ภาคปชช.หวั่นร่างกม. 3 ฉบับปฏิรูปที่ดิน เจอแรงต้านสูงจากฝ่ายนิติบัญญัติ
ภาคประชาชน มองเป็นเรื่องยากผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดินทั้ง 3 ฉบับ เชื่ออาจไม่เกิดขึ้นในชั่วอายุนี้ เหตุเจอแรงต้านสูงจากฝ่ายนิติบัญญัติ
(24 เม.ย.) ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปฏิรูป (สปร.) ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ จัดสัมมนาทางวิชาการเพื่อการปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน เพื่อนำเสนอแนวคิดในการร่างกฎหมายว่าด้วยภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ร่างกฎหมายว่าด้วยธนาคารที่ดิน และร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ซึ่งจะนำข้อเสนอนี้ต่อที่ประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 3 ในเดือนมิถุนายนนี้
ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษานโยบายที่ดิน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงร่างกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ว่า เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิชุมชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แนวคิดนี้ ที่ดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ แต่ให้สิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินแก่สมาชิกในชุมชน ซึ่งผู้มีสิทธิจะร่วมกันปกป้องดูแลใช้ประโยชน์ภายใต้กติการ่วมกัน ไม่สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ และไม่เสี่ยงต่อการสูญเสียสิทธิในที่ดินแก่นายทุน ชุมชนที่ได้รับสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรจะมีสถานะเป็นนิติบุคคล
ผศ.ดร.อิทธิพล ระบุว่า ชุนชนเมืองที่อยู่ในที่ดินของรัฐก็สามารถขอสิทธิบริหารจัดการที่ดินได้เช่นเดียวกับชุมชนชนบท ปัจจุบันข้อมูลจากสำนักงานสิทธิชุมชนระบุว่า มีชุมชนยื่นคำขอรับสิทธิฯแล้ว 400 กว่าชุมชน รวมเนื้อที่ราว 2 ล้านไร่ โดยได้รับสิทธิไปแล้ว 3 ชุมชน ที่เหลืออยู่ในระหว่างรอการพิจารณา
ธ.ที่ดินมีความจำเป็นสำหรับคนจน
ด้านนายโสภณ ชมชาญ นักวิชาการอิสระ อดีตกรรมการกองทุนที่ดิน และอดีตกรรมการอุทยานแห่งชาติ กล่าวถึงร่างกฎหมายว่าด้วยธนาคารที่ดิน ว่า เป็นการ “หาที่ดินให้คนจน” ซึ่งการจัดตั้งธนาคารที่ดินมีความจำเป็น เนื่องจากมีผู้ไร้ที่ดินทำกินมีจำนวนมาก
"ปี 2547 ทะเบียนคนจนระบุมี 1 ล้านราย ปี 2553 ทะเบียน ส.ป.ก. มีผู้ไร้ที่ทำกิน 3 แสนรายเศษ โอกาสในการเข้าสู่ที่ดินของคนยากจนมีน้อยมาก อีกทั้งแหล่งเงินทุนในปัจจุบันไม่สามารถรองรับปัญหาได้ทัน ไม่ว่าจะ ธ.ก.ส. กองทุนปฏิรูปที่ดิน ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ซึ่งปัญหาหลักอยู่ที่เรื่องอัตราดอกเบี้ย การค้ำประกัน วงเงินกู้ เป็นต้น"
นายโสภณ กล่าวว่า หน้าที่ของธนาคารที่ดิน อาทิ 1.ให้กู้ยืมเงินซื้อที่ดิน 2.ค้ำประกันการชำระหนี้จากการเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินแทนเกษตรกร และรับโอนสิทธิการเก็บค่าเช่าหรือค่าเช่าซื้อ 3.จัดซื้อหรือเวนคืนที่ดินที่มีสภาพเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม จากผู้มีกรรมสิทธิ์ที่ไม่ใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ในการเกษตรกรรม เพื่อนำมาให้เกษตรกรเช่า หรือเช่าซื้อ เป็นต้น
เก็บภาษีเพื่อให้ที่ดินมีการทำประโยชน์
ส่วนผศ.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะทำงานเฉพาะประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างและกฎหมายด้านที่ดิน กล่าวถึงการยกร่างกฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า มีแต่ภาษีบำรุงท้องที่ จัดเก็บในอัตรา ประมาณ 0.0095% นับเป็นอัตราถดถอยเมื่อเทียบกับราคาที่ดินที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ คนที่มีที่ดินจำนวนมาก จึงมีต้นทุนในการดูแลต่ำมาก และคนที่มีเงินมากมัก "กว้าน" ซื้อที่ดินจำนวนมากมากักตุนไว้เพื่อเก็งกำไร การเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า จะทำให้คนถือครองที่ดินจำนวนมาก ต้องตระหนักถึงการทำประโยชน์ในที่ดินที่มีอยู่
