นักกม.เชื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตสูง หลังเกิดคดีขายหนังสือมือ2 ผ่านอีเบย์
ทนายความ เชื่อจากนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตสูง การซื้อหนังสือจะแปลงร่างเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น หลังนักวิชาการไทยชนะคดีขายหนังสือมือสองผ่านอีเบย์
วันที่ 23 เมษายน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และมหาวิทยาลัยเนชั่น จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “คดี ดร.สุภาพ เกิดแสง: ประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจ” ณ ห้องประชุมสุรเกียรติ เสถียรไทย ชั้น 4 อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
สำหรับคดีละเมิดลิขสิทธิ์สำนักพิมพ์ John Wiley&Son,Inc. ซึ่งโด่งดังสร้างความสะเทือนไปทั่วโลกนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ช่วงที่ดร.สุภาพ ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านคณิตศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย โดยระหว่างนั้นปี 2550 ถึงเดือนกันยายน 2551 ทางครอบครัวและเพื่อนของดร.สุภาพมีการส่งหนังสือตำราเรียน ของสำนักพิมพ์ John Wiley&Son,Inc. ที่ขายสิทธิพิมพ์และจำหน่ายเฉพาะในทวีปเอเชีย มาให้
ต่อมาดร.สุภาพ ได้นำหนังสือดังกล่าวไปขายทางเว็บไซต์อีเบย์ (eBay.com) จนถูกสำนักพิมพ์ John Wiley ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น ที่นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 ข้อหาละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์ (U.S.C. มาตรา 501) โดยดร.สุภาพได้ยกข้อต่อสู้ “หลักการขายครั้งแรก” (First Sale Doctrine) ขึ้นมาต่อสู้ (U.S.C. มาตรา 109 (a)) ยืนยัน ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์
กระทั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ตัดสินไปในทิศทางเดียวกัน ให้ดร.สุภาพ มีความผิด
และคดีนี้ได้สร้างความฮือฮา เมื่อศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตัดสินโดยดูมิติทางด้านภาษา “หลักการขายครั้งแรก”และวัตถุประสงค์ของสภาคองเกรสในการร่างกฎหมาย, หลักกฎหมายจารีตประเพณี (Common Law) รวมทั้งมองถึงกลุ่มคน และองค์กร ที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น สมาคมห้องสมุด คนขายหนังสือมือสอง บริษัทเทคโนโลยี และพิพิธภัณฑ์ กลับคำพิพากษาให้ดร.สุภาพ ชนะคดีละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยมติ 6:3
ขณะที่ผู้พิพากษาเสียงข้างน้อย (Ginsburg) ระบุไว้ในคำพิพากษา โดยเห็นว่า คำพิพากษาคดีนี้ประหลาด และผิดแผกแตกต่าง จากความตั้งใจของคองเกรส ที่ตั้งใจที่จะให้สิทธิกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการห้ามนำเข้าสินค้าราคาถูกเข้ามา และได้รับการเยียวยา ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตยังทำให้สหรัฐฯ ลำบากในการขับเคลื่อนประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างประเทศด้วย หลังจากสหรัฐฯ ต่อต้านหลักการสิ้นสิทธิระหว่างประเทศ (International Exhaustion) มาโดยตลอด
ดร.สุภาพ กล่าวถึงการขายหนังสือเรียน ลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ John Wiley จำนวน 8 ปก (ปกละ 15 เล่ม) ประเด็นข้อกฎหมายของคดีนี้ที่ไม่ว่าใครแพ้หรือชนะ ก็จะมีความโกลาหลเกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งหากมีการจัดทำร่างกฎหมายในเมืองไทย ก็ขอให้มองทั้งสองฝั่ง ข้อเสียทั้งกรณีแพ้และชนะ กรณี First Sale Doctrine พร้อมกับตั้งข้อสังเกตสิ่งที่แปลก คือ กฎหมายสหรัฐฯ จะให้ความคุ้มครองกับของที่ผลิตจากนอกประเทศ มากกว่าของที่ผลิตในประเทศ เพราะ First Sale Doctrine ใช้กับของที่ผลิตนอกสหรัฐฯ ไม่ได้ ฉะนั้นสิทธิ์ขาด ในการจำหน่ายจ่ายแจกของเจ้าของลิขสิทธิ์จะไม่หมดไป ไม่ว่า จะขายไปสักกี่ครั้ง
ดร.สุภาพ กล่าวว่า ตนได้อ่าน First Sale Doctrine เป็นสิบๆ รอบก่อนขายหนังสือ ทำให้มั่นใจในการสู้ความในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา สิ่งที่มีน้ำหนัก สำหรับคดีนี้ หากแพ้คดี ความเสียหายจะมีอะไรบ้าง มีการพูดและถกเถียงกันมาก
