เปิดแผนจัดการน้ำแบบฉบับ "ไจก้า" ประหยัดงบฯ ได้ถึง 70%
ถึงวันนี้ เส้นทางบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียแล้ว ด้วยเจอปัญหาอุปสรรคขวากหนามมากพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข่าว 2- 3 ชิ้น มาประจวบเหมาะเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน
ข่าวชิ้นแรก อดีตคนของพรรคเพื่อไทย “ อุเทน ชาติภิญโญ” ซึ่งเป็นอดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำทางทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ยื่นหนังสือด่วนต่อ “บัน คี มูน” เลขาธิการสหประชาชาติ ผ่านสำนักงานเมืองไทย โดยขอให้ยูเอ็นตรวจสอบคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ โดยเขาเห็นว่า ทีโออาร์ที่จะประมูลกันในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ส่อเค้านำมาซึ่งการทุจริตคอรัปชั่น
ข่าวอีกสองชิ้น นอกจากหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ อย่าง “รอยล จิตรดอน” ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่อนหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ กบอ.แล้ว ก็ยังมีข่าวฮือฮา เมื่อ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กบอ. ออกมายอมรับ “กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย” 1 ใน 6 กลุ่มบริษัท ผู้ผ่านการคัดเลือกกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย “ขอถอนตัว” ก่อนเวลาการยื่นประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำรอบสุดท้ายสัปดาห์หน้า
“กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย” ให้เหตุผล มีความเป็นห่วงเรื่องความไม่คุ้มค่ากับการต้องเข้าแข่งขัน กลัวขาดทุน และกังวลเรื่องการกำหนดเพดานราคาก่อสร้างสูงสุด (จีเอ็มพี) พร้อมทั้งการเวนคืนที่ดิน ที่ภาคเอกชนต้องแบกรับภาระด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจทั้งหมด มาโฟกัสอยู่ที่เรื่องของการวิเคราะห์ความคุ้มค่าโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งในต่างประเทศจะมีการศึกษาประสบการณ์ในอดีต มีการวิเคราะห์ทางเลือก (Alternatives) ทำ Sensitivity Analysis มีการทำ Risk Analysis รวมถึงมีการวางแผน Operations และการบริหารจัดการ
แต่สำหรับโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ในไทย ที่ผ่านๆ มา เกือบจะเรียกได้ว่า ไม่มีรายละเอียดการศึกษา หรือวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เปิดเผยต่อสาธารณชนเลย
จะมีให้เห็นอยู่บ้าง ก็ผลการศึกษาล่าสุด “แผนการบริหารจัดการน้ำท่วมสำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ราชอาณาจักรไทย” ซึ่งจัดทำโดย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ว่ากันว่า... ตอนน้ำท่วมไทยใหม่ ๆ รัฐบาลไทยไปร้องขอให้ 'ไจก้า' มาช่วยศึกษาและจัดทำร่างแผนฯ ดังกล่าว ไจก้าระดมผู้เชี่ยวชาญทำการศึกษาบนพื้นฐานแผนของ กยน. ทุกแผน จนกระทั่งได้ข้อเสนอมาตรการเพื่อรับมือน้ำท่วมแบบผสมผสาน
งานนี้สำเร็จเสร็จลุล่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2556 นำเสนอ กบอ.ของนายปลอดประสพ ไปแล้วด้วย
ทั้งนี้ ต้องถือว่า ชุดโครงการต่างๆ ที่เสนอโดย 'ไจก้า' มีจุดเด่น ให้ประสิทธิผลคล้ายคลึงกับโครงการต่างๆ ของรัฐบาล แต่ก็ยัง "ไม่ถูกใจ" กบอ. เท่าใดนัก เพราะในข้อเสนอบอกชัด มาตรการรับมือที่ให้ผลดีที่สุด สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่รัฐบาลไทยมีแผนจะสร้างถึง 9 แผนงาน มูลค่า 3 แสนล้านบาทนั้น อาจไม่จำเป็นต้องสร้างทุกโครงการ
แผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการ สามารถใช้มาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างทดแทนได้ อย่างเช่น
- สนับสนุนให้ชุมชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปรับตัวให้อยู่กับน้ำได้โดยไม่เดือด ร้อนเมื่อน้ำท่วม
- รัฐบาลไทยควรเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อนที่มีอยู่ในลุ่มเจ้าพระยา แก้ปัญหาน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นหลัก ร่วมกับการปรับปรุงขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา
- ส่วนการสร้างจะเขื่อนใหม่ ที่รัฐบาลไทยสนับสนุนอย่างมาก เพราะคาดว่าจะมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอุทกภัย และเก็บน้ำเพื่อการชลประทานในฤดูแล้งนั้น ไจก้า มองว่า ต้องทบทวน เพราะสถานที่ตั้งเขื่อนที่เสนอ ก็ยังไม่สามารถระบุศักยภาพในการเก็บกักน้ำมากเท่าเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมทั้งยังพบว่า มีประสิทธิภาพ “ต่ำ” ในการบรรเทาอุทกภัยของแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
- สร้างเส้นทางผันน้ำเลี่ยงเมือง (Bypass Channel) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ช่วงจุดบรรจบของแม่น้ำน้อยและแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเส้นทางผันน้ำเลี่ยงเมืองนี้ จะมีประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำ
ขณะที่การผันน้ำฝั่งตะวันออกและตะวันออก มีผลต่อการลดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงระหว่างจังหวัดนครสวรรค์และชัยนาทเท่านั้น แต่ปัญหาก็จะมากระจุก ตรงท้ายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ทางเลือก คือ ควรผันน้ำตามความยาว ขนานถนนวงแหวนรอบนอก และขยายคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริทางฝั่งตะวันออกของ กทม. สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้
“เร็วกว่า ถูกกว่า งบประมาณก่อสร้างจะลดลงได้ถึง 70% และชุมชนเสียหายน้อยกว่า” กับข้อเสนอที่ทำให้โครงการมีความคุ้มค่าและคุ้มทุนที่สุด
น่าประหลาดใจหรือไม่ เหตุใดรัฐบาลนี้ จึงไม่เลือก !
เอกสารประกอบ : รายงาน JICA แผนการบริหารจัดการน้ำท่วมสำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ราชอาณาจักรไทย