กรมจัดหางานแจงไม่มีสิทธิคุม ‘หัวคิว’ แรงงานข้ามชาติ ต้องต่อรองราคากันเอง
กรมจัดหางานแจงไม่มีสิทธิคุมค่าหัวคิวแรงงานข้ามชาติ เหตุขาดกฎหมายรองรับ-ต้องต่อรองราคาเอง แรงงานเขมรโวยพิสูจน์สัญชาติขั้นตอนยุ่งยาก หวั่นซื้อประกันสุขภาพไม่เกิดประโยชน์จริง
วันที่ 30 เม.ย.56 โครงการส่งเสริมและป้องกันเอดส์แรงงานข้ามชาติประเทศไทย มูลนิธิรักษ์ไทย จัดประชุมเพื่อแถลงข้อเรียกร้องจากการสัมนาฟ้ามิตรสัญจร 4 ภูมิภาค เรื่อง ‘การจัดการแรงงานข้ามชาติก่อนการเปิดอาเซียนปี 2558:ระบบการขึ้นทะเบียน และการจัดการบริการสุขภาพแก่แรงงานข้ามชาติ ปัญหา ความกังวล และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง’ ณ โรงแรม มิราเคิลแกรนด์
นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (รองปลัดสธ.) กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของลาวและกัมพูชาเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการสร้างงานในประเทศ ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติ ผู้ติดตาม และเด็กของลาวและกัมพูชาเข้ามาทำงานในไทยลดน้อยลง แต่แรงงานข้ามชาติพม่ากลับเพิ่มมากขึ้น เพราะสภาพเศรษฐกิจของพม่ายังคงที่ แต่หากท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายเปิดใช้งาน ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไทยจะเกิดขึ้นทันที
สำหรับระบบการพิสูจน์สัญชาติของไทยนั้น ส่งผลให้ยอดรวมแรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ระบบลดลง จากเดิมมีจำนวน 1.9 ล้านคน ในปี 54 เหลือเพียง 1 ล้านคนในปี 55 ซึ่งมิได้หมายความว่าแรงงาน 9 แสนคนที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบจะกลับประเทศ แต่เป็นเพราะกระบวนการพิสูจน์สัญชาติทำให้เกิดช่องว่างแรงงานเข้าไม่ถึงระบบ และด้วยการขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติทำให้เกิดการบริหารจัดการที่เร่งรีบ จนก่อให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบบริษัทนายหน้า
รองปลัดสธ. กล่าวต่อว่า สำหรับการมองแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยเป็นปัญหานั้น ความจริงไม่ใช่ปัญหา แต่มันคือการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในไทย เพราะปัจจุบันคนไทย 1 คน มีลูกเฉลี่ยเพียง 1.5 คนเท่านั้น จึงต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติช่วยทำงาน เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี อย่างไรก็ตาม คนไทยต้องเพิ่มสัดส่วนการเจริญพันธุ์ให้มีลูกเฉลี่ย 2.1 คน เพื่อความสมดุลของประชากรชาติ
ขณะที่การรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติ เราสามารถป้องกันได้ ทั้งวัณโรค เอชไอวี หรือโรคเท้าช้าง ซึ่งการทำให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบปริมาณผู้ป่วยก็จะลดลง เพราะจะได้รับวัคซีนป้องกันครบถ้วน แต่หากมีแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งหลุดไปจากระบบ ปัญหาดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นทั้งต่อแรงงานข้ามชาติ ผู้ติดตาม และเด็ก หรือคนไทยเอง แต่ที่ผ่านมาพบว่า แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบสธ. มีการวางแผนครอบครัวและการป้องกันโรคที่ดี ขณะที่แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคมกลับไม่มีมาตรการดังกล่าวเท่าที่ควร จนเกิดปัญหาสูงกว่า 3 เท่า ดังนั้นจึงควรวางกรอบยุทธศาสตร์ในหลักบริหารและระบบประกันสุขภาพด้วย
ด้านนายมาลิน ตุ้ม ผู้แทนแรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชา กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติกำลังประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สัญชาติที่สูงเกินไป รวมถึงขั้นตอนการดำเนินการที่ยุ่งยาก จนเกิดความเบื่อหน่าย โดยแต่ละพื้นที่ต่างมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เช่น หากพิสูจน์สัญชาติกับกระทรวงแรงานโดยตรง เสียราว 3,900 บาท แต่หากผ่านบริษัทนายหน้าเสียสูงถึง 6,000 บาท แต่ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชาเสียค่าใช้จ่ายผ่านบริษัทนายหน้าประมาณ 12,000-18,000 บาท ส่วนพม่าเสียค่าใช้จ่าย 15,000 บาท ส่วนกรณีให้สิทธิกลุ่มแรงงานข้ามชาติซื้อหลักประกันสุขภาพนั้น หวั่นว่าจะไม่เกิดประโยชน์จริง และจะได้แต่พาราเซตามอลมากินเหมือนเช่นปัจจุบัน
ขณะที่นายภัทราวุธ เภอแสละ หัวหน้ากลุ่มงานจัดระบบการทำงานแรงงานต่างด้าว สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กล่าวว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติขยายเวลาการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่นายจ้างได้ยื่นแบบแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวไว้กับกรมการจัดหางาน ต่อไปอีก 120 วัน (ถึง 11 ส.ค. 56) มีจำนวนผู้ยื่นประมาณ 5 แสนคน ซึ่งได้ดำเนินการส่งเรื่องให้ประเทศต้นทางรับรองแล้ว 2.6 แสนคน ประเทศต้นทางรับรองแล้ว 2 แสนคน และส่งเรื่องไปให้ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จแรงงานต่างด้าว เพื่อออกหนังสือเดินทางแล้ว 1 แสนคน อย่างไรก็ตาม หลังจาก 11 ส.ค. 56 กระทรวงแรงงานจะเน้นเฉพาะการนำเข้าแรงงานต่างด้าว (เอ็มโอยู) เท่านั้น
