‘วิชา’ เผยระบบคัดกรอง ป.ป.จ.เข้ม เชื่อหัวคะแนน-นายทุนหมดสิทธิ์
ป.ป.ช.แจงละเอียดระบบคัดเลือก ป.ป.จ. ดึงข้อมูล 'สันติบาล ศาล อัยการ' วางระบบป้องกันการจัดตั้งนายทุน หัวคะแนน เข้าสมัคร ด้านหมอพลเดช การันตีได้คนดี ชวนภาคประชาสังคมจับตา
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการคณะผู้ประสานงานสนับสนุนการสรรหา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด (ป.ป.จ.) ณ โรงแรมอลิซาเบธ กรุงเทพฯ โดยมี นายเกียรติศักดิ์ พุฒพันธุ์ เจ้าพนักงาน ป.ป.ช. บรรยายกระบวนการสรรหาในเบื้องต้นว่า นับตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.นี้ สำนักงาน ป.ป.ช.จะเริ่มต้นกระบวนการสรรหา กรรมการ ป.ป.จ.ระยะที่หนึ่ง ในพื้นที่ 32 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก นครปฐม สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ จันทบุรี ชัยนาท ชุมพร เชียงราย ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ เพชรบุรี แพร่ ยะลา ร้อยเอ็ด ลพบุรี ลำปาง ศรีษะเกษ สระแก้ว สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี
โดยที่กระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.มี 2 ขั้นตอน คือ คัดเลือกคณะกรรมการสรรหาจากผู้แทนประชาชนในแต่ละจังหวัดจาก 9 กลุ่มสาขาอาชีพ ประกอบด้วย 1.สมาคมหรืรอชมรมครู อาจารย์ด้านการศึกษา 2.สภาทนายความ ด้านกฎหมาย 3.สมาคมหรือชมรมพนักงานรัฐวิสาหกิจ 4.สภาหอการค้าจังหวัดหรืออุตสาหกรรมจังหวัด 5.กลุ่มอาสาสมัคร 6.องค์กรเอกชน 7.องค์กรเกษตรกร 8.สมาคมหรือชมรมสื่อมวลชน 9.หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด
หลังจากนั้นขั้นที่สอง คณะกรรมการสรรหาฯ จะดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครที่มีความเหมาะสม ตามระเบียบที่วางไว้ และเปิดโอกาสให้ประชาชนให้ข้อมูล ร้องเรียนผู้สมัครได้ จากนั้นจะเสนอชื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาตามดุลยพินิจและข้อมูลการร้องเรียน เพื่อแต่งตั้งเป็น กรรมการ ป.ป.จ. ทั้งนี้ สำหรับ ป.ป.จ.ระยะที่สอง อีก 44 จังหวัด จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 24 ก.ค.นี้ และคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นประมาณเดือน ส.ค.นี้
นายเกียรติศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขั้นตอนที่สำคัญ ต้องทำให้กรรมการสรรหาฯ เข้าใจบทบาทของตนเอง และทำให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ก่อนหน้านี้ มีโครงการ ป.ป.ช.นำร่อง เริ่มลงพื้นที่แต่ละจังหวัดมา 4-5 ปี สร้างเครือข่ายเบื้องต้น ได้บทเรียนมาพอสมควร จึงมีแนวทางในการวางระบบให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นระบบที่คัดกรองคนดีมาร่วมทำงานในพื้นที่ตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติตั้งไว้
"คณะทำงานมั่นใจ 90% ว่าจะเป็นระบบที่สกรีนได้ดี เนื่องจากมีคณะกรรมการจากส่วนกลางตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเห็นว่า เป็นระบบที่ดีที่สุดที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมและยากแก่การจัดตั้ง หรือล็อบบี้คน
อย่างไรก็ตาม เมื่อคัดเลือกกรรมการ ป.ป.จ.แล้ว หากพบว่าไม่สุจริต ประพฤติเอนเอียง จะมีมาตรการรองรับแน่นอน" นายเกียรติศักดิ์ กล่าว และว่า คุณสมบัติกรรมการ ป.ป.จ.ที่ตั้งไว้ ค่อนข้างบริสุทธิ์ หากเป็น "คนบาปในคราบนักบุญ" ก็ไม่ต้องการ
