนแรงในห้วงเดือน มี.ค. ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 5 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว แต่เมื่อถึงเดือน เม.ย.กลับมีสถิติความรุนแรงโดยเฉพาะเหตุระเบิดสูงกว่าเดือน มี.ค.เสียอีก
สำหรับยอดความสูญเสียทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตในห้วงเดือน เม.ย.รวมทั้งสิ้น 105 ราย เฉพาะเสียชีวิต 30 ราย ส่วนอีก 75 รายได้รับบาดเจ็บ และหากนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2547 จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2556 มีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้วทั้งสิ้น 5,105 ราย บาดเจ็บ 9,372 ราย
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ขอบคุณ : คุณปัญญา ทิ้วสังวาลย์ ผู้สื่อข่าวสายทหารเครือเนชั่น เอื้อเฟื้อข่าวการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