‘นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ’:ช่วยแรงงานข้ามชาติลดปัญหาขาดแรงงานไทย
นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถา ‘การจัดการแรงงานข้ามชาติก่อนการเปิดอาเซียนปี 2558:ระบบการขึ้นทะเบียน และการจัดการบริการสุขภาพแก่แรงงานข้ามชาติ ปัญหา ความกังวล และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง’
ผมต้องย้ำว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยมีชายแดนติดกันกับพม่า 2,400 กม. ชายแดนไทย-ลาว 1,801 กม. ชายแดนไทย-กัมพูชา 803 กม. เมื่อมองไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกมีชายแดนติดกัน 1,700 กม. โดยที่สหรัฐฯ มีเม็กซิกันเป็นแรงงานข้ามชาติ 10 ล้านคน ลองนึกภาพกองกำลังสหรัฐฯ ยิ่งใหญ่กว่ากองกำลังไทย แต่ยังไม่สามารถสกัดกั้นแรงงานจากเม็กซิโกได้ ฉะนั้นไทยไม่ต้องพูดถึง ไม่มีขีดความสามารถใด ๆ จะไปสกัดกั้นแรงงานที่จะเข้ามาทำงานหรือคนต่างชาติที่ข้ามไปข้ามมา
เมื่อปีใหม่ ผมรับผิดชอบโรงพยาบาลในเขตจังหวัดภาคกลาง ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางการจราจร ผมใช้เวลาช่วงหยุดปีใหม่เดินทางไปจังหวัดต่าง ๆ ตรวจเยี่ยมห้องฉุกเฉินโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เพื่อดูว่าทำงานกันอย่างไร และสธ.สามารถช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งโรงพยาบาลที่ไกลที่สุด คือ โรงพยาบาลคลองใหญ่ จ.ตราด เมื่อผมไปที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลคลองใหญ่และได้รับทราบว่าที่นี่ดูแลชาวเขมรประมาณ 4 หมื่นคน ชาวไทยประมาณ 2 หมื่นคน
“ผมก็ถามว่าเขาเข้ามากันอย่างไร ไม่มีด่านสกัดเหรอ เขาก็บอกว่ามีภูเขากั้นอยู่ ชาวเขมรลงมาตามภูเขา อุปสรรคที่ขวางกั้น คือ กับระเบิด หลังจากเสียขาไปหลายข้างก็ได้ทางที่ปลอดภัยขึ้น สามารถเข้าออกได้ สภาพเช่นนี้เต็มไปหมด ดังนั้นเราจึงมีด่าน 64 ด่าน มีช่องทางผ่านแดนชั่วคราว 103 ช่องทาง และมีช่องทางธรรมชาติอีกนับไม่ถ้วน เพราะฉะนั้นเรื่องแรงงานข้ามชาติ ผู้ติดตาม และบุตรจะเป็นปัญหาต่อไป เพราะไม่มีกองกำลังใดสามารถป้องกันการเข้าเมืองได้อย่างสมบูรณ์”
เศรษฐกิจลาว-เขมรโต ฉุดตัวเลขทำงานในไทยลดลง
รองปลัดสธ. กล่าวต่อว่า นโยบายรัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการพิสูจน์สัญชาติและนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู ตรงนี้จะเป็นผลดีกับแรงงานในการปรับเปลี่ยนสถานะจากผิดกฎหมายเป็นถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้พูดถึงผู้ติดตาม พูดถึงแต่เพียงเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ผลก็คือ เกิดช่องว่างอันหนึ่งในความถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันเราพบว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศลาวและกัมพูชาเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่กลุ่มพิสูจน์สัญชาติจากลาวและกัมพูชากลับลดลง แปลว่าอะไร แปลว่าแรงงานข้ามชาติจากลาว กัมพูชา เริ่มเห็นว่าไทยมีความดึงดูดให้มาทำงานลดลง ทำให้แรงงานข้ามชาติที่มาจากพม่าเพิ่มขึ้น นี่คือสถานการณ์ที่อยากให้ตระหนักและรับรู้ร่วมกัน
การดำเนินการพิสูจน์สัญชาติของกระทรวงแรงงานนั้นเปิดช่องเป็นระยะ ทำให้เกิดการบริหารจัดการที่เร่งรีบ มีข้อจำกัด และไม่สามารถตอบสนองการพิสูจน์สัญชาติได้ครบถ้วน จึงทำให้เกิดการขยายเวลา ซึ่งการพิสูจน์สัญชาติที่เร่งรีบทำให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ เกิดบริษัทนายหน้าตามมา ตรงนี้เป็นข้อจำกัดขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอียู สหรัฐ และญี่ปุ่น เศรษฐกิจเสาหลักของโลกชะลอตัว ส่งผลให้กองทุนต่าง ๆ ที่เคยจ่ายเงินสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องสุขภาพต่าง ๆ มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มสูงขึ้น จนอยู่ในกลุ่มระดับสูง สิทธิที่พึงได้ในการรับการสนับสนุนจากกองทุนโลกก็เริ่มยากลำบากมากขึ้น ทำให้เราต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ทั้งหมด อย่างที่ทราบกันดีหลักของแรงงานส่วนใหญ่จะมาจากพม่า (ข้อมูลปี 53) ขณะนี้พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยอยู่ในระดับสูง ขณะที่ลาวกับกัมพูชาเพิ่มสูงขึ้น พม่ายังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับของเดิม ส่งผลให้แรงงานส่วนใหญ่จะมาจากพม่า ขณะที่แรงงานจากลาวและกัมพูชาลดลง