"แม้จะเป็นเรื่องใหม่ ป.ป.ช.อาจไม่เคยมีประสบการณ์ในระดับจังหวัดมากนัก แต่คณะทำงานก็มั่นใจในระบบการคัดเลือก จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจในกระบวนการตั้งแต่ต้น และเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลมากที่สุด"
การันตีมีวิธีป้องกันหลายชั้น
ขณะที่นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนพัฒนา กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงความมั่นใจในการสรรหา กรรมการ ป.ป.จ.ว่า มองจากประสบการณ์ที่เคยทำงานระดับพื้นที่เห็นว่า การออกแบบระบบของ ป.ป.ช.ครั้งนี้ การันตีได้ว่าค่อนข้างดี ป้องกันหลายชั้น มีคณะกรรมการระดับชาติคัดกรองอีกครั้งหนึ่ง และหากภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมด้วยจะประสบความสำเร็จได้ แต่หากประชาชนมองในทางลบและหมดหวังเท่ากับว่ายอมแพ้กับการทุจริตคอร์รัปชั่น
"ผมเข้าใจว่าคนที่เคยผ่านประสบการณ์ในทางลบมาคงหมดหวังกับกระบวนการเช่นนี้ ตามที่มีกระแสข่าวมาว่าหลายจังหวัดได้จัดเตรียมคนมาลงสมัครไว้แล้ว อย่างนั้นก็สุดโต่งเกินไป ขอโอกาสให้ ป.ป.ช.ที่ถอดบทเรียนจากความล้มเหลว และระบบอุปถัมภ์ที่ถักทอหนาแน่น คิดระบบใหม่ เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมชี้เบาะแส จับตาและเฝ้าระวังการคัดเลือก จนเรียกได้ว่าเป็นการเมืองภาคประชาชนมากกว่าการเลือกตั้งแบบการเมืองตัวแทน ฉะนั้น เมื่อเป็นกฎหมายที่อย่างไรก็ต้องทำ ผมว่ามาช่วยกันคัดสรรให้ได้คนดี มีระบบที่โปร่งใสจะดีกว่า"
ขอเครือข่ายหมาเฝ้าบ้านจับตาเลือก ป.ป.จ.
ด้านศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่มีข้อกังวลว่าจะมีนายทุน ผู้มีอิทธิพล หัวคะแนนถูกจัดตั้งเข้ามาสมัครเป็น กรรมการ ป.ป.จ.นั้น ตามกฎหมาย มาตรา 103 (11) และ (14) ได้วางกรอบคัดกรองเบื้องต้นแล้วชั้นหนึ่ง แต่ประชาชนจะรู้ดีที่สุด จึงเปิดโอกาสประมาณ 2 อาทิตย์ ให้แจ้งเบาะแส ร้องเรียนเกี่ยวกับตัวผู้สมัครที่ไม่เหมาะสมและนำไปตรวจสอบ กลั่นกรอง แต่หากว่าในจำนวนทั้งหมดนั้นยังไม่มีผู้เหมาะสม คณะกรรมการสามารถตีกลับให้คัดเลือกใหม่ได้
"ผมได้ขอร้องด้านสันติบาล ศาล อัยการ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องที่มีข้อมูล ให้นำส่งมาเพื่อพิจารณาคัดเลือก และขอความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 32 จังหวัดให้ช่วยพิจารณาคนที่ดีที่สุด เป็นกลาง ไม่เข้าข้างใคร และต้องไม่เป็นตัวแทนของนักการเมืองมาทำหน้าที่กรรมการ ป.ป.จ. อีกทั้งได้ระบุในคุณสมบัติว่าหากเป็นผู้มีผลงานเกี่ยวข้อง หรือส่งเสริมการป้องกัน ปราบปรามทุจริต เช่น โครงการเครือข่ายในจังหวัด โครงการหมู่บ้านสีขาว จะนำมาพิจารณาเพิ่มเติม"
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวด้วยว่า การคัดเลือกครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่จะมี ป.ป.ช. ในระดับจังหวัด และหวังว่าระบบการกลั่นกรองจะทำให้ได้คนดีที่ประชาชนมั่นใจได้ ซึ่งตนอยากได้เครือข่ายเฝ้าระวังการคอร์รัปชั่นที่มีการขับเคลื่อนอยู่ เช่น เครือข่ายหมาเฝ้าบ้าน อยากขอความร่วมมือมาร่วมเปลี่ยนบทบาทพิเศษ นอกเหนือจากจับตาดูการทุจริต ให้มาจับตาดูการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.ครั้งนี้เป็นพิเศษด้วย
ภาพประกอบบางส่วนจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดลำปาง