‘เดือนเด่น’ ถอดบทเรียน 10 ปีหลักประกันสุขภาพ ชี้ควรมีระบบ-มาตรฐานเดียว
เวทีถอดบทเรียน 10 ปีระบบหลักประกันสุขภาพ ปธ.แพทย์ชนบท ชี้ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มรายได้น้อย นายกแพทยสภา แจงระบบรักษาเท่าเทียมเกิดยาก เน้นเข้าถึงอย่างเป็นธรรม
เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานอบรมเชิงปฏิบัติการสื่อกับหลักประกันสุขภาพ ที่จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพืแห่งประเทศไทย และสถาบันอิศรา ณ โรงแรมเวสเทิร์นแกรนด์ ราชบุรีมีเสวนาถอดบทเรียน 10 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพสำเร็จหรือล้มเหลว โดยมี ศ.นพ.สมศักดิ์ โลห์เลขา นายกแพทยสภา นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผอ.โรงพยาบาลชุมแพ จ.ขอนแก่น และประธานชมรมแพทย์ชนบท และดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมเสวนา
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงโรงพยาบาลที่เข้าโครงการหลักประกันสุขภาพในปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอย มียุทธศาสตร์ดี แต่ยุทธวิธีต้องแก้ไข ต้องมุ่งเน้นไม่ให้คนไทยยากจนเพราะการเจ็บป่วยและเข้ารักษาพยาบาล ซึ่งนโยบายที่ผ่านมาของบประมาณไปเน้นรักษา เช่น รักษามะเร็ง มากกว่าสร้างเสริมสุขภาพ เช่นศึกษาและผลิตวัคซีน จึงเป็นนโยบายที่ทำแล้วไม่มีผลตอบรับ ไม่มีประโยชน์
ทั้งนี้ ที่กล่าวกันมากเรื่องการรักษาพยาบาลหลายมาตรฐาน ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่าควรเป็นระบบการรักษาที่ 'เข้าถึง' คนทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรมมากกว่า ที่จะต้อง 'เท่ากัน' ทุกอย่าง ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ยาก
ขณะที่นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การให้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพปัจจุบันพัฒนาดีขึ้นมาก แต่ยังขาดการควบคุมที่ดี ยังไม่สามารถเข้าถึงคนบางกลุ่มได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อย จึงเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการบริการของประชาชน รวมทั้งโรงพยาบาลในรายจังหวัดและในพื้นที่ที่มีประชากร จำนวนโรงพยาบาลและทรัพยากรที่ได้รับไม่สอดคล้องกัน ฉะนั้น ควรยึดตามความจำเป็นและพื้นที่เป็นตัวพิจารณาการสนับสนุนด้านต่างๆ
ทั้งนี้ เห็นว่าควรปรับการจัดสรรงบประมาณในส่วนส่งเสริมสุขภาพมากกว่าซ่อมแซมสุขภาพ และห่วงเรื่องการมีสิทธิซ้ำซ้อนของประชาชน ในภาพกว้างมีความจำเป็นที่กระทรวงสาธารณสุขควรมีการปฏิรูปหลายส่วน รวมทั้ง อยากเห็นโรงพยาบาลเอกชนออกจากตลาดหุ้น โดยปรับให้เป็นโรงพยาบาลเอกชนแบบมูลนิธิ ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไร
ด้านดร.เดือนเด่น กล่าวว่า ประเทศไทยมีโครงสร้างการบริหารจัดการระบบสุขภาพประกอบด้วยกองทุนหลักหลายกองทุน ได้แก่ กองทุนประกันสังคม กองทุนข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งการแบ่งออกเป็น 3 กองทุนนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ขึ้นอยู่ที่สิทธิประโยชน์ที่ควรเป็นระบบเดียวมาตรฐานเดียวกันไม่ว่าจะมีกี่กองทุน จึงเห็นได้ถึงความแตกต่างระหว่างประเทศไทยกับประเทศที่พัฒนาแล้ว
ดร.เดือนเด่น กล่าวต่อว่า การทำงานของหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สามกระทรวง ที่แต่ละกระทรวงทำลักษณะต่างคนต่างทำ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่สะท้อนในรูปแบบค่าใช้จ่ายต่อหัว พบว่า
1.ระบบหลักประกันสุขภาพ มีผู้อยู่ในระบบ 48.12 ล้านคน งบประมาณ 100,601.90 ล้านบาท เฉลี่ย 2,091 บาทต่อคน
2.ระบบประกันสังคม มีผู้อยู่ในระบบ 9.9 ล้านคน งบประมาณ 25,361.70 ล้านบาท เฉลี่ย 2,562 บาทต่อคน
3.สวัสดิการข้าราชการ มีผู้อยู่ในระบบ 4.4 ล้านคน งบประมาณ 61,844.27 ล้านบาท เฉลี่ย 14,056 บาทต่อคน (ข้อมูลปี 2554) อีกทั้ง ระบบประกันสุขภาพยังมีความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิประโยชน์ ค่าเบี้ยประกัน และคุณภาพในการรักษาพยาบาล
ดร.เดือนเด่น เสนอด้วยว่า ควรมีระบบประกันสุขภาพ "ระบบเดียว" แต่ไม่ต้องรวมกองทุน โดยที่การเบิกจ่ายอาจเป็นทั้งระบบเหมาจ่าย หรือจ่ายตามจริง ให้อยู่ในรูปแบบเงินงบประมาณ เงินสมทบ หรือร่วมจ่ายของผู้ป่วย และคุ้มครองสมาชิกครอบครัว
ที่สำคัญต้องมีชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐานเดียว ที่ครอบคลุมโรคที่ได้รับการคุ้มครอง
ทั้งนี้ ส่วนสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเติมจากชุดสิทธิประโยชน์มาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับการอุดหนุนด้านบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกัน เช่น เงินชดเชยค่าจ้างช่วงลาคลอด บริการทันตกรรมหรือการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
"ประเทศไทยควรพัฒนาระบบประกันสุขภาพระบบเดียว โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหลัก เนื่องจากระบบประกันสังคมมีผู้ประกันตนเพียง 10 ล้านราย หรือ 1 ใน 4 ของแรงงาน และไม่ให้การคุ้มครองหลังเกษียณทำให้ต้องมีระบบประกันสุขภาพอื่นมารองรับ ส่วนระบบสวัสดิการข้าราชการ ที่เปิดระบบปลายเปิดมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 14,000 บาทต่อหัวต่อปี หากมีผู้ประกันตน 65 ล้านคนจะต้องใช้เงินถึง 9.1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่เหมาะกับประเทศไทยที่ประสิทธิภาพระบบการเบิกจ่ายเงินหย่อนยานมาก ขณะที่ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติมีสมาชิก 48 ล้านราย การขยายสมาชิกอีก 17 ล้านรายยังอยู่ในวิสัยที่รับได้มากกว่ากองทุนอื่นๆ"
ดร.เดือนเด่น กล่าวถึงระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการด้วยว่า มีแนวคิดในการยุบเลิก แต่อาจพิจารณายุบเลิกแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ข้าราชการ หรือพนักงาน ลูกจ้างบรรจุใหม่อยู่ภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจ่ายเงินชดเชยการเสียสิทธิด้วยการเพิ่มเงินเดือน และให้ข้าราชการรายเดิมเลือกที่จะใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล หรือเงินชดเชย
"การกำหนดนโยบายและกำกับดูแลระบบประกันสุขภาพ ควรเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระ แต่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีระบบการคลังที่จัดเก็บโดย "ภาษีสุขภาพ" เบิกจ่ายทั้งในแบบเหมาจ่ายรายหัวหรือจ่ายแบบวินิจฉัยโรคร่วม (DRG : Diagnostic related group) เช่นเก็บจากภาษีบาป ซึ่งการเก็บภาษีสุขภาพจะทำให้ทราบได้ว่าการบริหารจัดการการเงินเพียงพอหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยให้เป็นระบบร่วมจ่าย เนื่องจากประเทศไทยยังมีกลุ่มคนที่ไม่พร้อม สังคมยังมีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมในการรักษาพยาบาล"