พลิกปูมชีวิต 3 ศูนย์ "ไกรสร จันศิริ" ราชาทูน่ากระป๋องโลก "โต" จาก "วิกฤต"
ในงานขอบคุณผู้บริจาคสมทบทุนพิมพ์หนังสือ “นิทานคุณธรรม” ฉบับอภินันทนาการ วันก่อน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ไกรสร จันศิริ” ประธานกรรมการ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ หนึ่งในผู้บริจาคได้รับเกียรติให้ขึ้นกล่าวบนเวที
"สำนักข่าวอิศรา" เห็นว่า มีความน่าสนใจ จึงขอนำเสนอแบบคำต่อคำ
ไกรสร กล่าวถึงปรัชญาการดำเนินชีวิตข้อหนึ่งว่า ที่ทำให้สร้างธุรกิจใหญ่โตจนเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องอันดับ 1 ของโลกในวันนี้ได้ ก็เพราะ "แผ่นดินไทย" ดังนั้นจึงยึดหลักการตอบแทนต่อสังคม ด้วยการทำบุญบริจาคเงินเพื่อการกุศล โดยเฉพาะให้ทุนการศึกษา
เพราะชีวิตของตัวเอง ตั้งแต่เด็กไม่ได้เรียนหนังสือเท่าที่ควร...
ในวัยกว่า 78 ปี มหาเศรษฐีอาหารทะเลแช่แข็งย้อนเล่าชีวิต
“ผมเริ่มชีวิต สร้างเนื้อสร้างตัวจากสาม “ศูนย์” หนึ่ง 0 ความรู้ ผมเรียนจากโรงเรียนจีน เรียนหนังสือจีนไม่กี่ปี อายุ 16-17 ก็ออกมาทำงานช่วยครอบครัว หนังสือไทยผมไม่มีโอกาสเรียน แม้แต่วันเดียว
สอง 0 เงินทุน ผมมือเปล่า ๆ ไม่มีสักบาท ปี 1965 ผมเปียแชร์ได้หนึ่งหมื่นบาทเป็นทุนสร้างกิจการของตัวเอง
สาม 0 เครดิต แต่ไม่ใช่หมายความว่า ผมเป็นคนเกเร ไม่ใช่ แต่เพราะผมจน ขนาดจะจ่ายดอกเบี้ย 2 บาทต่อเดือน ยังกู้เงินใครไม่ได้เลย
ชีวิตผมเริ่มจากอย่างนี้ ผมเริ่มทำงานจากเป็นเด็กชงน้ำชา ส่งจดหมาย รับส่งสินค้า ทำทุกอย่าง คนจีนเขาเรียกจับกังน่ะ ต่อมาก็เป็นเสมียน เป็นเซลส์แมน จนถึงปี 1965 ผมเปียแชร์ได้หนึ่งหมื่นบาท รวมกับเพื่อนสองคน คนละหมื่นห้า ตั้งบริษัทแรก ทุนจดทะเบียนสองแสนบาท จริง ๆ มีสี่หมื่นบาทเอง ผมก็มีเด็กผู้หญิงช่วยพิมพ์ดีดเฝ้าบริษัท กับเด็กอีกคนหนึ่งส่งจดหมาย ทำความสะอาด
บริษัทผมนำเข้าสีพ่นรถยนต์ ยาขัดเงารถ เป็นต้น ต่อจากนั้นก็มีพรรคพวกชวนผมไปเปิดอู่ซ่อมรถ สุพินเซอร์วิส ที่สะพานควาย ให้ผมเป็นกรรมการผู้จัดการ
ปี 1973 เพื่อนทีมเดียวกันเขาชวนผมไปตั้งบริษัท ไทยรวมศิลป์ค้าผ้าที่สำเพ็ง ก็ให้ผมเป็นกรรมการผู้จัดการเหมือนกัน
จนถึงปี 1977 ไม่เคยคิดว่าจะเลี้ยวเข้ามาในวงการอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋อง ผมเริ่มจากมีคนงาน 150 คน ปีแรกมีรายได้ (ไม่ใช่กำไร) 1 ล้านยูเอสดอลล่าร์ ผ่านมาถึงวันนี้ 36 ปีแล้ว ระหว่าง 36 ปีนี้ มีสองวิกฤตการเงิน ซึ่งเป็นโอกาสผม ผลักดันให้กิจการผมเจริญเติบโตยิ่ง
