“จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” – เชิดชู 16 เกษตรกรดีเด่น-2ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือ “แรกนาขวัญ” จัดขึ้นเพื่อสร้างสิริมงคลแก่กระบวนการผลิตพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศไทย บำรุงขวัญเกษตรกรของชาติ เมื่อย่างเข้าสู่ต้นฤดูกาลเพาะปลูก
ซึ่งมี 2 พระราชพิธีรวมกันคือพิธีสงฆ์ในวันแรก ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กับ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ(พิธีไถหว่าน)อันเป็นพิธีพราหมณ์ ในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง
นับแต่กรุงสุโขทัยงานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์ กระทั่งรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าฯให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆทุกพิธี ส่วนพระราชพิธีแรกนาขวัญกำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปีซึ่งเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนพระราชพิธีอื่นๆ แต่จะเป็นวันใดในเดือนหกหรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสม สำหรับปีนี้กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 12 และ 13 พฤษภาคม 2556
พระราชพิธีฯ เต็มรูปบูรพประเพณีครั้งสุดท้ายจัดใน พ.ศ. 2479 แล้วว่างเว้นไปกระทั่งใน พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูขึ้นใหม่สืบเนื่องถึงปัจจุบัน และนับตั้งแต่ พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ถือเป็น วันเกษตรกร ประจำปีอีกด้วย เพื่อให้เกษตรกรระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร
กำหนดว่าผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนาจะต้องเป็น ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากติดราชการสำคัญหรือสุขภาพไม่ดี จะต้องขอพระบรมราชานุญาตมอบหมายให้ผู้อื่นที่เหมาะสมทำหน้าที่แทน โดยในปี 2556 นี้ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา
ผู้ทำหน้าที่เทพีทั้งหาบทองและหาบเงิน ทำการคัดเลือกจากข้าราชการสาวโสดของกรมต่างๆในสังกัด โดยดูที่ความเหมาะสม เช่น โสดและได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อายุพอสมควร สุขภาพดี ส่วนสูงพอเหมาะ สำหรับเทพีคู่หาบทองเลื่อนจากผู้ที่เคยทำหน้าที่คู่หาบเงินปีที่แล้ว ได้แก่ น.ส.สุมาลี จำเริญ นิติกรชำนาญการ กรมปศุสัตว์ และ น.ส.สุวิสาข์ เกตุอินทร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กรมส่งเสริมการเกษตร ส่วนผู้ทำหน้าที่เทพีคู่หาบเงินในปีนี้ ได้แก่ น.ส.พชร ลาภผล นักวิชาการประมงปฏิบัติการ กรมประมง น.ส.กาญจนา มาลัยกฤษณะชาลี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
พระโคปีนี้ กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการคัดเลือกที่เหมาะสมคือต้องลักษณะดีรูปร่างสมบูรณ์สูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกันผิวสวยขนเป็นมันกิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่ายไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงาม มีขวัญ ทัดดอกไม้ซ้ายขวาและขวัญหลังถูกต้องตามลักษณะที่ดี กีบและข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างของลำตัวจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม งานพระราชพิธีฯทุกปีจะเตรียมพระโคไว้ 2 คู่ ปีนี้พระโคแรกนา ได้แก่ พระโคฟ้า และพระโคใส ส่วนพระโคสำรอง ได้แก่ พระโคมั่น และพระโคคง
ทันทีที่พระราชพิธีฯสิ้นสุดลง ผู้คนจะกรูกันเข้าไปยังลานแรกนาเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับไปเป็นสิริมงคล ที่มาของเมล็ดพันธุ์ในพระราชพิธีนี้นับตั้งแต่ปี 2504 จนถึงปัจจุบันได้มาจากแปลงนาในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ที่ทรงโปรดเกล้าฯให้กรมการข้าวจัดทำขึ้นเพื่อเก็บเกี่ยวเป็นพันธุ์ข้าว ทรงปลูกพระราชทานสำหรับไว้ใช้ในงานพระราชพิธีฯโดยเฉพาะ ซึ่งในปี 2556 นี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวเปลือกที่นำเข้าในพระราชพิธีมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,417 กิโลกรัม ประกอบด้วย ข้าวนาสวน 7 พันธุ์ ( พันธุ์ปทุมธานี 1, กข 47, ขาวดอกมะลิ 105, สุพรรณบุรี 1, กข 31, กข 6, กข 45 ) ข้าวไร่ 3 พันธุ์ ( พันธุ์ดอกพะยอม ,พันธุ์ซิวแม่จัน และพันธุ์ลืมผัว )
ส่วนหนึ่งใช้หว่านในระหว่างพิธี และจัดเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” บรรจุใส่ซองขนาดเล็กเพื่อจัดส่งให้จังหวัดต่างๆสำหรับใช้แจกจ่ายแก่เกษตรกรรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพตามพระราชประสงค์ และเมล็ดพันธุ์ที่เหลือทั้งหมดกรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปปลูกไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาลปี 2556 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป
การเสี่ยงทายในพระราชพิธีฯมีอยู่ 2 ช่วงคือ ช่วงแรกพระยาแรกนาจะตั้งสัตยาธิษฐานหยิบนุ่งทับผ้านุ่งเดิมนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน 3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้ พระยาแรกนาหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้นคือ ถ้าหยิบได้ 4 คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่ ถ้าหยิบได้ 5 คืบพยากรณ์ว่าน้ำจะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดีแต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้าง ไม่ได้ผลเต็มที่ ส่วนช่วงที่ 2 คือ ภายหลังจากการไถหว่านซึ่งจะเป็นการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน
เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถแล้วจะเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำและหญ้า เมื่อพระโคกินของสิ่งใดโหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์ ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่าธัญญาหารผลาหารจะบริบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินถั่วหรืองาพยากรณ์ว่าผลาหารภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้าพยากรณ์ว่าน้ำท่าจะบริบูรณ์พอควร ธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ถ้าพระโคกินเหล้าพยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายต่างประเทศดีขึ้น
สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในงานพระราชพิธีฯ คือเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรดีเด่น ที่ผ่านการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลและประกาศเกียรติคุณให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 15 ราย
-สาขาอาชีพทำนา นายช่วย สาสุข จังหวัดร้อยเอ็ด
-สาขาอาชีพทำสวน นายบำรุง หนูด้วง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- สาขาอาชีพทำไร่ นายสมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร จังหวัดนครราชสีมา
- สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์ นายอาหะมะ อาลีมาส๊ะ จังหวัดยะลา
- สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ร้อยเอกนายแพทย์ปัญญา ยังประภากร จังหวัดนครปฐม
- สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย นายธนภณ แสงสุบิน จังหวัดฉะเชิงเทรา
- สาขาอาชีพปลูกสวนป่า นายบัวพันธ์ บุญอาจ จังหวัดหนองบัวลำภู
- สาขาอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ นายสมชาย ต้นหิรัญมาศ จังหวัดอ่างทอง
- สาขาบัญชีฟาร์ม นายมาโนช โพธิ์เมือง จังหวัดมุกดาหาร
- สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นายนิมิต ทักโลวา อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี
- สาขาการใช้วิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม นายอาทิตย์ มติธรรม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม นายการุณ ศุขะพันธ์ จังหวัดลพบุรี
- สาขาอาชีพปลูกหม่อนไหม นางกองงัน จำนงค์บุญ จังหวัดชัยภูมิ
- สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร นายวาทิน คันธี จังหวัดอุดรธานี
- ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร นางนงนุช ยังปากน้ำ จังหวัดสตูล
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 13 สถาบัน
-กลุ่มเกษตรกรทำนา กลุ่มเกษตรกรทำนาวังแดง จังหวัดอุตรดิตถ์
-กลุ่มเกษตรกรทำสวน กลุ่มเกษตรกรทำสวนไม้เรียง จังหวัดนครศรีธรรมราช
- กลุ่มเกษตรกรทำไร่ กลุ่มเกษตรกรทำไร่ท่าสายลวด จังหวัดตาก
- กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านสันบัวบก จังหวัดพะเยา
- กลุ่มยุวเกษตรกร กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จังหวัดแพร่
- กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านห้วยโรง จังหวัดนครสวรรค์
- กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแกะบ้านห้วยหอม จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- กลุ่มเกษตรกรทำประมง กลุ่มพัฒนาผู้เลี้ยงกุ้งเกษตรกรพอเพียง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
-กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ กลุ่มแปรรูปปลาห้วยบงตรา 1 เดียว จังหวัดหนองบัวลำภู
- สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน กลุ่มบริหารการใช้น้ำคลอง RMC 1 จังหวัดเชียงราย
- ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลคลองเกตุ จังหวัดลพบุรี
- ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่น ๆ ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม จังหวัดเพชรบุรี
- วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจชุมชนธนาคารชุมชนตำบลสร้างถ่อน้อย จังหวัดอำนาจเจริญ
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 สหกรณ์
-สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การเกษตรหนองหญ้าไซ จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี
-สหกรณ์โคนม สหกรณ์โคนมไทย – เดกมาร์ก (มิตรภาพ) จำกัด จังหวัดสระบุรี
- สหกรณ์นิคม สหกรณ์นิคมวังพระธาตุ จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร
- สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา สหกรณ์กองทุนสวนยางไสกรูดการเกษตร จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช
- สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ออมทรัพย์อนามัยสุรินทร์ จำกัด จังหวัดสุรินทร์
- สหกรณ์ร้านค้า ร้านสหกรณ์เกษตรศาสตร์ จำกัด เลขที่ 1 หมู่ที่ 6 ตำบลกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
- สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เอ็น เอช เค สปริง จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ
นอกจากนี้ได้มีการคัดเลือกปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน เพื่อเข้ารับพระราชทานประกาศเกียรติคุณในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2556 จำนวน 2 สาขา คือ
-ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายโชคดี ปรโลกานนท์ จ.นครราชสีมา
- ปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายสุวิทย์ ไตรโชค จ.พระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้เกษตรกร สถาบันเกษตรกรดีเด่น และปราชญ์เกษตรทั้งหมด จะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลในวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม 2556 ณ บริเวณมณฑลพิธีสนามหลวง .
ที่มาภาพ ::: http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=amuletstory&month=05-2012&date=02&group=33&gblog=15