คนไทยมีลูกน้อยส่อกำลังแรงงานในประเทศต่ำ ต้องพึ่งพม่า-ลาว-เขมร
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์แรงงานขณะนี้ จะเห็นว่าระบบที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลุ่มพิสูจน์สัญชาติที่เพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้กลุ่มทร.38/1 ลดลง ทำให้ยอดรวมแรงงานต่างด้าวภาพรวมลดจำนวนลง แปลว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้าถึงระบบต่าง ๆ ได้ลดลง เพราะยอดรวมของเดือนธ.ค. 54 อยู่ที่ 1.9 ล้านคน แต่ธ.ค. 55 เหลือ 1 ล้านคน นั่นแปลว่ามีแรงงานอีกจำนวนมาก ซึ่งผมไม่เชื่อว่าแรงงานจะกลับประเทศไปถึง 9 แสนคน เพราะเช่นนั้นแล้วนายจ้างจะต้องโวยวายเรื่องขาดแคลนแรงงาน แต่กลายเป็นการว่าดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ การนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู ก่อให้เกิดช่องว่างให้แรงงานเข้าไม่ถึงระบบ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกระบวนการเปิดช่องให้เกิดบริษัทนายหน้าเข้ามามีส่วนร่วม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในภาพรวมจึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นแรงงานจำนวนมากจึงหายไปจากระบบ
“ส่งผลกระทบในภาครวมของแรงงานข้ามชาติและสุขภาพของคนไทย ผมจึงอยากสื่อไปยังกระทรวงแรงงานและผู้กำหนดนโยบายเหล่านี้ต้องคิดใหม่ ต้องวางแผนใหม่ และประเมินผลใหม่ นี่ไม่ใช่ความสำเร็จ ถึงแม้ว่าเราจะบอกว่าได้เปลี่ยนแรงงานจากผิดกฎหมายเป็นถูกกฎหมาย แต่กลับกลายเป็นแรงงานกึ่งถูกกฎหมายจำนวนหนึ่ง ย้อนกลับไปผิดกฎหมายอีก”
รองปลัดสธ. ยังกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยไม่ใช่ปัญหา แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยคือการแก้ไขปัญหา นั่นคือปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไทย ทำไม่ถึงมีการขาดแคลน เพราะคนไทย 1 คน มีลูกแค่ 1.5 คน ทำให้แรงงานที่เกิดจากคนไทยไม่เพียงพอ จึงต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติมาช่วยทำงาน เพื่อคงการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องเห็นมุมมองที่เป็นรากเหง้าของปัญหาเสียก่อน จึงจะจัดการปัญหาเหล่านี้ได้
“ถ้าเราเข้าใจดีว่าแรงงานข้ามชาติคือการแก้ไขปัญหาช่วงคราวในเรื่องการขาดแคลนแรงงานในไทย มุมมองต่อแรงงานข้ามชาติ ครอบครัว และเด็ก มันจะเป็นมุมมองที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ภาวะเอาเปรียบซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นต้องตั้งบนสัมมาทิฐิเสียก่อน”
วันนี้เราคนไทยจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์มีลูกเฉลี่ยเป็น 2.1 คน เพื่อให้สัดส่วนประชากรในวัยต่าง ๆ สมดุล ดังนั้นในแง่รากเหง้าของปัญหาแรงงานข้ามชาติ จริง ๆ แล้วเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไทย ผมขอเรียนอีกครั้งว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยนั้น ไม่ได้เข้ามาตามธรรมชาติ แต่ถูกสั่งเข้ามาตามความต้องการของนายจ้าง
“แรงงานข้ามชาติจึงไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นวิธีแก้ไขปัญหาชั่วคราว ลาวกับกัมพูชาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อเศรษฐกิจของลาวและกัมพูชาเติบโต แรงงานลาวกับกัมพูชาก็มาไทยน้อยลง เมื่อเกิดทวายโปรเจ็กต์ ฉะนั้นอีกไม่กี่ปีข้างหน้าวิธีแก้ไขปัญหาชั่วคราวนี้จะแก้ไม่ได้ เมื่อพม่ามีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราต้องตระหนักถึงสถานะการเปลี่ยนแปลงเพื่อวางยุทธศาสตร์การดำเนินงาน โดยเฉพาะด้านสุขภาพให้ถูกต้อง”
พบแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมตั้งครรภ์สูง-ไร้วางแผนครอบครัว
