ถอดรหัส "สัญญาบัตร" ถูกไล่ล่า เดิมพัน "เจรจาเปิดหน้า" ทำใต้ป่วน!
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2556 ที่รัฐบาลส่ง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับ นายฮัสซัน ตอยิบ และพวกที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น ยังไม่เกิดบรรยากาศดีๆ ดังที่หลายฝ่ายคาดหวัง
เพราะหากนับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.จนถึงวันที่ 22 เม.ย.ซึ่งมี "มือมืด" ติดป้ายผ้าแสดงการไม่ยอมรับกระบวนการพูดคุยเจรจาทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 2 อำเภอของ จ.สงขลา รวมเวลาทั้งสิ้น 53 วันแล้ว ปรากฏว่ามีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นแทบจะรายวัน สรุปเป็นสถิติได้ดังนี้
- มอเตอร์ไซค์บอมบ์ และโชเล่ย์บอมบ์ (รถจักรยานยนต์พ่วงข้างติดตั้งระเบิด) 7 เหตุการณ์
- คาร์บอมบ์ 1 เหตุการณ์
- ระเบิดทั่วไป (ส่วนใหญ่เกิดบนถนน หรือ Roadside Bomb) 16 เหตุการณ์
- เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 22 ราย
- พลเรือนเสียชีวิต 1 ราย (เด็กชายวัย 9 ขวบ)
- บาดเจ็บทั้งเจ้าหน้าที่และพลเรือน 117 ราย
ทั้งนี้ ในจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิต 22 รายนั้น เป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงมากถึง 8 ราย ประกอบด้วย
- พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วงศ์พรหมเมศร์ รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม (รอง ผกก.ป.) สภ.รือเสาะ เจ้าของฉายา "ชุมแพ"
- ร.อ.ศิวัช ศรีอุปโย ผู้บังคับกองร้อยทหารราบที่ 1513 (ผบ.ร้อย ร.15123)
- นายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา
- นายเชาวลิตร ไชยฤกษ์ ป้องกันจังหวัดยะลา
- ร.ท.เริงฤทธิ์ โพธิ์สา ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 4412 (ผบ.ร้อย ทพ.4412)
- ร.ท.บุญเพ็ง บุตรโยธี หัวหน้าชุดทักษิณสัมพันธ์ หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข
- พ.ต.ต.นิรมิตร ชูโรจน์ สารวัตรสืบสวน สภ.บ้านโสร่ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
- เรือโทชัยสิทธิ์ เตชะสว่างวงศ์ หัวหน้าชุดอีโอดี หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินภาคใต้ กองทัพเรือ
นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชาวเมืองปัตตานี ซึ่งธุรกิจของเขาคือโรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เคยถูกลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ไปแล้ว 2 ครั้ง กล่าวว่า แม้ตลอด 9 ปีไฟใต้ (นับตั้งแต่ต้นปี 2547) มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่จำนวนมาก และมีหลายครั้งที่พุ่งเป้าไปยังข้าราชการระดับสูงก็จริง แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้นถี่ยิบขนาดนี้
ล็อคเป้าบิ๊ก ขรก.ไม่ใช่เบนเป้า
สถานการณ์ร้ายในห้วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีประเด็นหลักๆ ที่ต้องหยิบมาวิเคราะห์ 2 ประเด็น คือ 1.เหตุใดข้าราชการระดับสูงจึงตกเป็นเป้ามากขึ้น และ 2.ความรุนแรงที่ปรากฏเป็นผลจากการพูดคุยสันติภาพของ สมช.หรือไม่ และอนาคตของกระบวนการนี้จะเป็นอย่างไร
เริ่มจากประเด็นแรกว่าด้วยการพุ่งเป้าสังหารข้าราชการระดับสูง แม้จะมีคำอธิบายอย่างไม่เป็นทางการจากผู้ที่ไปร่วมวงพูดคุยสันติภาพว่า ปรากฏการณ์ความรุนแรงที่กระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐผู้ถืออาวุธ (ทหาร ตำรวจ) มากขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะพลเรือนหรือประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเป้าโจมตีน้อยลง ซึ่งก็เป็นไปตามที่ได้พูดคุยเจรจากับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นว่า ขอให้ยุติการโจมตีเป้าหมายพลเรือนที่เรียกว่า "เป้าหมายอ่อนแอ" โดยเฉพาะเด็ก ผู้หญิง คนแก่ และครูก็ตาม
อย่างไรก็ดี ก็มีหลายเสียงแย้งว่า หากการเบนเป้าความรุนแรงจากพลเรือนไปเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นจากข้อตกลงบนโต๊ะเจรจาจริง ขอบเขตของการโจมตีน่าจะมีลักษณะเป็นการทั่วไป ไม่ใช่ "เบี่ยงเป้า" จากพลเรือนไปเป็นการ "ล็อคเป้า" เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง โดยเฉพาะรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ป้องกันจังหวัด หรือตำรวจระดับรองผู้กำกับ และสารวัตร
แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้นำท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และทราบพฤติการณ์ของกลุ่มติดอาวุธที่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่ ให้ข้อมูลว่า เท่าที่ได้ติดตามท่าทีของกลุ่มขบวนการที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐ ยืนยันได้ว่าการเบนเป้าก่อเหตุรุนแรงจากพลเรือนไปเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับข้อตกลงบนโต๊ะเจรจา แต่น่าจะเป็นผลจากเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรม 16 ศพกลุ่ม นายมะรอโซ จันทรวดี ที่เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการบ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2556 มากกว่า
"กรณีมะรอโซ ฝ่ายขบวนการเขาประกาศแก้แค้นเอาคืนตั้งแต่แรกแล้ว โดยตั้งเป้าสังหารเจ้าหน้าที่ 1:5 หรือ 1:10 จากจำนวนที่พวกเขาต้องสูญเสียคือ 16 ราย และต้องเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้วย เพราะมะรอโซถือเป็นแกนนำระดับคอมมานโด ไม่ใช่อาร์เคเคธรรมดา" ผู้นำท้องถิ่นรายนี้กล่าว
ขณะที่แนวร่วมขบวนการระดับหมู่บ้าน เล่าว่า การโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการล็อคเป้า
"เมื่อก่อนเวลาจะก่อเหตุ เช่น ระเบิดบนถนน ถ้ารู้ว่าเป็นรถเจ้าหน้าที่ก็ทำเลย แต่ตอนนี้มีการเช็คข้อมูลละเอียดมากขึ้นว่ามีระดับผู้บังคับบัญชามาด้วยหรือไม่ นั่งฝั่งไหน เมื่อปรับแผนจนพร้อมแล้วจึงจะลงมือ" แนวร่วมระดับหมู่บ้านกล่าว
ส่งสายแฝงตัวรายงานทุกฝีก้าว
แม้แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่เองก็ยอมรับว่า ช่วงหลังผู้ก่อเหตุรุนแรงได้มุ่งเน้นการโจมตีไปที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงมากขึ้น เพราะเป็นเป้าหมายที่ติดตามความเคลื่อนไหวได้ง่าย หากก่อเหตุสำเร็จก็จะส่งผลทางความรู้สึกค่อนข้างรุนแรงกว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติตัวเล็กๆ
"ที่สำคัญบางหน่วยงานมีกลุ่มผู้ก่อการเป็นสายอยู่ในหน่วยเลย พวกนี้ก็จะคอยรายงานความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้ผู้ก่อการระดับปฏิบัติรู้ แล้วก็ก่อเหตุอย่างแม่นยำ"