ปี 1997 รายได้ กำไรของบริษัทผมเพิ่มขึ้นมาเท่าตัว ราคาหุ้นจากสามบาทกว่า สี่บาท ขึ้นไปถึงสิบเจ็ดสิบแปดบาท เมื่อวิกฤตต้มยำกุ้งปี 97 ปีนั้น ผมมีโอกาสไปเทคโอเวอร์ บริษัท ชิคเก้น ออฟ เดอะ ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่อันดับสามของอเมริกา จึงเป็นครั้งแรกที่ผมมียี่ห้อ มีแบรนด์ของผมเอง
เพราะผมไม่มีเงินกู้เป็นยูเอสดอลลาร์ ทั้งที่ที่ปรึกษาการเงิน เขาเสนอให้กู้เป็นยูเอสดอลลาร์ทุกวันเลย แต่ผมไม่เห็นด้วย
มีสัญญาจ้างเขาหนึ่งปี ผมทนที่ปรึกษานี้มาหกเดือน เลิกจ้างเลย ลูกชายมาถามว่า “ป๊า เกิดอะไรขึ้น” ผมบอกว่า พวกนี้มันไม่รู้จักตาย สุดท้ายไม่กี่เดือนบริษัทที่ปรึกษานั้นล้มละลาย ตัวเองยังไปไม่รอด
ปีนั้นผมเตรียมโรงงานของผมอยู่ที่มหาชัย ผมจะไปซื้อที่ดินที่เพชรบุรี จะย้ายโรงงานไปอยู่ที่เพชรบุรี ต้องลงทุนหนึ่งพันล้านบาท เวลานั้นนะครับ ก็มีแบงก์ฝรั่งแบงก์หนึ่ง รับไปศึกษา อนุมัติแล้ว ส่งผู้ใหญ่จากฮ่องกงมาหาผม เอาเงินภาษีจากแบงก์อื่นมาให้ได้
"ผมเรียนเขาว่า ขอบใจ แต่เราขอไม่รับ บอกว่า ผมโรงงานยังไม่ต้องรีบสร้าง ผมก็ไม่เข้าใจ ทำไมผมถึงจะไม่กู้ยูเอสดอลล่าร์ ถ้าผมกู้ วันนี้ผมคงไม่มีโอกาสมายืนอยู่ที่นี่ คงเจ๊งไป ผมถึงกลัวประชุมกับพวกที่ปรึกษาไปเดี๋ยวใจอ่อน ไปรับฟังเค้า เพราะใจลึก ๆ ของผม มีเซ้นส์อะไรบางอย่างมาชี้ว่า “อย่า ๆ ๆ”
จนถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 เกิดที่อเมริกา ธนาคารล้มละลายเป็นแถบ ๆ ผมก็ไม่สบายใจ กลัวว่าเดี๋ยววิกฤตการเงินจะลุกลามมาถึงเมืองไทย ก็เลยเรียกประชุม เตรียมมาตรการรองรับ ปี 2008 บริษัทผม รายได้กับกำไรเพิ่มขึ้นมา 25% ปี 2009 เพิ่มขึ้นมา 52% ราคาหุ้นจากสามสิบกว่าบาท เพิ่มขึ้นมาเป็น 60 กว่าบาท วิกฤตเศรษฐกิจของอเมริกาลามไปถึงยุโรปแล้ว เศรษฐกิจยุโรปก็แย่ลง ๆ
มีบริษัทปลาทูน่ากระป๋องใหญ่ที่สุดที่ยุโรป เขาประกาศว่าจะประมูลขาย ผมเห็นเป็นโอกาสที่ดี ก็เลยตั้งทีมที่ปรึกษา ก็ติดต่อกับแบงก์ขอเงินกู้ เพราะพ่อค้าไม่รวยเงินจริงครับ รวยเงินกู้ ก็ต้องขอเงินกู้ แบงก์ทุกแบงก์สนับสนุน ทุกแบงก์จะเหมาหมดเลย เท่าไหร่ก็เหมาหมดเลย
เราก็พร้อม ก็ไปศึกษาวงการเงิน ทั่วโลกตีราคามูลค่าบริษัท MWB ที่ประกาศจะประมูลขาย ตีราคาที่ 800 ล้านยูโร แต่ที่ปรึกษาของเราศึกษาแล้วคิดว่า ถ้าไม่เกิน 720 ล้านยูโร น่าจะได้ เราก็เตรียมจะไปยื่นซอง
ก่อนที่จะไปยื่นซอง เราศึกษาจนสืบทราบว่า คู่แข่งของเรานั้นไม่แน่นอน อ่อนแอ เราก็พิจารณาลดราคาประมูลลงเหลือ 680 ล้าน แล้วก็มอบให้ลูกชายผมเป็นกรรมการ ไปยื่นซอง บอกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมอบอำนาจให้ ถ้าจำเป็นให้ขึ้นราคาไม่เกิน 720 ล้านยูโรได้ สุดท้ายแล้วเราโชคดีครับ ประมูลได้ในราคา 680 ล้านยูโร ก็ประหยัดไป 40 ล้านยูโร