ผศ.ดวงมณี อธิบายถึงการใช้ขนาดที่ดินเป็นฐานในการคิดภาษีอัตราก้าวหน้า โดยฐานภาษีมาจากราคาที่ดินที่ประกาศโดยกรมธนารักษ์ในปีนั้น ๆ ที่ดินจำนวนไม่เกิน 50 ไร่ เก็บในอัตราคงที่ตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว อัตราภาษีจำแนกตามการใช้ประโยชน์ในที่ดิน แบ่งเป็น ที่ดินเพื่อการเกษตร พาณิชย์และอุตสาหกรรม จะเก็บในอัตราสูงขึ้นเป็นลำดับ ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะเก็บในอัตราสูงสุด และเพิ่มอัตราขึ้นทุก 3 ปี
สำหรับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีนั้น ผศ.ดวงมณี ระบุว่า จะไม่ยกเว้นที่ดินของหน่วยราชการต่าง ๆ ที่มากกว่า 50 ไร่ และไม่ได้ใช้ประโยชน์ ที่ดินที่ใช้หาผลประโยชน์ต้องเสียภาษี ยกเว้นสำหรับที่ดินที่ใช้ในกิจการบางประเภทที่มีข้อกำหนดให้เป็นที่ว่างเปล่าเพื่อความปลอดภัย เช่น ที่ดิน ของการไฟฟ้าฯ
"รายได้จากการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า 50% จะถูกใช้เป็นเงินทุนของธนาคารที่ดิน และอีก 50% เป็นรายรับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่น" ผศ.ดวงมณี กล่าว และยืนยันว่า การเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า จะไม่กระทบต่อที่อยู่อาศัยปกติของคนเมืองแน่นอน เพราะเป็นลักษณะการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดินของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่ส่วนใหญ่มีที่ดินขนาดไม่เกิน 50 ไร่
ชาวบ้านถูกฟ้องกว่า 6 พันคดี
ขณะที่นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวถึงสภาพปัญหาด้านที่ดินในประเทศไทย คือ การกระจายการถือครองที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม นั่นคือ ที่ดินส่วนใหญ่ กว่า 90% กระจุกตัวอยู่ในมือคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีจำนวนราว 10% ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่กว่า 90% ครอบครองที่ดินรวมกันราว 10%
"ปัญหาที่ดินเกิดจากสาเหตุหลัก 2 เรื่อง คือ หนึ่งการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการรักษาพื้นที่ป่า ทำให้ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าก่อนการประกาศใช้กฎหมายเหล่านั้นกลายเป็นผู้บุกรุก และสอง ระบบเอกสารสิทธิการถือครองที่ดินเป็นการรองรับสิทธิแบบปัจเจก ที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม ทำให้ที่ดินจำนวนมากตกไปอยู่กับผู้ที่มีอำนาจซื้อ"
นายประยงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ มีประชากรราว 10-15 ล้านคน เข้าไปอยู่ในที่ดินของรัฐอย่างผิดกฎหมาย รวมถึงที่สาธารณะประโยชน์ ที่ราชพัสดุ และที่ป่าไม้ ในแต่ละปีมีชาวบ้านถูกดำเนินคดีตามกฎหมายประมาณ 6,000 คดี เมื่อศาลตัดสินลงโทษแล้ว คนเหล่านี้ก็กลับไปอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมเพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่จะไป
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา นายประยงค์ กล่าวด้วยว่า ควรแยกแยะให้ชัดเจนชุมชนไหนอยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่ป่า กับคนที่เข้าไปอยู่ทีหลัง เข้าไปซื้อที่ เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ผ่านมาชาวบ้านที่อยู่ในป่าก็พยายามพิสูจน์ตัวเองต่อแนวทางการแก้ปัญหาที่ดิน โดยใช้รูปแบบกรรมสิทธิ์ชุมชนเพื่อพิสูจน์ว่า สามารถอยู่กับป่าได้ ไม่มีการขยายพื้นที่ หรือขายที่ดิน ซึ่งนำมาสู่โมเดลโฉนดชุมชนหรือ สิทธิชุมชน
ทั้งนี้ในช่วงท้าย นายประยงค์ กล่าวยอมรับด้วยว่า กระบวนการปฏิรูปที่ดินผ่านกฎหมายทั้ง 3 ฉบับที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับสังคมไทย พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับอาจไม่เกิดขึ้นในชั่วอายุเรา เพราะแรงต้านจากฝ่ายนิติบัญญัติมีสูงมาก แต่นี่คือกระบวนการต่อสู้ อย่างไรก็ตามต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม