ลงทุน 2 ล้านล้าน ‘สมคิด’ เตือนรบ.รอบคอบ อย่าเอาประเทศไปเสี่ยง
อดีตรองนายกฯ ออกโรงเตือนรัฐบาลคิดลงทุนกู้เงินมาทำโครงการใหญ่ ต้องจัดลำดับความสำคัญ ดูแลไม่ให้การเงินการคลังเสี่ยง พร้อมฟื้นความไว้เนื้อเชื่อใจจากสาธารณชน หลังจำนำข้าวทำพิษ ขาดทุนบักโกรก
วันที่ 24 เมษายน ศาสตราพิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "โครงการ 2 ล้านล้านกับอนาคตประเทศไทย : ความเสี่ยงต่อภาระหนี้" จัดโดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ตอนหนึ่งถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ
ศาสตราพิชาน ดร.สมคิด กล่าวว่า การลงทุนจะเกิดประโยชน์สูงสุด และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงภัยนั้น 1. รัฐบาลควรจัดลำดับความสำคัญ (Priority) เนื่องจากประเทศไทยปัญหาใหญ่ที่เราประสบ และเผชิญในอนาคตไม่ใช่ปัญหาเรื่องคมนาคม หรือปัญหาการเชื่อมโยง( Connectivity) แต่อย่างใด
“อนาคตสิ่งที่เราต้องเผชิญและจำเป็นแก้ปัญหาให้ได้ คือ ความยากจน ความไม่เท่าเทียมในด้านรายได้ ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เริ่มสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าต่ำ ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้คนไทยจน และก้าวไม่พ้นจากประเทศรายได้น้อย” อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลต้องจัดการให้ได้ ทำควบคู่กับการสร้างการเชื่อมโยงทางคมนาคม
และเมื่อรัฐบาลตัดสินใจดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ศาสตราพิชาน ดร.สมคิด กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารประเทศต้องแน่ใจ การลงทุนเหล่านี้ไม่ใช่มาทดแทน หรือมาทำให้การลงทุนมิติอื่นๆ ถูกบั่นทอนลงไป หรือหดหายไป
“รัฐบาลมีหน้าที่เร่งด่วนต้องปฏิรูประบบการเกษตรให้ทันสมัย พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็งให้ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น เร่งลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้ในอนาคตเราสามารถคิด ทำ สิ่งที่มีมูลค่าสูงขึ้น ฉะนั้น เรื่องนี้รัฐบาลต้องคิดอ่านล่วงหน้าจะลงทุนในอุตสาหกรรมไหนบ้าง เพื่อให้เส้นทางคมนาคมที่คิดไว้ เกื้อกูลกัน เชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์สูงสุด มิเช่นนั้น Connectivity ก็จะไม่มีความหมาย”
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า เมื่อมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2. รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้เกิดความเสี่ยงภัยทางการเงินการคลังด้วย เพราะมีโอกาสอยู่บ้างที่จะเบี่ยงเบนจากที่รัฐคาดการณ์ไว้ ด้วยเศรษฐกิจโลกมีปัญหา การส่งออกของไทยติดลบ การลงทุนในประเทศไม่กระเตื้อง เป็นต้น
“นายกรัฐมนตรีต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ปฏิรูปเรื่องการเกษตร พยายามยกระดับการผลิตและบริการ หากคิดจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งนี้ต้องขับเคลื่อนให้ได้ 7-10 ปี และเริ่มทำกันตั้งแต่วันนี้ ไม่เช่นนั้นแม้เม็ดเงินอาจจะประคอง GDP ให้อยู่ได้ในอนาคต แต่เมื่อใดเม็ดเงินหมด โครงสร้างต่างๆ ไม่ได้เปลี่ยน วันนั้นเราก็จะเห็นการทรุดต่ำของเศรษฐกิจไทย”
สำหรับหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น ศาสตราพิชาน ดร.สมคิด กล่าวว่า ต้องปฏิรูปการคลังอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่การลดภาษีนิติบุคคลให้ภาคเอกชน จนทำให้รายได้จากภาษีของภาครัฐน้อยลง รวมถึงการปฏิรูประบบงบประมาณด้วย
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นที่ 3. ความไว้เนื้อเชื่อใจจากภาคสาธารณะ (trust) ที่เมื่อไหร่หากความไว้เนื้อเชื่อใจจากภาคสาธารณชนไม่มี ก็จะมีอุปสรรคหลายอย่างตามมา เช่น โครงการรับจำนำข้าว
“การชนะเสียงในสภาฯ จะไม่มีความหมายเลย หากไม่มีเสียงประชาชนสนับสนุนโครงการใหญ่ๆ เหล่านี้ ดังนั้น การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้น ทำได้โดยการแกะ 2 ล้านล้านบาทออกมาเป็นชิ้นๆ ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เช่น ทำอะไรบ้าง โครงการรถไฟความเร็วสูงไปเกื้อกูลประชาชนตรงไหน เกิดประโยชน์อย่างไร รวมถึงต้องทำให้มีความโปร่งใส” อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลหาผู้รับผิดชอบโครงการที่น่าเชื่อถือ มาช่วยดูแล กำกับ ประสานงาน จากนั้นสื่อสารไปสู่สาธารณชน
ทั้งนี้ ศาสตราพิชาน ดร.สมคิด กล่าวด้วยว่า หากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท มีข้อมูลที่เปิดเผย โปร่งใส มีประโยชน์จริง เชื่อว่า จะไม่มีคนออกมาคัดค้าน
“อย่าลืมว่าเราเป็นประเทศจน ทรัพยากรมีจำกัด เราต้องคิดอย่างคนจน โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศคำว่า รอบคอบสำคัญ และต้องมีความรับผิดชอบต่อคนทั้งประเทศ ไม่ใช่รับผิดชอบต่อคนใดคนหนึ่ง ต้องรู้จักคำว่าพอเพียงดี พอเพียง ไม่เอาประเทศไปเสี่ยง”