ดัน พ.ร.บ.ช่วยเหลือกฎหมายประชาชน- ชงมหา’ลัยเปิดคลินิก กม.ช่วยชาวบ้าน
ประธาน คปก.แนะเร่งปฏิรูปการบังคับใช้กฏหมาย เอ็นจีโอชี้ลักหลั่นชาวบ้าน-รัฐและทุน ชงตั้งกองทุนเยียวยาคดีสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ดัน พ.ร.บ.ช่วยเหลือ กม.ประชาชน
วันที่ 23 เม.ย. 56 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเวทีสาธารณะ ‘การปฏิรูปการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย’ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคปก.ปาฐกถาว่าตัวบทกฎหมายไทยจะต้องปรับปรุง แต่สิ่งที่สำคัญคือการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมายและความคิดบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างศรัทธาประชาชน
นอกจากนี้ยังมีเวทีอภิปราย โดยนางสมสุข มีวุฒิสม อธิบดีอัยการ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า สคช.มีนโยบายให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยให้คำปรึกษา นอกจากนี้ยังพัฒนาทนายอาสาให้ความช่วยเหลือด้านคดีความแก่คนจนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประสบความสำเร็จหลายพื้นที่
นายไพฑูรย์ สว่างกมล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่าหากมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายออกมา จะทำให้หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องมีมาตรฐานและกลไกช่วยเหลือประชาชนที่ชัดเจนมากขึ้น และต้องบูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง
ผศ.ดร.พรรณรายรัตน์ ศรีไชยรัตน์ หัวหน้าศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่าการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย(คลินิกกฎหมาย) จะสามารถช่วยเหลือผู้ยากไร้ได้ ซึ่งปีที่ผ่านมา ม.เชียงใหม่ได้ให้คำปรึกษาประชาชนแล้ว 150 คน โดยให้นักศึกษาเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ภายใต้การกำกับดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรนิติศาสตร์สามารถบูรณาการได้ จะเป็นการสร้างนักกฎหมายที่มีคุณภาพและมีจิตใจบริการประชาชน
นายวีรศักดิ์ โชติวานิช กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ กล่าวว่าเฉพาะปี 2555 สภาทนายความช่วยเหลือคดีความประชาชนทั้งหมด 80,000 คดี ขณะที่ปัจจุบันได้รับงบประมาณเพียง 65 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอ
นางสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้ประสานงานมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าไทยเผชิญสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นมาก โดยเฉพาะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่กระทบระบบนิเวศ วิถีชีวิตชุมชน ประชาชนในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วม และเมื่อเกิดคดีความระหว่างประชาชนกับรัฐหรือกลุ่มทุน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่บังคับใช้กฎหมายและกำหนดมาตรการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ แต่กลับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินคดีกับคนในชุมชน ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายทรัพยากรธรรมชาติแก่ประชาชน ตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และจำเป็นต้องแก้พระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ม.96 กำหนดให้ชาวบ้านมีสิทธิฟื้นฟูมลพิษร่วมกับรัฐและฟ้องร้องเอกชนเพิ่มได้ด้วย
นางส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานสภาทนายความ ศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่าสิ่งที่กังวลคือการพัฒนาที่อาจส่งผลกระทบในภูมิภาค เช่น กรณีก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว ดังนั้นการแก้ไขปัญหาแก่ชุมชน ผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ และผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีความรู้ในการวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความรู้กฎหมายทั้งในและต่างประเทศ .