จ่อสร้างเขื่อนแก้กัดเซาะชายฝั่งรุนแรง‘ขุนสมุทรจีน’ 2,700 ล้านในแผนจัดการน้ำ
‘ปลอดประสพ’ ยันสร้างเขื่อนแก้กัดเซาะชายฝั่งรุนแรง ‘ขุนสมุทรจีน’ นักวิชาการชี้อีก 20 ปี กินพื้นที่ลึกอีก 1.3 กม. ชงรบ.ใช้โมเดล ‘สลายกำลังคลื่น’ ถูกกว่า ‘เขื่อนกรมโยธา 2,700 ล้าน’ 10เท่า
วันที่ 27 เม.ย. 56 ที่บ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ นักศึกษาหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 4 สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีสาธารณะหัวข้อ ‘กู้วิกฤตขุนสมุทรจีน ป้องกันชายฝั่งอย่างยั่งยืน’ โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี หน่วยงานต่างๆ และชาวบ้านในฟื้นที่เข้าร่วมเสวนา ทั้งนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันหาทางแก้ปัญหาพื้นที่ชายฝั่งบริเวณบ้านขุนสมุทรจีนซึ่งถูกน้ำกัดเซาะรุนแรงยาวนาน ทำให้พื้นที่เคยมีกว่า 1,000 ไร่ ในปี 2510 เหลือเพียง 78 ไร่ในปัจจุบัน
โดยนายปลอดประสพ กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะทะเลชายฝั่งเป็นปัญหาที่มีมานาน ต่างหน่วยงานต่างแก้ไข โดยไม่มีการประสานความร่วมมือกัน ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร วันที่ 30-31 มี.ค.56ที่ผ่านมา จ.สมุทรปราการได้รายงานปัญหากัดเซาะให้ครม.ทราบแล้ว ซึ่งครม.ได้มอบหมายให้ตนในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)ดำเนินงานแก้ปัญหาดังกล่าวตั้งแต่พื้นที่ปากแม่น้ำบางประกง-แม่น้ำเพชรบุรี
สำหรับกรณีบ้านขุนสมุทรจีนตนเห็นว่า ไม่มีวิธีใดในการปัญหาการกัดเซาะและปกป้องพื้นที่ชายฝั่งระยะยาวได้ดีกว่าการสร้างเขื่อน ซึ่งจะต้องมีการศึกษาปัญหาบริเวณดังกล่าวใหม่และทำโรดแมพวางแผนการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้นจะมีมาตรการป้องกันชั่วคราว เช่น การทำเขื่อนไม้ไผ่ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้หลังจากนี้ไป 2-3 เดือน ภายหลังเสร็จสิ้นการประมูลโครงการก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
นางสมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านขุนสมุทรจีน กล่าวว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการเร่งด่วนเวลานี้ คือ การยับยั้งและป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ไม่ให้รุนแรงไปกว่านี้ก่อน เพื่อปกป้องพื้นที่ทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะองค์พระสมุทรเจดีย์ซึ่งอยู่คู่กับชุมชนมาช้านานไว้ ส่วนในระยะยาวจะมีการสร้างเขื่อนหรือไม่นั้น ขอให้ทำประชาพิจารณ์ถามชุมชนก่อน เพราะการก่อสร้างย่อมมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ
“ชาวบ้านที่นี่ไม่มีที่ดินให้ทำกินแล้ว เราหากินกับท้องทะเล ชาวบ้านยอมรับถ้าจะทำอะไร แต่ต้องดูด้วยว่าทำแล้วอาชีพเสียหายไหม เราจะอยู่ได้หรือเปล่า ขอให้มีมาตรการเยียวยา” นางสมรกล่าว
โดยระหว่างการเสวนานายปลอดประสพได้สอบถามชาวบ้านบางส่วนว่าจะเอาเขื่อนไหม ซึ่งนางสมรยังยืนยันว่าต้องทำประชาพิจารณ์ก่อน สุดท้ายจึงไม่ได้ข้อสรุป โดยนายปลอดประสพระบุว่าชาวบ้านจะต้องเลือกระหว่างการมีเขื่อนเพื่อปกป้องพื้นที่กับการรักษาระบบนิเวศซึ่งจะต้องเสียหายบางส่วนหากมีการสร้างเขื่อน
