กสม.ชงรบ.ทำ’บัญชีขาวนักสิทธิฯปกป้องชุมชน’
เวทีสิทธิมนุษยชน ชงรบ.ลิสต์’บัญชีขาว’คุ้มครองนักสิทธิฯพิทักษ์ทรัพยากรชุมชน ชาวบ้านหวั่น“รับกระสุนแทนจนท.รัฐที่ไม่ทำงาน” ดีเอสไอรับขบวนการอุตฯลอบทิ้งขยะพิษภาคตวอ.โยงอิทธิพลท้องถิ่น
วันที่ 24 เม.ย. 56 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จัดเวทีสาธารณะ ‘นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน...ชีวิตที่ต้องได้รับการคุ้มครอง’
นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ในช่วง 10ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ให้สิทธิชุมชนจัดการทรัพยากรได้ มีนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรท้องถิ่นต้องเสียชีวิตเพราะถูกคุกคามโดยกลุ่มอิทธิพลไปทั้งสิ้น 35 คน โดยล่าสุดเป็นคดีที่เกิดขึ้นกับนายประจบ เนาวโอภาส หรือ ผู้ใหญ่จบ ผู้นำชาวบ้านต่อต้านการลักลอบทิ้งขยะพิษ ต.หนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา
โดยรูปแบบการคุกคามที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญมีทั้งการฆ่า/ทำร้ายร่างกาย ซึ่งมักเชื่อมโยงกับอิทธิพลการเมือง-ทุนในท้องถิ่น, การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือดำเนินคดีกับชาวบ้าน,การลดความน่าเชื่อถือ โดยกล่าวหาว่าเป็นผู้ขัดขวางโครงการพัฒนาของรัฐ,และการพยายามขัดขวางการทำงานทุกวิถีทาง
จึงเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะที่มีมาตรการคุ้มครองนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชน ตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ให้การรับรองเมื่อปี 2541 โดยทำ’บัญชีขาว’บันทึกรายชื่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง และมีมาตรการคุ้มครอง ติดตามตรวจสอบนักพิทักษ์สิทธิฯเหล่านี้ได้ว่าอยู่ที่ใดในปัจจุบัน
“หน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิประชาชนเป็นของหน่วยงานรัฐ แต่เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิชุมชนแทนหน่วยงาน รัฐจึงต้องมีมาตรการคุ้มครองคนกลุ่มนี้เป็นกรณีพิเศษตามหลักสากลเพื่อให้เขาพ้นจากความเสี่ยง ” กรรมการปฏิรูปกฎหมายกล่าว
นายจร เนาวโอภาส ผู้แทนชาวบ้านหนองแหนที่ต่อต้านบ่อทิ้งขยะมลพิษ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า บทเรียนของชาวบ้านในการต่อสู้คัดค้านกิจการของโรงงานที่นำขยะพิษมาทิ้งบริเวณชุมชน ทำให้พื้นที่เกษตรเสียหาย จนเป็นเหตุให้ ‘ผู้ใหญ่ประจบ’ น้องชายตนถูกลอบยิงจนเสียชีวิตนั้น ทำให้ทราบว่าหน่วยงานรัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยที่ผ่านมาชาวบ้านต้องเป็นฝ่ายดิ้นรนต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิด้วยตนเอง
“เราอดคิดไม่ได้ว่า ใครจะเป็นคนต่อไปที่ถูกยิง ถ้าหน่วยงานไม่แก้ไขปัญหาจริงจัง ชาวบ้านก็ต้องออกมาเรียกร้องเรื่อยไป และกลุ่มทุนที่เป็นฝ่ายเสียประโยชน์ก็ต้องมาเชือดไก่ให้ลิงดู”
โดยตัวแทนชาวบ้านหนองแหนรายหนึ่ง กล่าวว่า “ทุกวันนี้เราอยู่กับน้ำตาและความหวาดผวา ชาวบ้านจะทำอย่างไร พูดได้ว่าภาครัฐทุกส่วนไม่มีความชัดเจนและจริงใจให้กับชาวบ้าน ชาวบ้านจึงต้องรับกระสุนแทน”
ด้านนายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและวิเคราะห์คดีความมั่นคง สำนักคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าวว่า สำหรับการสืบสวนคดีการลักลอบทิ้งกากสารพิษจากอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น กรณีบ้านหนองแหน ซึ่งดีเอสไอได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสืบสวนด้วยนั้น โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ดีเอสไอเพิ่งได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ และเพิ่งมีการจัดตั้งศูนย์ปราบปรามการลักลอบทิ้งขยะและวัตถุอันตรายเมื่อต้นปี 2556
ซึ่งจากการตรวจสอบการทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกแห่งอื่น พบว่ามีปัญหาเช่นเดียวกันในหลายพื้นที่ซึ่งมีการลักลอบนำขยะพิษมาเททิ้งใส่บ่อดินเปล่า เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบำบัด
“ปัญหาที่เราพบคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ไม่ถูกนำมาใช้เต็มที่ มีการปล่อยปละละเลยโดยเจ้าหน้าที่บางกลุ่มที่ไม่ดำเนินการ และมีอิทธิพลของกลุ่มทุนท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่จะให้ชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกำกับควบคุมฝ่ายเดียวจึงเป็นไปได้ยาก” นายอังศุเกติ์ กล่าว
นายไพโรจน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาการทิ้งกากขยะพิษอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก เป็นภัยคุกคามทั้งชุมชน ชีวิตคนและพื้นที่เกษตร จึงเสนอให้ดีเอสไอดำเนินการตรวจสอบที่มาที่ไปของการทิ้งขยะพิษทั่วทั้งภาค และยกระดับการแก้ปัญหาขยะพิษเป็นนโยบายระดับชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เร็วๆนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ให้ข้อมูลกับดีเอสไอว่า ปัจจุบันมีการลักลอบขนกากขยะอันตรายขากโรงงานออกจากระบบปีกว่าละ 31ล้านตัน สำหรับ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบำบัด ซึ่งอยู่ที่ตันละ 3,000 บาท