ตอนศึกษาเรื่องนี้ นึกอยู่ในใจผม อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้นหนึ่งยูโร 50 บาท ถึงปี 2010 เราตกลงเซ็นสัญญาจ่ายเงินเขา ผมจ่าย 40.33 บาทต่อยูโร ความต่างนี้ทั้งหมดทั้งราคาซื้อ กับอัตราแลกเปลี่ยน ผมประหยัดต้นทุนไปเยอะมาก 7 พันกว่าล้าน
เวลานี้นอกจากฐานผลิต โรงงานผลิตอยู่ที่เมืองไทยสิบกว่าโรงแล้ว ครบวงจรเลย ทั้งปลา ทั้งแช่แข็ง
แต่เร็ว ๆ นี้ ผมจะมีโรงงานอยู่ที่ กานา โปรตุเกส ฝรั่งเศส เวียดนาม อินโดนีเซีย กับอเมริกา ทั้งหมดบริษัทผม มีคนงานสามหมื่นกว่าคน ปีนี้เราตั้งเป้าว่าต้องมีรายได้ไม่น้อยว่า 4,000 ล้านยูเอสดอลล่าร์ ปี 2015 ต้องไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านยูเอสดอลลาร์ ปี 2020 ต้องไม่น้อยกว่า 8,000 ล้านยูเอสดอลล่าร์
ปัจจุบันบริษัทผมเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องใหญ่ที่สุดในโลก ก็ต้องนับได้ว่า เราได้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ความสำเร็จนี้มาจากคณะบริหาร คนงาน พนักงาน ทุกคนร่วมใจร่วมมือกัดฟันสู้อย่างสุดความสามารถ มีเลือด มีน้ำตา มีปาฎิหาริย์เกิดขึ้นอย่างที่ไม่คาดฝัน
"ที่ผมเล่ามาก็อยากจะชวนทุกท่าน ให้คืนประโยชน์แก่สังคม มาทำบุญด้วยกัน ไม่ว่าเราอยู่ในฐานะอะไร เงินมากเงินน้อยทำบุญเลย มีบุญเท่ากัน ไม่ใช่เงินเยอะบุญใหญ่ ขอให้เราทำตั้งใจจริง ตามฐานะของเรา ขอให้ทุกท่านมาคืนประโยชน์ให้แก่สังคม”
ด้วยเหตุนี้กระมัง แม้เส้นทางชีวิตจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ปรัชญาที่ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดส่งผลให้ธุรกิจอยู่รอดปลอดภัยมาตราบทุกวันนี้.
______________________________________________________________________________
บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์เริ่มประกอบธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งในปี 2531 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 25 ล้านบาท จากนั้นในปี 2535 บริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ บริษัท ฮาโกโรโม่ ฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นทั้งผู้จำหน่ายและลูกค้าของบริษัท ต่อมาในปี 2537 บริษัทได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน โดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 1,202,000,000 บาท
ยอดรายได้ทำลายสถิติในปี 2554 สูงถึง 3,232 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 98,670 ล้านบาท.
______________________________________________________________________________