จับครูสาวตาดีกาบานปลาย...คำชี้แจงปฏิบัติตามกฎหมาย "ยังไม่พอ"
เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารพรานหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41 (ฉก.ทพ.41) ค่ายวังพญา อ.รามัน จ.ยะลา ควบคุมตัว น.ส.พาดีละห์ เสาะหมาน อายุ 23 ปี ครูตาดีกาชุมชนบ้านบูกิต ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ระหว่างจัดกิจกรรมค่ายอบรมจริยธรรมภาคฤดูร้อน ได้บานปลายกลายเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับนักศึกษาและภาคประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง
เป็นการเผชิญหน้ากันท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลายมุม บ้างก็ว่าทหารกระทำการเกินกว่าเหตุ บ้างก็มองว่าฝ่ายความมั่นคงไร้เอกภาพ ฝ่ายหนึ่งพยายามเปิดหน้าเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็ยังคงบังคับใช้กฎหมายพิเศษแบบไม่ค่อยมีคำชี้แจงชัดเจนจนกลายเป็นเงื่อนไข บ้างก็มองอีกมุมหนึ่งว่าถ้าเจ้าหน้าที่จับกุมใครไม่ได้เลยแม้กฎหมายจะให้อำนาจรองรับเอาไว้ จะแก้สถานการณ์ที่มีลักษณะพิเศษ ไม่ได้เป็นอาชญากรรมธรรมดาๆ ได้อย่างไร ฯลฯ
ปล่อยครูสาว-จับพี่ชายต่อ
หากย้อนดูที่ไปที่มาของเรื่องนี้จะพบว่า น.ส.พาดีละห์ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวเพราะตกเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) กองร้อยทหารพรานที่ 4203 (ร้อย ทพ.4203) บริเวณป่าสวนยางพาราตรงข้ามโรงเรียนบ้านป่าบอน หมู่ 1 ต.ป่าบอน อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2556 จากนั้นจึงถูกนำตัวไปดำเนินกรรมวิธีซักถามที่ค่ายวังพญา โดยเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก
ต่อมาวันเสาร์ที่ 20 เม.ย.2556 ผู้นำชุมชนและญาติของ น.ส.พาดีละห์ ตลอดจนภาคประชาสังคมและสหพันธ์นิสิตนักศึกษาชายแดนใต้ (permas) ได้รวมตัวกันเข้าเยี่ยม น.ส.พาดีละห์ ที่ค่ายวังพญา และสอบถามฝ่ายทหารถึงสาเหตุ ตลอดจนหลักฐานที่ใช้ในการควบคุมตัว
วันจันทร์ที่ 22 เม.ย.2556 เวลาประมาณ 22.30 น. กำลังผสมสามฝ่ายประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และทหารพราน ได้เข้าปิดล้อมบ้านเลขที่ 9 หมู่ 6 ต.โคกโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นบ้านของ น.ส.พาดีละห์ และได้ควบคุมตัว นายฟาเดล เสาะหมาน อายุ 26 ปี พี่ชายของ น.ส.พาดีละห์ ไปสอบสวนที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 41
ล่าสุดมีรายงานว่า น.ส.พาดีละห์ ได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่กระแสเคลื่อนไหวและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ยังไม่จบ
ครูตาดีกาคือผู้รักษาอัตลักษณ์
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายทหารให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อความรู้สึกของครูตาดีกาและมุสลิมะฮ์ (ผู้หญิงมุสลิม) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้หญิงถูกคุกคาม จึงได้มีการรวมตัวกันในนาม "เครือข่ายอาสาสมัครครูตาดีกาและภาคี" เรียกร้องให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ชี้แจงถึงมาตรการการควบคุมตัวครูตาดีกาและมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยของครูตาดีกาเมื่อตอนสายของวันพุธที่ 24 เม.ย.2556 ที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลา โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงพลังประมาณ 300 คน
09.30 น.ของวันพุธที่ 24 เม.ย.มีการเปิดวงพูดคุยวงเล็กๆ ถึงความสำคัญและการยอมรับครูตาดีกาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฮัซฮาร์ สะรีมะเจ๊ะ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะกรรมการสภาองค์การมุสลิมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นลูกหลานมุสลิมในพื้นที่และเป็นศิษยเก่าโรงเรียนตาดีกา เขาบอกว่าโรงเรียนตาดีกาเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่รักษาอัตลักษณ์ความเป็นมลายูได้ยืนยาวที่สุด
"ตัวตนของโรงเรียนและครูตาดีกาเป็นสิ่งที่สังคมภายนอกรับรู้เมื่อไม่นานมานี้ แต่เป็นสิ่งที่คนในพื้นที่คุ้นเคยอย่างดีมานานแล้ว ครูตาดีกาได้รับการยอมรับ เคารพ เป็นสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชุมชน สอนเด็กในชุมชนให้มีความรู้ทางศาสนาและมีคุณธรรม เวลาพูดถึงอัตลักษณ์มลายูมุสลิมจะรวมไปถึงบุคลิก มารยาท ความเอื้อเฟื้อ และศาสนา ซึ่งบุคคลสำคัญที่ดูแลเรื่องเหล่านี้คือ ครูตาดีกา ซึ่งเป็นอณูเล็กๆ แต่สำคัญที่สุดของชุมชน"
"สิ่งที่เกิดขึ้นกับครูพาดีละห์เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เพราะมุสลิมะฮ์ถูกจับตัวไปขังยังที่ที่ไม่ใช่บ้านของเธอ เรื่องนี้เป็นเรื่องอ่อนไหวมากสำหรับสังคมมุสลิม ในสถานการณ์เปราะบางเช่นนี้ที่หลายฝ่ายกำลังพูดคุยกันเรื่องสันติภาพ ฝ่ายรัฐต้องปรับตัวให้สอดคล้องทั้งฝ่ายนโยบายและระดับปฏิบัติการ แต่ขณะนี้ฝ่ายปฏิบัติการยังทำงานตรงกันข้าม ในเมื่อยังไม่สามาถสร้างเอกภาพกันเองได้แล้วจะมาสร้างสันติภาพให้สังคมได้อย่างไร"
ตั้ง"เครือข่ายครูตาดีกา"เฝ้าระวัง
ฮัซฮาร์ บอกต่อว่า การกดขี่ที่แท้จริงคือการตัดโอกาสในการเติบโต เหมือนกับมลายูมุสลิมที่ถูกตัดทอนความเป็นมลายู จึงถึงเวลาที่ต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและอาจเกิดขึ้นได้อีก
"เรายังไม่ได้ปรับตัวรับกับสถานการณ์ไม่ปกติ ต้องถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้ครูตาดีกาและอุสตาซถูกกระทำเช่นนี้อีก โดยการสร้างความสัมพันธ์พิเศษ สร้างเกราะคุ้มกันและความเป็นเครือข่ายในชุมชนให้แน่นแฟ้นมากขึ้นเพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอย และถ้ารัฐบาลพบว่าไม่สามารถควบคุมเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการได้ ก็ต้องย้ายออกไปจากพื้นที่"
จี้รัฐบรรจุครูตาดีกา-จ่ายเงินเสี่ยงภัย
มูฮัมหมัดอาลาดี เด็งนิ จากภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์เคยถูกเชิญตัวไปซักถามตามกฎหมายพิเศษ และถูกคุมขัง 7 วัน กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนตาดีกาถูกคุกคามมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่บอกว่าครูตาดีกาสอนเรื่องแบ่งแยกดินแดน เพียงเพราะพวกเขาใช้ภาษามลายู ทั้งที่ธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนที่นี่ก็ใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว
"ถ้าไม่มีโรงเรียนและครูตาดีกาสังคมจะเละกว่านี้ นี่ยังดีที่มีครูตาดีกาคอยช่วยขัดเกลาเยาวชนให้มีศาสนา มีคุณธรรม ครูตาดีกาจึงเป็นบุคคลที่รัฐต้องให้ความสำคัญ ให้ความเป็นธรรม ความยุติธรรม และความเท่าเทียมกับครูสังกัดอื่นๆ แต่ตลอดมาครูตาดีกาไม่มีเงินเสี่ยงภัย ไม่มีสวัสดิการใดๆ และยังถูกมองจากเจ้าหน้าที่รัฐด้วยหัวใจไม่เป็นธรรมอีก"
"ฉะนั้นต้องสนับสนุนให้มีการบรรจุครูตาดีกา มีเงินเสี่ยงภัยและสวัสดิการอื่นๆ รัฐต้องไม่ปิดโอกาส ไม่ปกปิดประวัติศาสตร์ ไม่สร้างเงื่อนไขใดๆ ที่นี่จนกลายเป็นอุตสาหกรรมความไม่มั่นคง และมีปัญหาซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม เรากำลังคุยกันเรื่องสันติภาพ แต่กลับมาจับครูตาดีกาผู้หญิงแล้วไม่ให้ญาติเยี่ยม ทำให้บรรยากาศชะงัก การระจายอำนาจเขาก็ทำกันทั่วโลก ถ้าแก้ไขอะไรไม่ได้ก็ขอให้กลับกันไป เราคุยกันเองได้ แค่รัฐมีความจริงใจอย่างเดียวก็แก้ปัญหาได้แล้ว"
ยัดเยียดความทรงจำไม่ดีแก่เยาวชน
ครูตาดีการายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) จาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทำลายบรรยากาศสันติภาพ และสร้างความทรงจำที่ไม่ดีแก่เยาวชนในขณะเข้ารับการอบรมค่ายจริยธรรมที่ควรมีแต่ความสนุกสนาน สิ่งที่รัฐทำทำให้เด็กจดจำภาพไม่ดี ชาวบ้านเกิดความหวาดระแวง
"อยากให้รัฐเข้าใจและยอมรับความเป็นจริงว่าคนที่นี่มีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่เป็นอย่างไร หากเข้าใจจุดนี้ลึกซึ้งแล้วก็จะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น หากรัฐเข้าใจและยอมรับความเป็นจริงเมื่อไหร่ เรื่องก็คงซาและหมดไปเอง" ครูตาดีกาจากบันนังสตา กล่าว
ปัดยื่นข้อเรียกร้องอ้างเจอมวลชนจัดตั้ง
เมื่อวงสนทนาจบลง ได้มีการคัดเลือกตัวแทนจากครูตาดีกา ภาคประชาสังคม นักศึกษา และเครือข่ายอาสาสมัครครูตาดีกาและภาคีจำนวน 10 คน เพื่อไปยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แต่เมื่อตัวแทนทั้งหมดเดินทางไปถึงบริเวณหน้าค่ายสิรินธร (ที่ตั้งของ กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ที่ ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปด้านใน แต่ให้ไปรวมตัวกันฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งขณะนั้นมีการชุมนุมของกลุ่มปฏิเสธความรุนแรง จำนวนประมาณ 100 คน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้บอกให้ตัวแทนเครือข่ายฯ และตัวแทนผู้ชุมนุมปฏิเสธความรุนแรงเข้าไปพบผู้บังคับบัญชาในค่ายสิรินธรพร้อมกัน แต่ตัวแทนเครือข่ายฯ ปฏิเสธ เพราะเกรงจะมีการจัดฉาก จึงเดินทางกลับไปยังมัสยิดกลางจังหวัดยะลา
สุไฮมี ดูละสะ ประธานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาชายแดนใต้ (permas) กล่าวกับมวลชนและเครือข่ายที่รอฟังคำตอบอยู่ว่า เมื่อตัวแทนจะไปยื่นจดหมาย เห็นว่ามีมวลชนจัดตั้งรออยู่ และเป็นการเรียกร้องคนละประเด็นกันกับเรา ประเด็นเดียวที่เราเรียกร้องคือมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยของครูตาดีกา แต่เจ้าหน้าที่พยายามให้พวกเราไปรวมกับผู้ที่มาจากการจัดตั้ง เห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายไม่ให้เกียรติและลดทอนเกียรติครูตาดีกา ถือว่าวันนี้เป็นการไม่ให้เกียรติกัน หลังจากนี้จะจัดการพูดคุยและประชุมกับภาคประชาสังคมรวมทั้งกลุ่มนักศึกษากันว่าจะขับเคลื่อนกันต่อไปอย่างไร
ทบ.แจงมีหลักฐานเชื่อมโยง-ยันไม่ได้ละเมิด
วันเดียวกัน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก (รองโฆษก ทบ.) กล่าวว่า การควบคุมตัว น.ส.พาดีละห์ เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ต้องการนำตัวไปซักถามตามกระบวนการสืบสวน เนื่องจากมีข้อมูลหลักฐานการใช้โทรศัพท์ว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดทหารพรานชุด รปภ.ครู จึงมีความจำเป็นต้องเชิญตัวไป
"เราไม่ได้ดำเนินการด้วยอคติใดๆ ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบระเบียบกฎหมายอย่างตรงไปตรงมาด้วยที่สุด และไม่มีการละเมิดใดๆ ทั้งสิ้น แต่กลุ่มผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มพยายามใช้รูปแบบและวิธีการเดิมๆ คือตำหนิการกระทำของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะหยิบยกไปบิดเบือนเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือหรือใส่ร้ายเจ้าหน้าที่ โดยมักจะอ้างว่าเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้งและดำเนินการต่อผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นจึงขอให้สังคมให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ด้วย" รองโฆษก ทบ.กล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การรวมตัวกันของเครือข่ายอาสาสมัครครูตาดีกาและภาคี ที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
ขอบคุณ : ข่าวสัมภาษณ์รองโฆษกกองทัพบก เอื้อเฟื้อโดยสำนักข่าวเนชั่น