นพ.ชาญวิทย์ อธิบายต่อว่า สาเหตุที่เราต้องดำเนินการเรื่องสุขภาพแรงางาน เพราะเรามีการเจ็บป่วยสูง ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวัณโรค โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และโรคเท้าช้าง และระบบที่เราจัดให้ในการตรวจสุขภาพคัดกรองโรค ติดตามรักษา และจัดให้มีระบบหลักประกันสุขภาพนั้น สามารถทำให้แรงงานมีสุขภาพดีขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าการตรวจโรคต่าง ๆ ลดลงเรื่อย ๆ นั่นแสดงว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยมีสุขภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ มีวัณโรคลดลง มีโรคเท้าช้างลดลง ซึ่งเป็นผลดีอย่างยิ่ง ถ้าแรงงานอยู่ในระบบ
“ลองคิดดูว่าเมื่อแรงงานจำนวนหนึ่งหลุดไปจากระบบ 9 แสนคนนั้น ก็แปลว่า 9 แสนคนนี้จะไม่มีการดูแลเรื่องวัณโรค โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โรคเท้าช้าง อันนี้ที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งชุมชนแรงงานข้ามชาติ ครอบครัว และเด็กในแรงงานข้ามชาติ รวมถึงคนไทยด้วย”
ในกลุ่มโรคที่ตรวจพบวัณโรคเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยในอาเซียนมีประเทศที่มีปัญหาวัณโรคเยอะพอสมควร นอกเหนือจากกัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่าแล้ว ยังมีอินโดนีเซียที่มีปัญหาเรื่องวัณโรค โดยวัณโรคในแรงงานข้ามชาติ มีอัตราตายเพียงแค่ 1 ใน 4 ของวัณโรคคนไทย ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพราะพนักงานสุขภาพต่างด้าว (พสต.)อ ทำงานดีมาก และเเรงงงานข้ามชาติเชื่อฟังพสต. ขณะที่คนไทยแทบไม่เชื่อ หมอพูดยังไม่เชื่อ เพราะฉะนั้นกินยาวัณโรค พอคลื่นไส้ คนไทยเลิกกิน แต่เเรงงานข้ามชาติกินกันจนตัวเหลืองก็ยังกิน ครบหกเดือนก็หาย แต่คนไทยกิน ๆ หยุด ๆ ก็เกิดปัญหาวัณโรคดื้อยา เกิดปัญหาอัตราตายคนไทยสูงกว่าแรงงานข้ามชาติถึง 4 เท่า เพราะฉะนั้นการที่แรงงานข้ามชาติไม่เข้าสู่ระบบสุขภาพเป็นภัยต่อคนไทยมากกว่าตัวแรงงานข้ามชาติเสียอีก
นอกจากนี้เรายังพบว่าแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบที่สธ.จัดให้มีการวางแผนครอบครัว การป้องกันโรค ขณะที่แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมไม่มีการวางแผนครอบครัว ไม่มีการป้องกันโรค และมีการตั้งครรภ์สูงกว่าในระบบที่สธ.ดูแลถึง 3 เท่า ดังนั้นนับตั้งแต่กระทรวงแรงงานปรับระบบเป็นต้นมา เราจึงมีปัญหาแรงงานหลุดไปจากระบบ ทำให้โรคติดต่อที่เคยควบคุมได้จาก 1.25% เหลือ 0.25% พอมีระบบพิสูจน์สัญชาติเข้าสู่ระบบประกันสังคม โรคกลับเพิ่มขึ้นเป็น 0.72% แรงงานตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นจาก 1.7% เป็น 2% แล้ว เพราะไม่มีการส่งเสริมสุขภาพและวางแผนครอบครัว ซึ่งแรงงานที่มีบุตรก็เกิดความยากจนตามมา เกิดการเลี้ยงดูบุตรได้ไม่ดีตามมา
ส่วนระบบข้อมูลในอนาคตจำเป็นต้องเชื่อมโยงกัน โดยทำอย่างไรการดูแลเเรงงานข้ามชาติ ครอบครัว และบุตรจึงจะกลายเป็นกระบวนการปกติ ไม่ใช่กระบวนการหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำอย่างไรที่สธ.จะฉีกตัวเองออกจากนโยบายที่แกว่งด้านความมั่นคงกับเศรษฐกิจ สธ.จึงกำหนดยุทธศาสตร์ขึ้นในเรื่องของการจัดระบบการบริการสำหรับแรงงานข้ามชาติ ผู้ติดตาม บุตร ในการผลักดันการป้องกันโรค
.......................................................
ทั้งนี้ โดยสรุป แรงงานข้ามชาติ ผู้ติดตาม เด็กที่เข้ามาในไทยไม่ใช่รากเหง้าของปัญหา รากเหง้าของปัญหาคือโครงสร้างประชากรในไทยที่ไม่สมดุล แรงงานเหล่านี้เป็นการแก้ไขชั่วคราว เราจำเป็นต้องดูแลแรงงานในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้าน ในแง่ความมั่นคงระยะยาว ความเป็นมิตรระหว่างกันจะนำไปสู่การร่วมมือกันในอนาคต เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การที่แรงงานมีสุขภาพดีส่งผลดีต่อทั้งตัวคนไทย และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยและเพื่อนบ้านทั้งหมด ฉะนั้นเราต้องตระหนักต่อสิ่งเหล่านี้ และช่วยกันพัฒนาระบบร่วมกันให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมให้ดีที่สุด.