‘ยงยุทธ’ แนะเพิ่มสิทธิ-สวัสดิการคุ้มครองแรงงานภาคเกษตร หลังเจอพิษค่าแรง 300
ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอเผย การคุ้มครอง-รับสิทธิประกันสังคมแรงงานนอกระบบยังเชื่องช้า เหลื่อมล้ำมาก ชี้ขึ้นค่าแรง 300 บาทกระทบภาคเกษตรหนัก จี้หาสวัสดิการรองรับแรงงานสูงวัย
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาในภาพรวมดูเหมือนแรงงานได้รับการดูแลมากขึ้นในเรื่องค่าจ้างพื้นฐาน 300 บาท แต่ในด้านการคุ้มครองแรงงานยังเป็นไปอย่างเชื่องช้าและมีความเหลื่อมล้ำ ลักลั่นกันตั้งแต่การเข้าสู่ระบบ การได้รับบริการจากระบบ และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากระบบ ทั้งกองทุนประกันสังคมที่ดูแลเฉพาะแรงงานในระบบหลัก ส่วนกองทุนเงินทดแทน ซึ่งลูกจ้างจะได้รับเมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงานของลูกจ้างที่ทำงานเต็มเวลา ขณะนายจ้างที่จ้างแรงงานจำนวนมากเป็นบางช่วงเวลาหรือช่วงฤดูกาล ไม่ใช่ลูกจ้างประจำ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ถึงเวลาที่เราควรสร้างระบบที่ครอบคลุมไม่เหลือมล้ำและเป็นธรรม
"หากมองในรายละเอียดจะเห็นว่ารูปแบบการคุ้มครองแรงงานระหว่างแรงงานในระบบ กับแรงงานนอกระบบยังมีความเหลื่อมล้ำหรือเขย่งกันอยู่ค่อนข้างชัดเจน แรงงานในระบบได้รับการดูแลค่อนข้างดีมาตลอด แต่ในส่วนของแรงงานนอกระบบยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ที่จริงจังนัก จะเห็นได้จากการให้ความคุ้มครองทั้งหลายที่ยังมีข้อยกเว้นอยู่หลายเรื่องและหากดูสิทธิประโยชน์ระยะยาวที่จะได้รับจากประกันชราภาพและกองทุนเงินออมแห่งชาติก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเริ่มอย่างจริงจังเมื่อไร ข้อตกลงในการเก็บอัตราสมทบก็ยังไม่มีข้อยุติและดำเนินไปอย่างล่าช้า แม้แต่แรงงานในระบบเมื่อถึงวัยได้รับสิทธิประโยชน์ชราภาพถึงจะรวมกับเบี้ยยังชีพชราภาพแล้วก็จะมีรายได้เพื่อการยังชีพเพียง 3,000 - 4,000 บาทต่อเดือน ซึ่งนับว่าไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป"
ผอ.วิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า คนกลุ่มนี้ได้แก่ คนทำงานบ้าน แรงงานประมง แรงงานภาคเกษตร ที่ไม่ได้ทำงานต่อเนื่องตลอดปี หรือทำงานตามฤดูกาล รวมถึงแรงงานพาร์ทไทม์ที่คนกลุ่มนี้มีสัดส่วนค่อนข้างสูง ล้วนแต่จะมีปัญหาความมั่นคงในระยะยาว จึงเป็นจุดอ่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อการคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุม
"โดยหลักการตามกฎหมายคนทำงานทุกคนมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง โดยกองทุนประกันสังคมควรปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพกว่าเดิม และสามารถนำสัดส่วนของผลประโยชน์มาสมทบ เพื่อทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น ขณะที่กองทุนเงินทดแทนยังมีช่องว่างไม่ครอบคลุมการคุ้มครองของกลุ่มแรงงานพาร์ทไทม์ซึ่งมีจำนวนหลายล้านคน ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมกำลังพิจารณาให้ทีดีอาร์ไอศึกษาแนวทางการขยายความคุ้มครองกลุ่มเหล่านี้"
ดร.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า มีการเปลี่ยนผ่านหลายอย่างที่ยังไมได้รับการดูแลที่ดีพอ จึงส่งผลกระทบและเป็นปัญหาสำหรับแรงงาน นับตั้งแต่น้ำท่วมเรื่อยมาจนถึงการขึ้นค่าจ้างรอบแรกและรอบที่สอง (300 บาททั่วไทย) ซึ่งมีผลกระทบค่อนข้างกว้างขวางต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
"การประเมินผลกระทบรอบแรกพบข้อมูลสำคัญ ภาคเกษตรที่ควรได้รับผลกระทบน้อยกลับกลายเป็นภาคที่ถูกผลกระทบมาก เพราะภาคเกษตรไทยใช้เทคโนโลยีที่ช่วยผ่อนแรงน้อยยังคงใช้แรงงานเป็นหลัก ค่าแรงจึงเป็นต้นทุนสำคัญที่เพิ่มภาระ ในขณะที่ผู้ประกอบการในภาคเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายเล็กรายย่อยไม่มีศักยภาพในการจ่ายค่าจ้างพื้นฐานที่ปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน ประกอบกับสภาพการทำงานที่หนักและเหนื่อยจึงไม่จูงใจ รวมทั้งไม่มีสวัสดิการในการทำงาน" ดร.ยงยุทธ กล่าว และว่า ปัญหาที่ภาคเกษตรต้องเผชิญ เช่น ต้นทุนสูง อีกทั้งต้องขาดแคลนแรงงาน และในด้านการคุ้มครอง แรงงานภาคเกษตรส่วนใหญ่คือแรงงานอายุมาก อมโรค ในระยะยาวจึงมีปัญหาความมั่นคงในชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการดูแลสุขภาพ
"มีเกษตรกรเพียงไม่ถึง 10% ที่จะมีเงินออมเพียงพอช่วยเหลือตัวเองได้เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จึงอยากให้ใส่ใจแรงงานหรือคนทำงานภาคเกษตรที่สิทธิสวัสดิการยังเหลื่อมล้ำกับแรงงานในระบบ และถูกละเลยมาตลอด