คำเตือน ส.อนาคตศึกษา : ‘5เรื่องที่รัฐบาลต้องทำ ถ้าไม่อยากให้ไทยกลายเป็นกรีซ’
‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ประธานกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา เปิดเผยบทวิเคราะห์ ‘เราจะเป็นกรีซในอนาคตหรือไม่ : 7 คำถามควรรู้เกี่ยวกับหนี้สาธารณะ’ สรุป 5 เรื่องที่รัฐบาลต้องทำ โดยเลิกประชานิยมเทกระจาด เช่น จำนำข้าว
เพื่อไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นกรีซในอนาคต รัฐบาลควรทำอย่างน้อย 5 เรื่อง อันได้แก่…
1.รัฐบาลควรเลิกนโยบายประชานิยมในแบบที่ไม่จำกัดวงเงินงบประมาณ เพราะมีความเสี่ยงต่อภาระหนี้สูงกว่าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เพราะโครงการประชานิยม เช่น โครงการจำนำข้าว ไม่ทราบว่าจะสิ้นสุดโครงการเมื่อไรและจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นภาระของรัฐบาลมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังยากต่อการประเมินความคุ้มค่าโครงการเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆ
2.หากจะลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รัฐควรจะลดขนาดการกู้ยืมลง เพราะถ้าภาระหนี้สูงจนเกินไป หากเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง รัฐบาลจะมีความสามารถในการรับมือได้น้อยลง นอกจากนี้การจำกัดวงเงินกู้ให้เล็กลง จะทำให้รัฐต้องจัดลำดับความสำคัญว่าโครงการใดมีความจำเป็นและคุ้มค่าสมควรได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นลำดับต้นๆ
3.โครงการภาครัฐต่างๆ ที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ ควรมีระบบตรวจสอบและประเมินผล รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลแบบโปร่งใส โดยระบบตรวจสอบจะต้องเริ่มติดตามตั้งแต่ระยะเริ่มต้นโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ ไปจนถึงเสร็จสิ้นโครงการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการนั้นๆ คุ้มค่าต่อการลงทุน และไม่ก่อภาระหนี้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการติดตามตรวจสอบโครงการ
4.ควรจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืนเงินต้นให้มากขึ้น และหาทางเพิ่มรายได้ในอนาคต ทุกวันนี้ประเทศไทยมีแต่การก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้น แต่แทบไม่มีการชำระคืนเงินต้นเลย ในปีงบประมาณ 2556 มีการชำระเงินต้นเพียง 0.8% ของยอดหนี้คงค้างเท่านั้น ที่สำคัญเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศจะมีความสามารถในการชำระภาระหนี้ได้ รัฐบาลควรมีแผนการที่จะเพิ่มรายได้เพื่อลดภาระหนี้ลง เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือการขยายฐานภาษี เพราะปัจจุบัน รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บได้แทบทั้งหมดก็ถูกนำมาใช้เป็นรายจ่ายประจำเท่านั้น
5.ต้องสร้างกลไกความรับผิดรับชอบที่ชัดเจน ตั้งแต่กระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การอนุมัติโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง ไปจนถึงการดำเนินโครงการนั้น จะต้องมีผู้รับผิดรับชอบที่ชัดเจน และมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาลงโทษเมื่อเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจากเจตนาทุจริตหรือจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ทั้งนี้หนี้สาธารณะที่เห็นในข่าวตามที่กระทรวงการคลังรายงาน หมายรวมถึงหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้ที่กู้โดยรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่รัฐบาลค้ำประกันและไม่ได้ค้ำประกัน และหนี้ที่กู้โดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจโดยรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งรวมกันแล้วประมาณ 5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2555 แต่ก็ยังไม่ได้รวมหนี้ที่มีอีกหลายรายการที่อาจสร้างภาระต่องบประมาณ
เช่น หนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน รวมถึงหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนนอกงบประมาณอื่นๆ ซึ่งเราควรดูภาพรวมของหนี้ที่มีโอกาสจะเป็นภาระต่องบประมาณทั้งหมด เพื่อจะไม่มองข้ามหนี้ซึ่งอยู่ที่หน่วยงานอื่นๆ ที่มีโอกาสจะเป็นภาระของรัฐ เช่น กรณีของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่สำรองจ่ายเพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าวบางส่วนเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายต่อไปได้ หากรัฐบาลไม่สามารถขายข้าวได้ในราคาที่รับจำนำมา สุดท้ายรัฐบาลก็อาจจะต้องชดเชยความเสียหายให้ แก่ธกส. ซึ่งจะกลายเป็นภาระต่องบประมาณในอนาคต
นอกจากนี้กรณีที่ตั้งข้อสังเกตุกันว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)จะสูงเกิน 60% หรือไม่ในอนาคต อาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับภาระหนี้ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งสะท้อนว่ามีเงินใช้หนี้เพียงพอหรือไม่มากกว่า ตัวอย่างเช่น กรณีของประเทศญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สูงถึง 224%ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ จีดีพีของประเทศกรีซ แต่ที่ยังไม่เกิดวิกฤตการณ์ทางการคลังอย่างในประเทศกรีซ เนื่องจากภาระในการชำระหนี้ของประเทศญี่ปุ่นยังไม่มากนัก ญี่ปุ่นมีภาระดอกเบี้ยต่อรายได้รัฐบาลที่ 11%ในขณะที่ประเทศกรีซมีภาระดอกเบี้ยต่อรายได้รัฐบาลสูงถึง 31%
ส่วนเมื่อย้อนกลับมาดูที่ภาระหนี้ของไทยในปัจจุบัน ถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วง เพราะงบประมาณชำระคืนหนี้ ซึ่งรวมดอกเบี้ยและเงินต้นของประเทศไทยในปีงบประมาณ 2556 อยู่ที่ประมาณ 180,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.4% ของรายได้สุทธิของรัฐบาล ซึ่งลดลงจากร้อยละ 11% ของปีก่อนหน้า แต่ยังมีภาระการคลังที่อาจเกิดจากการดำเนินนโยบายประชานิยมเช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการรถยนต์คันแรก รวมไปถึงโครงการสินเชื่อตามนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลมอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจดำเนินการ ซึ่งนโยบายประชานิยมเหล่านี้ล้วนแต่มีโอกาสสร้างภาระหนี้ต่องบประมาณในอนาคตได้ .
หมายเหตุ : ในวันที่ 24 เม.ย.นี้สถาบันอนาคตศึกษา ร่วมกับ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จะจัดสัมมนา “โครงการ 2 ล้านล้านกับอนาคตประเทศไทย” ซึ่งจะมีการเผยแพร่บทวิเคราะห์ ‘เราจะเป็นกรีซในอนาคตหรือไม่ :7 คำถามควรรู้เกี่ยวกับหนี้สาธารณะ’ .
ที่มาภาพ : The Economist