ชงเลื่อนเกษียนวัยเป็น 70 ปี แก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัย
‘ประเสริฐ ณ นคร’ แนะรัฐเพิ่มอายุการทำงานเป็น 65-70 ปี แก้ปัญหาผู้สูงอายุล้น เชื่อยังมีศักยภาพพัฒนาชาติ เอ็นจีโอจี้ ‘รมว.คลัง’ เปิดกองทุนการออมแห่งชาติรองรับแรงงานนอกระบบ-เกษียณ
วันที่ 26 เม.ย. 56 จัดเสวนา ‘สังคมไทยจะก้าวไปอย่างไรบนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร’ ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2556 ปาฐกถาพิเศษ ‘จากอคติแห่งวัย สู่มโนทัศน์ใหม่ของนิยามผู้สูงอายุ’ ใจความตอนหนึ่งว่า การแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุมากในไทย คือ การเลื่อนอายุเกษียณราชการออกไปเป็น 65-70 ปี เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีร่างกายแข็งแรงและมีศักยภาพในการทำงานอยู่ช่วยงานในราชการของชาติต่อไป เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่เลื่อนอายุเกษียณราชการออกไปครั้งละ 2 ปี แม้จะติดปัญหาว่าหากมีการยืดอายุเกษียณอาจทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเติบโตในหน้าที่การงาน ซึ่งยังมีคนที่คิดเช่นนี้อยู่ แต่หากคิดนอกกรอบจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติมาก
“คนอายุ60-70 ปีที่ถือว่าเป็นคนแก่ ทำอะไรไม่ได้ และต้องใช้งบประมาณชาติมาอุดหนุน แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่าคนกลุ่มดังกล่าวยังทำงานได้ ซึ่งหากมีการยืดอายุเกษียณออกไปอีก รัฐบาลจะลดงบประมาณช่วยเหลือผู้สูงอายุลงได้” ผู้สูงอายุแห่งชาติ กล่าว
จากนั้นในเวทีเสวนารศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณะดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและสังคมไร้บุตร ทำให้ในอนาคตผู้สูงอายุจะไม่มีที่พึ่งพิง นอกจากหลักประกันจากภาครัฐ เช่น บำเหน็จ บำนาญ กองทุนประกันสังคม ซึ่งรัฐบาลพยายามปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ในต่างประเทศได้มีการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว เช่น การปรับเปลี่ยนอายุเกษียณให้มากขึ้น เพิ่มแรงจูงใจอายุเกษียณช้าลง พัฒนาความสามารถผู้สูงอายุ หรือแก้กฎหมายบำนาญ
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มอายุเกษียณมีผลดีต่อผู้สูงอายุให้มีงานและรายได้เลี้ยงดูตนเอง แม้จะกระทบกับนายจ้างบ้าง เพราะต้องสมทบเงินให้กองทุนส่วนหนึ่ง ส่วนในเชิงเศรษฐกิจมหภาคจะทำให้รักษาศักยภาพเศรษฐกิจระยะยาวได้ แต่หากไทยไม่มีการจัดการศักยภาพผู้สูงอายุที่ดีจะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจต่างกันถึง 1% ซึ่งถือว่ามากสำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งผลักดันปัญหาให้เป็นนโยบายสาธารณะโดยเร็ว
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปี 2573 ไทยจะมีอัตราผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น 25% ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งผลักดันนโยบายพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้สูงวัยในท้องถิ่นด้วยการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนให้เป็น Intermediate Care แต่สิ่งสำคัญต้องให้คนในชุมชนดูแลกันเองส่วนการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุในชุมชนนั้น มองว่าขณะนี้มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) อยู่ราว 7,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถเข้าไปดูแลผู้สูงอายุตามครัวเรือนได้ แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงก็จะนำส่งโรงพยาบาลชุมชนต่อไป
รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะถูกมองในแง่ลบ ทั้งในแง่ของไม่สามารถทำงานได้ สุขภาพร่างกายเสื่อมโทรม และรูปลักษณ์ภายนอกที่เหี่ยวย่น แต่จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุทั้งในเขตชนบทและเมือง สามารถจำแนกคุณค่าของผู้สูงอายุได้ คือ แก่ช้า มีคุณค่า และสุขภาวะดี ซึ่งเป็นมโนทัศน์ใหม่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องหันมาให้ความสำคัญกับความหมายของผู้สูงอายุใหม่
ขณะที่นางอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวเร่งรัดให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) จัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ตามกฎหมาย เพื่อเป็นเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบและเกษียณอายุ พร้อมไม่เห็นด้วยที่มีการบูรณาการกอช.กับกองทุนประกันสังคมม.40 เพราะไม่สามารถเป็นทางเลือกที่ดีได้.