ด้านศ.ดร.ธรวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาคธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศที่มีปัญหาการกัดเซาะขณะนี้กินพื้นที่ 600 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 22 จากพื้นที่ทั้งหมด 2,600 กิโลเมตรใน 23 จังหวัด โดยบริเวณที่มีการกัดเซาะรุนแรงมากที่สุดคือบริเวณอ่าวไทยตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา ไทยสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งจากการกัดเซาะลึกเข้าไปกว่า 1 กม. หรือ 79,000 ไร่ ทั้งนี้หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขใดๆในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งลึกเข้าไปอีก 1.3 กม. 63,000 ไร่ และภายใน 50 ปีจะสูญเสียพื้นที่กว่า 100,000 ไร่
ศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าการแก้ปัญหาการกัดเซาะด้วยการก่อสร้างโครงสร้าง เช่น เขื่อนทึบ ไม่ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวและยังทำให้เกิดอัตราการกัดเซาะที่รุนแรงมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าที่ผ่านมางบประมาณส่วนใหญ่กว่า 8,000 ล้านบาท ที่ใช้แก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะ คิดเป็นการลงทุนก่อสร้างถึงร้อยละ 99 ซึ่งยิ่งทำให้อัตราการกัดเซาะรุนแรงมากขึ้น จากปี 2510 ที่ 10 กว่าเมตรต่อปี เป็น 30 เมตรต่อปีในปัจจุบัน
โดยได้นำเสนอผลงานวิจัย ‘ขุนสมุทรจีน94A2’ ของตนและคณะ ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรเรื่องการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งเป็นรายแรกในโลก โดยเป็นการแก้ปัญหากัดเซาะในรูปแบบ ‘การสลายกำลังคลื่น’ ลักษณะการสร้างเสาคอนกรีตสามเหลี่ยมปักลงในทะเลห่างจากชายฝั่ง เรียงกัน 3 แถวเป็นฟันปลา ซึ่งช่วยลดแรงปะทะคลื่นและทำให้เกิดการตกตะกอนที่แนวชายฝั่งหลังเขื่อน ซึ่งงานวิจัยชุดนี้ได้ทดลองก่อสร้างในพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีนตลอดแนวชายฝั่งความยาว 250 เมตรเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยพบว่าสามารถยับยั้งการกัดเซาะได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งช่วยเพิ่มอัตราการตกตะกอน ทำให้เกิดการเพิ่มพื้นที่ชายฝั่งด้วย
โดยขอเสนอให้รัฐบาลนำผลงาน ‘ขุนสมุทรจีน94A2’ ไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวแทน หรือ ควบคู่กับการสร้างเขื่อนถาวร คือ ‘เขื่อนสลายพลังงานคลื่น’ ของกรมโยธาธิการและผังเมืองซึ่งจ.สมุทรปราการนำเสนอครม.สัญจรไปเมื่อวันที่ 30-31 มี.ค. 56 ด้วยงบประมาณ 2,700 ล้านบาทเพื่อป้องกันแนวชายฝั่งของจังหวัด เนื่องจากเห็นว่ารูปแบบเขื่อนของกรมโยธาฯยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว เนื่องจากแม้จะเป็นเขื่อนกึ่งโปร่งใสไม่ทึบไปทั้งหมด แต่จะทำให้พื้นที่หาดโคลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศหายไป นอกจากนี้การหากนำโมเดล ‘ขุนสมุทรจีน94A2’ ไปใช้จะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก เพราะจะใช้งบการก่อสร้างที่ 60 ล้านบาท/กม. เท่านั้นซึ่งถูกกว่าเขื่อนของกรมโยธาฯที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาท/กม. ถึง 10 เท่า