ผู้แทนกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่ถูกมองว่ามีราคาสูงเกินนั้น เราต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ลดราคาลงแล้ว เช่น ค่าวีซ่าจากเดิม 2,000 บาท เหลือ 500 บาท ค่าหลักประกันสุขภาพจากปีละ 1,300 บาท เหลือเก็บตามสัดส่วนจริง แต่ยังติดปัญหาค่าธรรมเนียมในลาว พม่า และกัมพูชา ไม่ลดราคาลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกัมพูชาที่อ้างว่าเป็นค่าเอกสารที่มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ และ 2.ค่าบริการ โดยแรงงานข้ามชาติต้องตกลงเรื่องราคากับผู้ให้บริการเองว่าจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ถ้าไม่พอใจก็ควรไปหาบริษัทใหม่หรือให้นายจ้างดำเนินการให้
“สังคมมองว่าทำไมรัฐไม่จัดการ มันจัดการไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้เข้าไปดำเนินการ เนื่องจากเป็นเรื่องข้อตกลงระหว่างกัน อยู่ที่ความพึงพอใจ แต่กรมการจัดหางานพยายามทำได้เพียงไม่ให้เกิดการหลอกลวงกันเฉพาะบริษัทนายหน้า 100 แห่งที่อยู่ในกำกับเท่านั้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็ดูแลได้ส่วนหนึ่ง” นายภัทราวุธ กล่าว
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนายณรงค์ ไพบูลย์ ประธานที่ปรึกษาบริษัท คำมะนี บริการจัดหางาน จำกัด (ลาว) กล่าวว่า ภายหลังครม.มีมติขยายเวลาพิสูจน์สัญชาติออกไป 120 วัน แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากแรงงานข้ามชาติ เพราะหลายคนคิดว่าอยู่มานานแล้วไม่จำเป็นต้องทำ หรือเบื่อหน่ายกับขั้นตอนการทำเอกสารที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะค่าบริการแก่บริษัทนายหน้าที่มีราคาไม่เท่ากัน แต่ถ้านายหน้านำแรงงานข้ามชาติส่งถึงมือนายจ้างเลยราคาก็อยู่ที่ 4,000-6,000 บาท อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายของรัฐบาลจะมีการขับเคลื่อนที่ดี แต่ยังไม่สามารถดึงดูดกลุ่มแรงงานข้ามชาติรายย่อยที่อยู่ตามร้านอาหารต่าง ๆ ได้ ยกเว้นภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่ส่วนใหญ่เข้าสู่ระบบแล้ว
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนาตัวแทนแรงงานข้ามชาติได้มีข้อเสนอที่ได้จากการประชุมระดับภูมิภาคต่อรัฐบาล ดังนี้ 1.จัดบริการสุขภาพแก่แรงงานข้ามชาติเป็นระบบเดียวให้แก่แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยกำหนดราคาของบัตรประกันสุขภาพที่เหมาะสม รวมถึงพิจารณาการขายประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยจัดให้มีบริการที่เป็นมาตรฐานเดียว แต่มีระยะเวลาในการทำประกันต่างกัน โดยต้องจัดการตรวจร่างกายก่อนการซื้อบัตรประกันสุขภาพและการต่อบัตรประกันสุขภาพ 2.ขอให้ทบทวนชุดสิทธิประโยชน์บัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ โดยให้มีการขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นด้านเอดส์ ได้แก่ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี การตรวจระดับภูมิคุ้มกัน (ซีดี 4) การตรวจไวรัสโหลด การตรวจหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจ และการบริการถุงยางอนามัย
3.จัดจ้างพนักงานสุขภาพต่างด้าว (พสต.) อย่างเป็นทางการ โดยให้ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพของภาครัฐ และจัดให้มีการสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) เพื่อเพิ่มการบริการแก่แรงงานข้ามชาติในชุมชนไปพร้อมกับการสนับสนุนการบริการด้านการดูแลรักษา ป้องกันสุขภาพในภาษาของแรงงาน 4.จัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรแก่แรงงานข้ามชาติในสถานพยาบาลของรัฐ โดยมีป้ายประกาศประชาสัมพันธ์เป็นภาษาแรงงาน มีการเชื่อมโยงระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยและกระทรวงสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาระบบส่งต่อระหว่างประเทศ และมีบุคลากรผู้ให้บริการที่มีความสุภาพและเป็นมิตรกับทุกคน
5.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการในการติดตามการปฏิบัติตามนโยบายการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามทุกคนในระดับพื้นที่ เนื่องจากยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการจำนวนมากที่ไม่รู้และไม่เข้าใจนโยบายนี้ ยังคงขายบัตรประกันสุขภาพให้เฉพาะแรงงานที่มีทร.38/1 หรือมีใบอนุญาตทำงานเท่านั้น 6.ลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการตรวจสุขภาพ การขึ้นทะเบียนแรงงาน และการพิสูจน์สัญชาติ โดยจัดให้มีคู่มือการดำเนินการและค่าใช้จ่ายที่แปลเป็นภาษาแรงงาน เพื่อให้แรงงานและนายจ้างสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องผ่านบริษัทจัดหางานหรือนายหน้า 7.จัดให้มีช่องทางการสื่อสารด้านนโยบายที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน รวมถึงนายจ้างและแรงงานข้ามชาติได้รับข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน และปฏิบัติตามนโยบายโดยปราศจากอคติและการรังเกียจต่อแรงงานข้ามชาติ.
ทีืมาภาพ:http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1264048087&catid=02