นิติกรรมอำพราง...คำฟ้อง “อุเทน ชาติภิญโญ” ซัดกบอ. เปิดช่องโหว่ให้เอกชน ซื้อที่ดิน
เมื่อวันที่ 25 เมษายน นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการระบายน้ำ ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) สำนักนายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม โดยในคำขอท้ายฟ้อง ข้อ 1.ขอให้ศาลโปรดพิจารณาหรือมีคำสั่งยกเลิกข้อกำหนดและขอบเขตงาน (TOR) ในแต่ละโมดูล ได้แก่ โมดูล A1-A5,B1-B3,A6+B4 ที่กบอ.เป็นผู้ประกาศกำหนด
2.เนื่องจาก TOR ในแต่ละโมดูล กำหนดให้มีการยื่นซองเอกสารเสนอราคาโครงการวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 ณ สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล จึงขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง ได้โปรดมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ กบอ.ชะลอการประมูลไว้ก่อน เพื่อเป็นการระงับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
และ 3. ขอให้ศาลพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบความโปร่งใสในการดำเนินการก่อสร้างตาม TOR ที่กบอ.ได้ดำเนินการแล้ว
เนื้อหาสาระ ที่น่าสนใจในคำฟ้อง ระบุว่า
การที่กบอ.ได้เร่งรีบผลักดันโครงการบริหารจัดการน้ำให้เกิดขึ้น โดยวางข้อกำหนดและขอบเขตของงาน TOR ซึ่งที่ประกาศออกมาในแต่โมดูล ได้แก่ โมดูล A1-A5,B1-B3,A6+B4 มีข้อกำหนดเฉพาะงานที่คล้ายคลึงกัน เช่น โมดูล A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสม และยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก ซึ่งขอบเขตงานหลักที่กล่าวไว้ในโมดูลนี้ ให้ผู้รับจ้างต้องดำเนินงานต่างๆ กล่าวคือ
IEE/EHA วิเคราะห์ความคุ้มค่า ไม่ได้ทำ!
ประการที่หนึ่ง (ตามข้อ 4.1) การทำการศึกษา โดยทำการศึกษาถึงความเหมาะสมของโครงการ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง ในกรณีที่หากโครงการใดๆ ก็ตามในโมดูลนี้อยู่ในข่ายที่ต้องจัดทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHA) ตามพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 และข้อกำหนดหรือกฎหมายหรือประกาศระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผู้รับจ้างต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบดังกล่าวข้างต้น รวมทั้งต้องจัดทำมาตรฐานป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ทั้งนี้แผนการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบด้านต่างๆ มุ่งให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมให้น้อยที่สุด และเมื่อทำการศึกษาแล้วเสร็จต้องได้รับความเห็นชอบตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วจึงดำเนินการตามแผนแก้ไขและบรรเทาผลกระทบด้านต่างๆ
จะเห็นได้ว่า ข้อกำหนดและขอบเขตประการนี้ทำให้บริษัทผู้เข้าประมูลต้องทำการศึกษาในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวเอง โดยรัฐเปิดโอกาสและให้อำนาจแก่บริษัทเอกชนอย่างเต็มที่ ซึ่งในขณะนี้ไม่ปรากฏว่า ๆได้มีการจัดทำรายการการวิเคราะห์ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนแต่อย่างใด
และการวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านเศรษฐศาสตร์ และการเงินของแผนการลงทุนของโมดูล ซึ่งต้องวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน และด้านสังคมของแผนการลงทุนโดยพิจารณาทั้งแบบแยกรายโครงการและแบบรวมทั้งโมดูล โดยใช้ตัวชี้วัดต่างๆ ซึ่งจากข้อกำหนดดังกล่าว ก็ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้ดำเนินการศึกษาถึงความคุ้มค่าดังกล่าวแล้วเช่นกัน จึงอาจทำให้การคัดเลือกผู้รับจ้างไม่โปร่งใส และอาจเกิดการทุจริตได้ อันจะนำมาซึ่งความเสียหายที่จะเกิดจากการสูญเสียงบประมาณที่มาจากการเสียภาษีของประชาชนจำนวนมาก
แปลก!ไม่ออกแบบก่อนประมูล
ประการที่สอง ตามข้อ 4.2 การออกแบบ กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องดำเนินการสำรวจ ออกแบบ หรือทบทวนรายละเอียดตามผลการศึกษาที่ได้ทำการศึกษา เพื่อให้ได้รูปแบบโครงสร้างและรายละเอียดต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยรายละเอียดของตัวเขื่อน อาคารระบายน้ำล้น อาคารท่อส่งน้ำ และอาคารประกอบอื่นๆ เพื่อใช้ส่งน้ำในการชลประทาน การอุปโภค การรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหากมีศักยภาพและมีความจำเป็นในภายหลัง
โดยข้อกำหนดดังกล่าวนี้ มีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้รับจ้างเข้าใจความหมายและนำไปปฏิบัติได้ อย่างถูกต้อง ทั้งรัฐได้กำหนดให้บริษัทเอกชนผู้รับจ้างเป็นผู้ดำเนินการออกแบบเองเสียทั้งหมด โดยมิได้มีการกำหนดแบบให้เอกชนดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์การออกแบบของหน่วยงานราชการไทย
จัดหาที่ดิน เปิดช่องทำสัญญานิติกรรมอำพราง
ประการที่สาม ตามข้อ 4.3 การจัดหาที่ดินและการขออนุญาตใช้พื้นที่ กำหนดให้ผู้รับจ้างต้องร่วมดำเนินการจัดหาที่ดิน หรือประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตใช้พื้นที่ของทางราชการ เพื่อให้ได้มาซึ่งพื้นที่สำหรับก่อสร้างในการดำเนินงานโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วง
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนของข้อที่ 3 ซึ่งระบุว่า
“กรณีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนและสามารถตกลงราคากันได้ ให้ผู้รับจ้างจ่ายค่าจัดหาที่ดิน รวมทั้งค่าดำเนินการต่างๆ ทั้งหมด และให้มีการโอนซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น เป็นของผู้ว่าจ้างโดยตรง”
ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐให้อำนาจบริษัทเอกชน ในการจัดหาที่ดินและกำหนดราคาซื้อขายเอง โดยรัฐมิได้กำหนดราคากลางให้เอกชน จึงอาจก่อให้เกิดการทำสัญญาที่อาจเป็นนิติกรรมอำพรางขึ้นมา เช่นนี้ย่อมทำให้รัฐอาจได้รับความเสียหายสูญเสียเงินงบประมาณจำนวนมหาศาล
ประการที่สี่ ข้อกำหนดในโมดูลข้อ 4.5 การมีส่วนร่วมของประชาชน กำหนดให้ผู้ว่าจ้างต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในแต่ละขั้นตอน ซึ่งจากการที่กบอ.ได้เปิดให้บริษัทเอกชนทำการประมูลราคาวันที่ 3 พฤษภาคม 2556 โดยที่ยังมิได้ปรากฏว่าได้ดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการจัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 มาตรา 58 และมาตรา 87 อันเป็นการขัดต่อสิทธิของประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่
คำฟ้องยื่นศาลปกครอง
เนื้อหา ในTOR. เรื่มจากหน้า 1.
เนื้อหาหน้าที่ 2.
หน้า 3 หน้านี้ ใครไม่อ่าน จะเสียดาย โดยเฉพาะ ข้อ 4.1.3 และ ข้อ4.3
หน้าที่ 4 มีดีที่ 4.3 ( 3 )และ ( 4 )