เจ้าหน้าที่รายเดิมยังวิเคราะห์ด้วยว่า สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่สามารถทำได้แม่นยำและสร้างความสูญเสียได้มากในระยะหลัง ก็คือรูปแบบการจุดระเบิดที่คนร้ายใช้ เป็นการจุดระเบิดแบบลากสายไฟยาวเข้าไปในป่ารกทึบริมทาง การจุดระเบิดด้วยการช็อตไฟฟ้าทำให้มีความแม่นยำสูงและล็อคเป้าได้ดีกว่าการจุดระเบิดด้วยรูปแบบอื่น โดยเฉพาะการโจมตีเป้าเคลื่อนที่อย่างยานพาหนะต่างๆ
ผู้ใช้ความรุนแรง"คุมเกม"
ประเด็นที่ 2 ว่าด้วยความรุนแรงตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นผลจากการเจรจาหรือไม่ ประเด็นนี้แม้ พล.ท.ภราดร ได้ออกมาปฏิเสธหลายครั้ง โดยย้ำว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมดาในช่วงเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพ แต่ก็มีหลายเสียงเสนอมุมมองในทิศทางตรงกันข้าม และเริ่มส่งเสียงดังมากขึ้นเรื่อยๆ
นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ส.ว.จากปัตตานี เชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นผลจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กระทำกันอย่าง "เปิดเผย-เอิกเกริก" และขาดความรอบคอบ จนเปิดช่องให้กลุ่มที่ต้องการท้าทายและปฏิเสธกระบวนการสันติภาพปฏิบัติการด้วยความรุนแรงเพื่อแสดงศักยภาพและส่งสารถึงรัฐบาลไทย
สอดรับกับแหล่งข่าวทางทหารซึ่งมีประสบการณ์เรื่องกระบวนการสันติภาพที่บอกว่า การพูดคุยแบบเปิดหน้าเปิดตัวสู่สาธารณะทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทดสอบความเชื่อมั่นให้ชัดเจนก่อน ทำให้ง่ายต่อกลุ่มต่อต้านในการคัดค้านด้วยการก่อความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ปัญหานับจากนี้ก็คือเมื่อความรุนแรงไม่หยุด ความเชื่อมั่นของสังคมย่อมหมดลง เพราะคนทั่วไปเข้าใจว่าเมื่อเริ่มเจรจาแล้วแนวโน้มสถานการณ์ต้องดีขึ้น แต่เมื่อไม่เป็นเช่นนั้นทำให้ "คนคุมเกม" คือผู้ที่ใช้ความรุนแรง
แกนนำหน่อมแน้มยอมเจรจา
มีข้อสังเกตที่น่าพิจารณาอีกประการหนึ่งคือ การที่โครงสร้างองค์กรลับของกลุ่มขบวนการถูกเปิดเผยจากการริเริ่มกระบวนการสันติภาพ (เช่นการเปิดตัวของ นายฮัสซัน ตอยิบ) น่าจะส่งผลให้สมาชิกในขบวนการรวนเร ไม่เป็นเอกภาพหรือไม่ ประเด็นนี้ ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่สีแดงรายหนึ่ง ยอมรับว่า มีความไขว้เขวเกิดขึ้นบ้างบางส่วนในหมู่สมาชิกขบวนการระดับปฏิบัติ แต่เป็นความไขว้เขวว่าใครคือหัวหน้าขบวนการตัวจริงกันแน่ ไม่ใช่ไขว้เขวว่าจะเลิกต่อสู้ดีหรือไม่
"เมื่อก่อนไม่มีการตั้งคำถาม เพราะมีระบบตัดตอน มีคนพร้อม เพอร์เฟคทุกอย่าง แต่พอแกนนำบางส่วนเปิดตัวเจรจา ทำให้สมาชิกขบวนการบางกลุ่มสับสน แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาถอดใจ กลับกลายเป็นว่ามีการโจมตีแกนนำพวกนั้นว่าหน่อมแน้ม บางคนบอกว่าเป็นเพราะคนเหล่านั้นถูกควบคุมตัวก่อนเจรจาทำให้ต้องจำยอม แต่นั่นย่อมหมายความว่าแกนนำพวกนั้นหมดสภาพในกลุ่มขบวนการแล้ว เพราะคุณทำเพื่อตัวเอง ไม่ใช่ส่วนรวม"
