ชำแหละแผนบริหารน้ำ หลายโครงการ "อกหัก" ในอดีต ถูกหยิบมายำรวมกัน
'หาญณรงค์' ยันหลายโครงการ "อกหัก" ในอดีตแล้วถูกนำมายำรวมกัน" แนะกลับไปทำตามขั้นตอน รับฟังความคิดเห็นปชช. ให้เป็นแผนที่สอดคล้องกับแผนชุมชน
วันที่ 26 เมษายน คณะทำงานวิชาการ ประเด็น การบริหารการจัดการน้ำและแก้ไขอุทกภัยอย่างมีส่วนร่วมและบูรณาการ จัดเวทีเสวนา "ช่องว่างของแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำของรัฐ" ณ ห้องประชุมสารนิเทศ ชั้น 2 หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ นายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม นายประเชิญ คนเทศ ปรึกษาชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย ) ร่วมเสวนา
นายหาญณรงค์ กล่าวถึงโครงการทั้ง 9 โมดูล ที่ทางรัฐได้นำเสนอเพื่อเป็นการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมนั้น ไม่สามารถตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เท่าที่ควร เนื่องจากเป็นแผนที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจารณ์หรือเสนอแนะทางออกในการแก้ปัญหา ทำให้แต่ละพื้นที่เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาผลประโยชน์ของตนเองจากข้อมูลที่มีแก้ปัญหาอุทกภัยตามภูมิศาสตร์ในพื้นที่แบบต่างคนต่างทำ
"เมื่อประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเสนอทางออกของปัญหาอย่างเสรี ขณะที่รัฐบาลวางแผนบริหารจัดการทั้ง 9 โมดูลออกมาจึงไม่สอดคล้องกับการปรับตัวและแผนรับอุทกภัยของชุมชนหลายพื้นที่ อีกทั้ง หลายโครงการไม่เกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม แต่เป็นโครงการที่ "อกหัก" ในอดีตแล้วถูกนำมายำรวมกัน"
นายหาญณรงค์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ชัดแล้วว่าโครงการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนตามที่เคยให้เหตุผลไว้ในเมื่อครั้ง พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ฉะนั้น ควรกลับไปทำตามขั้นตอน เน้นรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อให้เป็นแผนที่สอดคล้องกับแผนชุมชน และปรับแก้โครงการใหม่ เพราะเบิกงบประมาณโยนความรับผิดชอบให้บริษัทรับเหมาก็อาจเกิดปัญหาทิ้งงานกลางค้นได้ อย่างที่เคยมีตัวอย่างมากมายในอดีต
ด้านนายสุรจิต กล่าวว่า คนไทยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการแก้ปัญหาน้ำแนวราบ และหลักภูมิศาสตร์ด้านป้องกันน้ำท่วมน้อย เช่นเดียวกับการสื่อสารให้ภาคประชาชนมีความเข้าใจในแผนการบริหารของรัฐบาลก็มีน้อยมาก ส่งผลต่อทัศนะคติและความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานรัฐ ขณะที่หน่วยงานรัฐบางแห่ง เช่น คณะกรรมการลุ่มน้ำก็เหมือนมีไว้โชว์เท่านั้น
"กรรมการลุ่มน้ำในขณะนี้ประชุมไปตามงบประมาณที่มีทำหน้าที่กำกับดูแล แต่ไม่เปิดโอกาสได้ร่วมหาแนวทางแก้ไขและเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนอย่างแท้จริง เหมือนมีไว้ "โชว์" สร้างความมั่นใจกับภาคเอกชน กับต่างประเทศว่า มีกรรมการดูแลทุกลุ่มน้ำเท่านั้น จึงอยากให้ภาครัฐเพิ่มบทบาทคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อรักษากลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีความสอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานและภาครัฐ"
แนะหยิบข้อเสนอไจก้ามาใช้
ขณะที่นายประเชิญ กล่าวว่า ช่องว่างที่สำคัญของที่สุด คือ การสื่อสารระหว่างรัฐและประชาชนถึงแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของรัฐ จะเห็นได้ว่าประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นและข้อโต้แย้งนโยบายน้อยมาก เข้าหาข้อมูลจากภาครัฐยาก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่เคยมีรายละเอียดการชดเชยที่เป็นมาตรฐาน และบางโครงการในหลายพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนภูมิศาสตร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับผู้อยู่ในชุมชนใกล้เคียง จึงควรศึกษาผลกระทบของแต่ละโครงการใหม่
ผู้แทนสภาลุ่มน้ำท่าจีน กล่าวว่า ทางภาครัฐต้องมีความโปร่งใสในเรื่องของใช้งบประมาณว่า นำมาใช้อย่างไร เหมาะสมหรือไม่ และแต่ละส่วนมีการบริหารจัดการงบอย่างไร ที่สำคัญควรพิจารณาข้อเสนอของ "ไจก้า" ที่มีข้อมูลเสนอว่า การบริหารจัดการและแก้ปัญหาอุทกภัยของไทยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณถึง 3.5 แสนล้านบาทก็ได้ ใช้งบเพียงแสนกว่าล้านก็เพียงพอ เนื่องจากสามารถใช้มาตรการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้างได้ในหลายโครงการ และหันมาบริหารจัดการน้ำเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลบางส่วนเป็นต้นเหตุปัญหาภัยธรรมชาติที่ผ่านมา พร้อมทั้งให้ประชาชนร่วมกำหนดส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ใช่ภาครัฐหรือนักวิชาการกำหนดอยู่ฝ่ายเดียว
ส่วนนายสุริชัย กล่าวว่า แผนโครงการทั้ง 9 โครงการ ไม่ได้สะท้อนการแก้ปัญหาในอุทกภัยในปี 2554 เท่าใดนัก แต่กลับสะท้อนภาพการดำเนินงานของราชการที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ทั้งความรู้เชิงนิเวศที่ไม่ได้รับความใส่ใจ ในส่วนของการลงทุน 3.5 แสนล้านบาทที่มาจากภาษีของประชาชนมา ดังนั้น ในบริบทของโครงการที่มีงบของประชาชนเป็นทุนพัฒนา หลักการแก้ปัญหาก็ควรให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นมีสิทธิมีเสียงในการแก้ปัญหาร่วมกับรัฐบาล
"โอกาสประเทศไทยในการแก้ปัญหาของประเทศชาติขึ้นอยู่กับการขจัดอุปสรรคในการขาดความมีส่วนร่วมของประชาชน เริ่มต้นที่แผนบริหารจัดการและแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ภาครัฐควรให้สถาบันการศึกษาต่างๆ มาร่วมพัฒนและศึกษาแผนงานโดยละเอียดและร่วมเสนอแนะแก้ไข เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้และเข้าใจในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดแผนจัดการน้ำแบบฉบับ "ไจก้า" ประหยัดงบฯ ได้ถึง 70%
เสียงวิพากษ์ VS ข้อสังเกต นักวิชาชีพวิศวกร ต่ออภิมหาโปรเจ็กต์น้ำ
หาญณรงค์ ชี้แผนสร้าง 3 อ่าง ลุ่มน้ำยม มูลนิธิอุทกพัฒน์-สสนก.แถลงฝ่ายเดียว
ปลอดประสพ เคาะแผนปลูกป่างบฯ หมื่นล้าน ตั้งคกก. 2 คณะบริหาร
วสท.ชี้ข้อกำหนดโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านยังไม่รอบคอบ หวั่นได้งานไม่คุ้มเงิน
กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติ สผ. แนะ การสร้างเขื่อนไม่ควรกระจุกในลุ่มน้ำในลุ่มน้ำหนึ่ง