5 ข้อสังเกตคลิปบีอาร์เอ็น กับคำถามไทยกำลังเพลี่ยงพล้ำในเกมสันติภาพ?
การปรากฏตัวของ 2 แกนนำบีอาร์เอ็นผ่านคลิปวีดีโอทางเว็บไซต์ยูทิวบ์ แม้จะสร้างกระแสฮือฮาอย่างมากจนทำให้ราคาของโต๊ะพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอยู่พุ่งสูงขึ้นทันทีก็ตาม
ทว่าหากพิจารณาทั้งในแง่วิธีการสื่อสาร และการเลือกจังหวะเวลาปล่อยคลิป ท่ามกลางเกมแห่งการต่อรองบนโต๊ะเจรจาสันติภาพ ซึ่งไม่ได้มีแค่ "รัฐไทย" กับ "บีอาร์เอ็น" เป็น "ผู้เล่นหลัก" เท่านั้น แต่ยังมี "รัฐบาลมาเลเซีย" ร่วมวงอยู่ด้วย ก็จะพบข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ
"ทีมข่าวอิศรา" รวบรวมมานำเสนอดังนี้
1.เนื้อหาของคำแถลงทั้งในส่วนของ นายฮัสซัน ตอยิบ และ นายอับดุลการิม คอลิบ สองแกนนำบีอาร์เอ็น แทบไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดพูดถึงแนวทางการลดความรุนแรงในพื้นที่ตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลไทยเลย แต่กลับมีการเสนอข้อเรียกร้องกลับมายังรัฐบาลไทยมากมายหลายข้อ ในขณะที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอด 2 เดือนตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการพูดคุยสันติภาพยังคงมีการก่อเหตุรุนแรงทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง
2.สืบเนื่องจากข้อ 1 ท่าทีลักษณะนี้ทำให้เข้าใจได้ว่ากลุ่มแกนนำบีอาร์เอ็นที่ร่วมพูดคุยเจรจากับผู้แทนรัฐบาลไทย กำลังใช้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ให้เป็นประโยชน์ในการต่อรองสร้างเงื่อนไขมากขึ้นหรือไม่ เหมือนที่มีการตั้งข้อสังเกตมาก่อนหน้านี้ว่า เป็นการเล่นเกม "ตีสองหน้า" ด้านหนึ่งก็เจรจาโดยอ้างสันติภาพ แต่อีกด้านหนึ่งก็ใช้ประโยชน์จากความรุนแรงเพื่อเพิ่มน้ำหนักและอำนาจต่อรองของพวกตัวเองอีกที
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ก็ออกมาให้ข้อมูลทำนองว่า ลูกชายของแกนนำบีอาร์เอ็นที่ร่วมวงพูดคุยสันติภาพ (เมื่อครั้งวันที่ 28 ก.พ.2556) ยังถูกให้การซัดทอดจากผู้ต้องสงสัยคดีลอบวางระเบิดในเขตเทศบาลนครยะลาว่า ได้รับคำสั่งให้ก่อเหตุจากลูกชายของแกนนำคนดังกล่าวด้วย
3.การออกมาแถลงผ่านเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังโดยที่ฝ่ายรัฐบาลไทยไม่ได้รับทราบล่วงหน้ามาก่อน ถือเป็นการผิดข้อตกลงจากโต๊ะพูดคุยสันติภาพทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ 3 ครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ (28 ก.พ. 5 มี.ค. และ 28 มี.ค.2556) ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการให้ข้อมูลจากตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยที่เข้าร่วมวงพูดคุยว่า ได้มีการกำชับเรื่องการให้ข่าวและเผยแพร่รายละเอียดการพูดคุยผ่านสื่อ โดยท่าทีต่างๆ จะต้องผ่านความเห็นชอบร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย (รัฐบาลไทย บีอาร์เอ็น และมาเลเซีย) อีกทั้งฝ่ายรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นต้องสื่อสารผ่านผู้อำนวยความสะดวก คือมาเลเซียเป็นหลัก
