เครือข่ายภาคประชาชน เปิด 6 ข้อคลุมเครือ คัดค้านแผนจัดการน้ำกบอ.
เครือข่ายภาคประชาชน จับมือออกแถลงการณ์คัดค้านแผนบริหารจัดการน้ำ กบอ. ย้ำชัดพบมีความคลุมเครือ ช่องโหว่เพียบ เอื้อนักการเมือง ข้าราชการ บริษัทผู้รับเหมาอย่างมโหฬาร
วันที่ 28 เมษายน เครือข่ายภาคประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและเครือข่ายนักวิชาการ, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ศูนย์ข้อมูลเพื่อ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย Thaiflood.com, มหาวิทยาลัยรังสิต และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) จัดสัมนาทางวิชาการ เพื่อให้ความรู้ในประเด็นการใช้งบประมาณบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ' จับตา ผ่าทุจริต "เวนคืนดิน กินตามน้ำ" 3.5+2 แสนล้าน' ณ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต อาคารสาธรธานี ชั้น 7 ห้อง 701 ถนนสาธร กรุงเทพฯ
โดยช่วงแรกตัวแทนภาคประชาชน อ่านแถลงการณ์ภาคประชาชน โดยเครือข่ายภาคประชาชนยื่นหนังสือคัดค้านแผนจัดการน้ำ กบอ. 6 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรี และยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อพิทักษ์สิทธิ์ในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐบาลไปปรับขั้นตอนการดำเนินงานให้ประชาชนได้มีส่วนตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
สำหรับรายละเอียด แถลงการณ์ มีดังนี้
ประการแรก แผนการดำเนินโครงการของ กบอ.ดำเนินการผิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ตาม รธน.2550 เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่า แผนงานไม่ได้ทำ EIA EHIA โดยละเลยขั้นตอนการวิเคราะห์โครงการ การจัดทำยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนแม่บท การวิเคราะห์การลงทุน นอกจากนี้ ยังพบว่า ทีโออาร์ ยังระบุว่า บริษัทผู้ผ่านการคัดเลือกสามาาถเบิกเงินล่วงหน้าได้ร้อยละ 5 ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ ที่เงินจำนวนดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้เป็นอามิสสินจ้างในการบิดเบือนการประเมิน EIA EHIA
ประการที่สอง การดำเนินทั้ง 9 โมดูล ไม่มีขอบเขตของงาน ขาดรายละเอียดเชิงพื้นที่ รายละเอียดโครงการ กรอบเวลา ไม่มีกระบวนการเชื่อมโยงโครงการแต่ละโครงการเข้าด้วยกัน
ประการที่สาม การแบ่งความรับผิดชอบโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ องค์กรเอกชนผู้รับจ้าง ใครจะเป็นองค์หลักรับผิดชอบ ภายใต้แผนทั้ง 9 โมดูล
ประการที่สี่ บางโมดูล ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบ โดยเฉพาะ ฟลัดเวย์ เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงกว่าหนึ่งแสนล้านบาท ทั้งยังขาดการศึกษาความคุ้มทุนของโครงการต่างๆ ตลอดจนความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณในหลายหน่วยงาน ซึ่งดำเนินงานด้านการจัดการน้ำอยู่แล้ว
ประการที่ห้า มีการโยกงบฯ บางส่วนจากแผนเดิม โดยเฉพาะงบฯชดเชยพื้นที่รับน้ำนองไปดำเนินการในส่วนอื่น ซึ่งอาจนำไปสู่ช่องทางการทุจริตงบประมาณ เนื่องจากไม่มีการชี้แจงที่ชัดเจนว่า นำงบฯดังกล่าวไปใช้ในกิจการใด
ประการที่หก ทีโออาร์ระบุไว้ว่า ขอบเขตของงานทั้ง 9 โมดูล รัฐบาลให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานมีอำนาจในการบริหารจัดการเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การออกแบบ และการก่อสร้าง ตลอดจนเวนคืนที่ การหาพื้นที่อพยพ ซึ่งกระทบต่อชุมชนและวิถีชีวิตอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวด้วยว่า แผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่ระบุว่า เร่งด่วนคงเกิดไม่ได้ และจะค้างคาเหมือนโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน โครงการโฮปเวลล์ แน่นอน