“นที” ยืนกรานไม่ออกเกณฑ์ beauty contest ทีวีดิจิตอลช่องสาธารณะ
“นที ศุกลรัตน์” ประธาน กสท. ยืนกรานไม่ออกเกณฑ์ beauty contest ทีวีดิจิตอลสาธารณะ อ้างมี กม.-ประกาศเดิมอยู่แล้ว เล็งแจกไลเซ่นส์ทีวีสาธารณะทีละช่อง เริ่ม มิ.ย.นี้ ครวญรัฐถือทีวีแค่ 25% จะให้ปฎิรูปสื่อไปถึงไหน
(นที ศุกลรัตน์ - ขอขอบคุณภาพจากเว็บไซต์สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์)
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2556 ที่รัฐสภา พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า กล่าวชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการพิจารณา ศึกษา ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานด้านสิทธิและเสรีภาพ วุฒิสภา ที่มีนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ใจความว่า ยืนยันว่ายังไม่ได้ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ (ไลเซ่นส์) กับช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส (2 ช่อง) เป็นเพียงการบังคับให้ผู้ประกอบการรายเดิมออกอากาศคู่ขนานในระบบดิจิตอล โดยไทยพีบีเอสทำข้อตกลงกับ กสท.ว่าจะคืนคลื่นอนาล็อกในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่จะคืนแบบเป็นเฟสซิ่ง คือคืนในพื้นที่ๆ มีความพร้อมกัน ไม่ใช่คืนทั้งประเทศในคราวเดียว
“เหตุที่ กสท.บังคับให้รายเดิมทั้ง 3 ราย มาออกในระบบใหม่ เพื่อชักชวนลูกค้าจากระบบเดิมของเขา มาสู่ระบบใหม่ ที่สำคัญ เขาจะไม่ได้รับสิทธิใดๆ เพิ่มเติม ซึ่งการออกอากาศคู่ขนาน จะทำให้ระบะเวลาเปลี่ยนผ่านสั้นลง เพราะการที่รายเดิมมาออกดิจิตอลก่อน จะทำให้คนรู้สึกว่า การเปลี่ยนผ่านไม่ได้ทำให้สูญเสียใดๆ” พ.อ.นทีกล่าว
พ.อ.นที กล่าวว่า ส่วนการจัดสรรไลเซ่นส์ทีวีดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ อีก 8 ช่องที่เหลือ จะเริ่มในเดือน มิ.ย.นี้ แต่จะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละช่อง ที่มีเสียกเรียกร้องให้ออกประกาศว่าด้วยหลักเกณฑ์การคัดเลือก (beauty contest) จริงๆ ก็มีอยู่ในประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ.2555 ในภาคผนวก ก. รวมถึง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 17 อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเปิดให้ยื่นขอไลเซ่นส์แต่ละช่อง กสท.จะออกประกาศเชิญชวนอีกครั้ง โดยจะเขียนรายละเอียดการคัดเลือกไว้ในนั้น ซึ่งยืนยันว่าจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแน่นอน แม้จะไม่ถึงขั้นออกเป็นประกาศ กสทช.ก็ตาม
ประธาน กสท.ยังกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปสู้ดิจิตอล เป็นกระบวนการที่ต้องประนีประนอม ทุกคนต้องให้ความร่วมมือ ไม่เช่นนั้นจะไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้ วันนี้เราจะเปลี่ยนจากที่เดิมรัฐถือครองฟรีทีวี ทั้ง 6 ช่อง ทั้ง 100% มาเป็นมีฟรีทีวี 48 ช่อง ที่รัฐถือครองได้สูงสุดแค่ 25% ในส่วนของบริการสาธารณะ 12 ช่อง เท่านั้น นอกจากนี้ การกำหนดอายุใบอนุญาตทีวีดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ครั้งนี้ไว้แค่ 4 ปี เพื่อที่หากมันผิดทิศผิดทางจะได้แก่ไขได้ แล้วรายเดิม 3 ราย ที่ถูกบังคับให้ออกอากาศในระบบดิจิตอลเลย ก็ไม่ได้การันตีว่าจะได้ไลเซ่นส์ในอนาคต ทั้งนี้ยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างมีผลการศึกษารองรับ และทำตามคู่มือของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)
“ผมเองก็มีเพื่อนฝูงมากมายในกองทัพ เขาก็อยากจะได้สักช่อง แต่มันเหลือให้ช่องเพื่อความมั่นคง แค่ช่องเดียว แรงกดดันมาที่ผมมหาศาล พวกท่านก็อย่าได้คาดหวังมาก เพราะผมก็ทำลายความหวังทุกคนไปเยอะแล้ว จากเดิมรัฐมีฟรีทีวี 100% นี่เหลือเต็มที่แค่ 25% และรัฐก็ไปขอบริการธุรกิจหรือบริการชุมชนไม่ได้ ผมก็ไม่แน่ใจว่าอยากจะปฎิรูปไปถึงไหน” พ.อ.นทีกล่าว