4.หนึ่งในข้อเรียกร้องใหม่ที่ให้มาเลเซียเป็น "ผู้เจรจาไกล่เกลี่ย" หรือ mediator แทนที่จะเป็นเพียง "ผู้อำนวยความสะดวก" หรือ facilitator รวมทั้งให้ดึงผู้แทนชาติอาเซียนกับผู้แทนโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) ร่วมเป็นสักขีพยาน ถือเป็นข้อเรียกร้องที่สวนทางกับท่าทีก่อนหน้านี้ของฝ่ายบีอาร์เอ็นอย่างสิ้นเชิงหรือไม่ เพราะการกำหนดสถานะของมาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการพูดคุย" เป็นข้อตกลงที่ได้รับการยอมรับร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายตั้งแต่ต้น การเปลี่ยนท่าทีอย่างรวดเร็วมีสาเหตุมาจากอะไร
ขณะที่ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยข้อมูลจากผู้ร่วมวงเจรจากับแกนนำบีอาร์เอ็นในรัฐบาลชุดก่อนๆ โดยเฉพาะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ว่า กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเกือบทั้งหมดไม่เชื่อใจท่าทีของรัฐบาลมาเลเซีย และไม่อยากให้มาเลเซียเกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ เนื่องจากมาเลเซียมักกดดันคนในกลุ่มขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐไทยให้ปฏิบัติตามสิ่งที่มาเลเซียต้องการ เพราะต้องใช้มาเลเซียเป็นสถานที่พักพิง
น่าคิดเป็นอย่างยิ่งว่า การเผยแพร่คลิปวีดีโอของแกนนำบีอาร์เอ็นครั้งนี้ ทางการมาเลเซียรับรู้หรือรู้เห็นด้วยหรือเปล่า และจะแสดงท่าทีอย่างไร เนื่องจากคนเหล่านั้นล้วนอยู่ในความดูแลของสันติบาลมาเลเซีย
5.เป็นที่น่าสังเกตว่า การเผยแพร่คลิปวีดีโอของ 2 แกนนำบีอาร์เอ็น เกิดขึ้นในช่วงก่อนวันนัดพูดคุยสันติภาพเพียง 1-2 วัน เหตุใดจึงไม่รอพูดคุยกันบนโต๊ะเจรจา
ขณะที่การเลือกตั้งใหญ่ในมาเลเซียจะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ค.นี้ ข้อเรียกร้องให้ยกระดับมาเลเซียเป็น "ผู้เจรจาไกล่เกลี่ย" ซ้ำยังให้ดึงผู้แทนชาติอาเซียนและโอไอซีมาร่วมเป็นสักขีพยาน เป็นการ "ขับเน้น-ผลักดัน" บทบาทของมาเลเซียให้โดดเด่นขึ้นในฐานะผู้ที่มีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้หรือไม่
สอดรับกับข้อเสนอของหลายฝ่ายก่อนหน้านี้ รวมทั้ง พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ที่เรียกร้องให้ฝ่ายไทยแจ้งเลื่อนการนัดพูดคุยสันติภาพในวันที่ 29 เม.ย.ออกไปก่อน เพราะใกล้วันเลือกตั้งของมาเลเซียมากเกินไป เกรงว่าการพูดคุยอาจถูกหยิบไปใช้เป็นประโยชน์ของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มในมาเลเซีย ทว่าในที่สุดรัฐบาลก็ปฏิเสธที่จะเลื่อนนัดออกไป
จากข้อสังเกตทั้งหมดนี้ ได้กลายเป็นคำถามกลับไปยังรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยว่า กำลังตกอยู่ในสภาวะเพลี่ยงพล้ำและถูกช่วงชิงการนำทั้งจากฝ่ายบีอาร์เอ็นและมาเลเซียใช่หรือไม่ แล้วจะแก้สถานการณ์นี้อย่างไร?
---------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พิธีลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่าง พล.ท.ภราดร กับ นายฮัสซัน เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 เป็นไปอย่างชื่นมื่น