ในฐานะทนายความ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ จากสำนักงานกฎหมาย P&P กล่าวถึงคดีดร.สุภาพ ถือเป็นคดีที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ที่ทำผ่านทางอินเตอร์เน็ต
“ที่ศาลตัดสินให้ดร.สุภาพชนะ เพราะคดีนี้ถูกบีบให้ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ชี้อยู่ 2 ประเด็น คือ 1.ระหว่างสิทธิผู้บริโภคที่ซื้อของมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะนำไปขายต่อได้หรือไม่ และ2.สิทธิผู้บริโภค กับความเสียหายจากการผูกขาดทางการค้าของ John Wiley ศาลเลือกอะไร”
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ที่น่าสนใจศาลได้ทำการสำรวจ และดูถึงความเสียหายจะเกิดขึ้นมากน้อยขนาดไหนจากผลการตัดสินคดีนี้ เช่น มีการสำรวจสมาคมห้องสมุด ก็พบว่า หนังสือกว่า 200 ล้านเล่ม นำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด ถ้าให้ John Wiley ชนะหมายความว่า ห้องสมุดต่างๆ ต้องไปขออนุญาต 200 ล้านเล่ม นี่คือมหัตภัยครั้งใหญ่
“ส่วนผู้จำหน่ายหนังสือมือ 2 มีความเห็นว่า ประเพณีการขายต่อหนังสือที่ซื้อมาโดยชอบ มีมาเป็น 100 ปีแล้ว ด้านผู้ผลิตรถยนต์ แท็ปเลต คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ก็พบว่า สหรัฐฯ จ้างผลิตที่ต่างประเทศเกือบทั้งหมด ดังนั้น หากว่าตามกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์นี้ และมีการนำเข้าสินค้ามา ย่อมมีปัญหาแน่นอน” นายไพบูลย์ กล่าว และว่า ผู้ขายสินค้าออนไลน์ อย่าง อีเบย์ อเมซอน ก็มีความเห็นว่า ดร.สุภาพ ควรจะชนะ ประกอบกับสหรัฐฯ ให้ความสำคัญมากกับเรื่องการศึกษา งานศิลปะ และพิพิธภัณฑ์ ดังนั้นคดีนี้ศาลจึงต้องการเลือกเอาระหว่าง ให้ดร.สุภาพชนะคดี และไปแก้ในข้อกฎหมาย กับให้ John Wiley ชนะคดี
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า คำพิพากษาคดีนี้จะทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซโตอย่างมาก และต่อไปนี้จะซื้อหนังสือ หรือสิ่งต่างๆ จะแปลงร่างเป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เป็นการดาวน์โหลด โดยการให้ใบอนุญาต (licensing) แทน ซึ่งไม่อยู่ในกฎหลักการขายครั้งแรก
“กฎหมายจากเดิมมีบังคับเฉพาะหลักดินแดน จากนี้ไปหลัก การสิ้นสิทธิภายในประเทศ (National Exhaustion) จะเริ่มตายไปและหายไป การขายสินค้าอีคอมเมิร์ซ ทางเว็บไซต์ ทุกอย่างสามารถขายข้ามกันได้ รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์จะมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหากรรมสิทธิ์ จะเป็นเรื่องการออกใบอนุญาต คือ Bit Bytes ที่มีการดาวโหลดกัน มาตรการทางเทคนิกจะมีการใช้กันมากขึ้น เช่น บล็อกประเทศ ที่มีความเสี่ยงของการละเมิดลิขสิทธิ์ค่อนข้างมาก หรือมีการจัดโซนการขายสินค้า รวมถึงมีการจำกัดจำนวนการขายจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ การบริหารด้านลิขสิทธิ์ดิจิทอล (Digital Right Management: DRM) จะเข้ามามีบทบาท แนวโน้มกฎหมายก็มาด้านนี้เช่นกัน”
พร้อมกันนี้ นายไพบูลย์ ยังตั้งข้อสังเกตุ คดีดังกล่าว หากเปลี่ยนจากดร.สุภาพ เป็นบริษัท ก. ที่ซื้อหนังสือมาเป็นแสนๆ เล่ม แล้วขายต่อ หลัก First Sale Doctrine จะมีผลต่างหรือไม่
ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ได้จากคดีนี้ ระหว่างประโยชน์ผู้บริโภค กลุ่มผู้ใช้ (End Users) พิพิธภัณฑ์ กับผลประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิ์ จะมีการจัดสมดุลอย่างไร
ส่วนกรณีที่หลายคนเกรงว่า ในอนาคตราคาหนังสือจะแพงขึ้นหรือไม่นั้น คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงราคาจะไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่คนซื้อหนังสือในเมืองไทยจะลำบากขึ้นก็คือ เวลาสั่งซื้อหนังสือจะทำได้ยาก ถูกจำกัดจำนวน เพราะมีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด
หลักการขายครั้งแรก (First Sale Doctrine) อยู่ในกฎหมายลิขสิทธิ์ 17 USC § 109 (a) ระบุว่า แม้จะมีมาตรา 106 (3) เจ้าของกรรมสิทธิ์ ในตัวหนังสือ ซึ่ง หากทำขึ้นโดยถูกกฎหมาย (lawfully made under this title) หรือคนอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ ก็มีสิทธิ ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ มีสิทธิจำหน่าย จ่ายโอน หนังสือต่อไปได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์อีก