แหล่งข่าวจากภาคประชาสังคมรายหนึ่งที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ กล่าวว่า เท่าที่รับฟังเสียงจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ยังไม่มีเสียงไหนเลยที่บอกว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นแล้ว หรือเริ่มตกลงกันได้แล้ว เพราะสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการคือ "แผ่นดิน" เท่านั้น
"ที่น่ากลัวก็คือเมื่อก่อนเขาต้องแอบกระซิบกัน โดยเฉพาะในหมู่ชาวบ้านที่เป็นมวลชนของขบวนการ แต่พอรัฐเปิดตัวพูดคุยกับแกนนำบีอาร์เอ็น เดี๋ยวนี้เขาเริ่มพูดกันบนโต๊ะ แม้แต่ตามเวทีสัมมนาในโรงแรมยังกล้าพูดออกไมโครโฟนเลยว่าฉันต้องการแผ่นดินคืน นี่คือสิ่งที่ต่างจากอดีตอย่างชัดเจน" แหล่งข่าวรายนี้กล่าว
เดิมพันสูง-ระยะยาวส่อสะดุด
ยุทธศาสตร์ "เปิดหน้าเจรจา" ค่อนข้างชัดเจนตามที่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเคยมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพที่อาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เคยอธิบายเอาไว้ว่าการเปิดวงพูดคุยไม่ว่าจะกับตัวจริงหรือปลอม จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในหมู่ผู้ที่ต่อต้านรัฐและไม่ต้องการสันติภาพด้วยการก่อความรุนแรงตอบโต้ ซึ่งนั่นจะทำให้ฝ่ายรัฐแยกแยะ "กลุ่ม-ฝ่าย" ในขบวนการได้อย่างชัดเจนขึ้นว่าใครคือตัวจริง ใครคือตัวปลอม
แนวคิดของ พล.อ.นิพัทธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะพูดคุยหลักกับแกนนำบีอาร์เอ็นในปัจจุบันนี้ด้วย อาจสรุปได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์ "แยกปลาออกจากน้ำ" รูปแบบหนึ่งนั่นเอง เพื่อให้ฝ่ายรัฐจัดการปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น ถูกกลุ่มมากขึ้น ไม่ผิดฝาผิดตัว
อย่างไรก็ดี ก็มีคำถามจากบางฝ่ายที่มองต่างออกไปว่า การลงทุนเพื่อเป้าหมายที่ว่านี้สูงเกินไปหรือไม่?
ขณะที่อนาคตของการพูดคุยเจรจาแม้จะยังคงเดินหน้าต่อไป ทั้งๆ ที่วันที่ 29 เม.ย.เป็นช่วงใกล้เลือกตั้งใหญ่ของมาเลเซีย แต่ถึงที่สุดแล้ว พล.ท.ภราดร ก็ยอมรับเป็นครั้งแรกระหว่างการให้สัมภาษณ์ "เนชั่นทีวี" เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุรุนแรงหลายจุดและมีป้ายผ้าคัดค้านการเจรจาสันติภาพติดอยู่ทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า หากความรุนแรงยังมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพูดคุยอาจต้องถูกเว้นระยะออกไป และจะไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้เดิม ทั้งนี้เพื่อให้เวลาทั้งสองฝ่ายได้ไปแก้ปัญหาในพื้นที่กันก่อน
สรุปให้เข้าใจสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ พล.ท.ภราดร ยอมรับระดับหนึ่งแล้วว่าหากความรุนแรงไม่ลดระดับลง ย่อมส่งผลต่ออนาคตของกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างแน่นอน และในระยะยาวอาจเกิดภาวะ "สะดุด" ได้เหมือนกัน
นี่คือความเปราะบางของกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่นับวัน "เดิมพัน" ยิ่งสูงมากขึ้นทุกที...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ความเสียหายของรถหุ้มเกราะรีว่า หลังถูกคนร้ายโจมตีด้วยระเบิดลูกใหญ่น้ำหนักเกือบ 100 กิโลกรัมที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อ 10 เม.ย.2556 ทำให้ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานเสียชีวิต (ภาพโดย นาซือเราะ เจะฮะ)