40 ชาติพันธุ์รวมใจถวายพระพร ‘พ่อหลวง’ – สะท้อนปัญหากม.ละเมิดสิทธิ์
40 ชาติพันธุ์ 5,000 คน รวมพลังถวายพระพร’พ่อหลวง’ 5 พ.ค. - กะเหรี่ยงสะท้อนปัญหาสูญอัตลักษณ์ทำกิน เหตุกม.ป่าไม้รอนสิทธิ์- รัฐไม่จริงจังตามมติครม.คุ้มครองวิถีชนเผ่า
วันที่ 30 เม.ย. 56 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ด เครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย แถลงข่าวการจัดงาน ‘รวมพลังกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองน้อมใจถวายพระพรพ่อหลวงของแผ่นดิน’ ระหว่างวันที่ 5-6 พ.ค. 56 ณ สวนอัมพร
นางหมี่จู มอแลกู่ ชาวอาข่า รองประธานคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงานว่า เป็นเวลาหลายสิบปีที่ชนเผ่าพื้นเมืองในไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเสด็จเยี่ยมชนเผ่าตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ โดยทรงชี้แนะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้เมื่อได้ทราบข่าวพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ กว่า 40 ชนเผ่า ประมาณ 5,000 คน จึงจะเดินทางมาร่วมแสดงความจงรักภักดีและถวายพระพร ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละชนเผ่า เพื่อภาวนาให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯหายจากพระอาการประชวร โดยกิจกรรมดังกล่าวดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2
“พวกเราชนเผ่าดำเนินตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงของ‘พ่อหลวง’มาโดยตลอด ท่านสอนให้เรารู้จักทำเองกินเอง โดยไม่เน้นเรื่องขาย ตอนที่พระองค์ท่านสบายก็เดินทางลำบากขึ้นไปเยี่ยมพวกเราถึงบนเขา วันนี้เราจึงอยากเดินทางมาเยี่ยมพ่อหลวงที่กรุงเทพฯบ้าง ทั้งหมดนี้ไม่มีใครบอกให้ทำ เราคิดกันเอง จึงอยากให้ทุกคนรวมทั้งคนกรุงเทพฯที่เป็นชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งมาร่วมกันแสดงความจงรักภักดีแก่พ่อหลวงในครั้งนี้ด้วย” นางหมี่จูกล่าว
นายวุฒิ บุญเลิศ ตัวแทนชาวกะเหรี่ยง กรรมการจัดงานฯกล่าวว่า แผ่นดินไทยมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรม โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมความแตกต่าง การเดินทางมาจากทั่วทุกภูมิภาคของกลุ่มชาติพันธุ์ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงออกซึ่งความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักให้สังคมได้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม และสร้างความรับรู้ถึงบทบาทอันสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ในการรักษาทรัพยากรป่าไม้
โดยนายวุฒิ กล่าวถึงสถานการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ในปัจจุบันว่า ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก 1.การสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นวิกฤตสำคัญที่เกิดขึ้นกับทุกชนเผ่า 2.ปัญหาสิทธิทำกิน เนื่องจากการประกาศเขตอุทยานทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านดั้งเดิมซึ่งอยู่มานาน 3.ปัญหาสิทธิการเป็นพลเมืองไทย ซึ่งมีข้อจำกัดในการพิสูจน์สัญชาติของชาวเขาในพื้นที่ห่างไกลทำให้ไม่มีบัตรประชาชนและขาดหลักประกันในชีวิต และ4.ชนเผ่าพื้นเมืองขาดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนและชุมชนร่วมกับรัฐ
“ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่เข้าใจอัตลักษณ์การทำกินของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงที่ทำให้เกิดการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยรัฐกลับพยายามส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้เครื่องมือและที่ดินมาก แต่ชาวกะเหรี่ยงไม่มี เพื่อให้ตอบสนองอุตสาหกรรมและเพิ่มรายได้ ซึ่งทำให้ระบบผลิตดั้งเดิมที่เอื้อต่อธรรมชาติของหลายเผ่าต้องหายไป” นายวุฒิกล่าว
นายวุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เห็นว่าการผลักดันให้มีพ.ร.บ.ป่าชุมชนและสิทธิชุมชนเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องที่ทำกิน รวมถึงการที่ภาครัฐต้องดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 43 ว่าด้วยแนวนโยบายการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งให้การคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิมอย่างจริงจังด้วย อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาพบว่ามติครม.ดังกล่าวไม่ถูกนำไปใช้ในวงกว้าง เพราะเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังยึดกฎหมายอุทยานเป็นหลักในการบังคับใช้ ทำให้ชาวเผ่าพื้นเมืองไม่น้อยยังถูกลิดรอนสิทธิ์ โดยเห็นว่าภาครัฐควรบูรณาการกฎหมายต่างๆร่วมกันให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่างาน‘รวมพลังกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองน้อมใจถวายพระพรพ่อหลวงของแผ่นดิน’ นอกจากจะมีกลุ่มชาติพันธุ์ 40 ชนเผ่า กว่า 5,000 คนจะมารวมตัวกันแล้ว ยังมีนักวิ่งมาราธอนชาวอาข่าและชาวแคนาดาที่วิ่งเพื่อร่วมถวายพระพรจากอ.แม่สาย จ.เชียงรายมายังกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 888 กม. โดยใช้เวลา21 วัน ตั้งแต่วันที่ 9 – 29 เม.ย. 56 มาร่วมงานด้วย นอกจากนี้ยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘พระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯต่อชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย’ การแสดงทางวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชนเผ่า เช่น กะเหรี่ยง อาข่า คะฉิ่น ลีซู เมี่ยน ม้ง ดาราอาง ไทพวน ไตหย่า ลาวแง้ว มอญ มอแกน ฯลฯ การประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในภาษาของแต่ละชนเผ่า