กูรูสื่อ ติงเคเบิลทีวี-วิทยุเสนอข่าว รับผิดชอบสังคม ยึดเกณฑ์จรรยาบรรณ
เสวนาสื่อวิทยุโทรทัศน์กับการเปลี่ยนผ่าน กูรูสื่อหลักทวงถามความรับผิดชอบต่อสังคม ติงความเป็นมืออาชีพลดลง คัดกรอง ตรวจสอบน้อยเข้าขั้นกลียุค แนะหาสมดุลมีสาระ-อยู่รอด
วันที่ 25 เมษายน มูลนิธิแสงชัย สุนทรวัฒน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดเสวนา "ความเป็นมืออาชีพของสื่อวิทยุโทรทัศน์...กับการเปลี่ยนผ่าน" ภายในงานประกาศรางวัลผลการตัดสิน ข่าว-สารคดีวิทยุ-โทรทัศน์ รางวัลแสงชัย สุนทรวัฒน์ ประจำปี 2555 โดยมี นายสำราญ ฉัตรโท รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 นายสนธิญาน ชื่นฤทัยในธรรม กรรมการผู้อำนวยการบริษัท สำนักข่าวทีนิวส์ นายประสาน อิงคนันท์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด นายอกนิษฐ์ มาโนษยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสาระดี จำกัด (ผู้ผลิตรายการ "เรื่องจริงผ่านจอ" ) นายวิวัฒน์ จันทสุวรรณโณ รองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการข่าว สถาณีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ร่วมเสวนา
นายสำราญ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสื่อในปัจจุบันว่า จำนวนคนดูช่องเคเบิลทีวีหรือดาวเทียมมีเพิ่มมากขึ้น จึงต้องกลับมาย้อนถึง 'ความรับผิดชอบต่อสังคม' ในแง่สื่อทีวีว่าเป็นอย่างไร หากพูดถึงเสรีภาพอย่างเดียว แต่ไม่เข้มงวดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ก็ลดทอนความเป็นมืออาชีพลง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ในขณะที่สังคมของต่างประเทศค่อนข้างมีความรับผิดชอบสูง ส่วนหนึ่งมาจากภาคเอกชนเขารวมตัวกันค่อนข้างแข็งแกร่งในการเรียกร้อง หรือแม้กระทั่งการตั้งกฎหมาย ในขณะที่ในบ้านเราไม่มีองค์กรดังกล่าวหรือกฎระเบียบที่เคร่งครัด ทำให้เสรีสื่อทีวีไทยปัจจุบันด้อยลง
ขณะที่นายสนธิญาน กล่าวว่า ความเป็นมืออาชีพของสื่อในปัจจุบันมีน้อยลง เนื่องจากความหลากหลายในการนำเสนอที่ไม่มีการ 'คัดกรอง' หรือ 'ตรวจสอบ' ให้แน่ชัด เรียกได้ว่าเกิด 'กลียุค' ในการนำเสนอข่าวสาร แก่งแย่งชิงดี และแข่งขันกันภายใต้ข้อกังขาที่ว่า สื่อจะดำเนินหน้าที่ภายใต้ความน่าเชื่อถือได้อย่างไร หากการทำหน้าที่ของสื่อไม่มีการข้อจำกัดหน้าที่ รวมถึงมีเสรีไปเสียหมด
"การวางมาตรฐานและบทบาทสื่อให้ชัดเจนถือเป็นบทบาทสำคัญ ที่เป็นกำลังสำคัญขององค์กรสื่อทีวีและสามารถผลักดันองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง รวมถึงมีความรับผิดชอบต่อสังคม"
นายสนธิญาน กล่าวด้วยว่า แม้โซเชียลมีเดีย หรือเคเบิลทีวีจะมีอำนาจในการแข่งขันมากขึ้น มีเสรีในการเสนอข่าวสารมากขึ้น จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในการนำเสนอข่าวด้วย ซึ่งเป็นสิ่งชอบธรรมที่สื่อสมัยใหม่ต้องหาจุดนี้ให้ได้ และแม้แต่ละองค์กรสื่อจะมีจรรยาบรรณที่แตกต่างกันออกไป ก็จะต้องวางบรรทัดฐาน กฎระเบียบของจรรยาบรรณให้ชัดเจนและมีมาตรฐาน เพราะหากสื่อต่างนำเสนอข่าวตามที่ตนเองเห็นชอบโดยไม่สนใจความรับผิดชอบต่อสังคมก็อาจทำให้สังคมเกิดความสับสนทางข้อมูลข่าวสารได้
ด้านนายประสาน กล่าวว่า หลักสำคัญในการสร้างสื่อให้มีความเป็นมืออาชีพ คือนำเสนอข่าวอย่างสม่ำเสมอ และไม่เน้นที่ปริมาณข่าวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องควบคู่กับคุณภาพของเนื้อหาที่นำเสนอด้วย ว่าให้สาระอะไรแก่สังคม ซึ่งยอมรับว่าส่วนหนึ่งก็ต้องให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ขององค์กร แต่ก็ต้องควบคู่กับผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนด้วย
สำหรับการเปลี่ยนผ่านของสื่อวิทยุโทรทัศน์ในปัจจุบัน นายประสาน เห็นว่า เมื่อสื่อสมัยใหม่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วตามยุคสมัย สิ่งสำคัญ คือ สื่อหลักต้องประยุกต์เข้ากับสื่อสมัยใหม่ให้ได้ เพราะหากสามารถใช้ประโยชน์ทั้งสื่อหลักและสื่อใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าการควบคุมหลักการของสื่อมวลชนจะเป็นไปได้ง่ายขึ้น
ขณะที่นายอกนิษฐ์ กล่าวว่า ความเป็นมืออาชีพของสื่อ ต้องมาจากความรอบรู้ และความรู้เท่าทันเทคโนโลยี สามารถวิเคราะห์และพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบรูณ์และเชื่อถือได้ ที่สำคัญต้องเข้าใจความต้องการของประชาชนว่าขาดความรู้ด้านใด ควรส่งเสริมหรือขัดเกลาข่าวสารใด เพื่อให้ตรงความต้องการของประชาชนและคำนึงเสมอว่า คนดูได้อะไรจากสิ่งที่นำเสนอ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ หาสมดุลทั้งความบันเทิงและสาระ แต่ต้องไม่ทิ้งความรับผิดชอบต่อสิ่งที่นำเสนอ