นัยแห่งป้ายผ้า...ลึกกว่าค้านเจรจา แต่ถามหาการยอมรับ"ปาตานี"
คนทั่วไปรวมทั้งสื่อสารมวลชน ไม่เว้นแม้แต่ "ศูนย์ข่าวอิศรา" พากันพาดหัวข่าวและพูดถึงป้ายผ้าที่ถูกติดทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับอีก 2 อำเภอของ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดนับได้มากกว่า 119 ผืนตามที่ได้รายงานไปแล้ว โดยตีความและสรุปความว่าเป็น "ป้ายต้านการเจรจา" ซึ่งแน่นอนย่อมหมายถึงกระบวนการ "พูดคุยสันติภาพ" ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มที่อ้างตัวเป็นขบวนการบีอาร์เอ็น
จริงๆ ที่ผ่านมาก็มีป้ายผ้าหรือการพ่นสีข้อความตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นถนนใกล้จุดที่ก่อเหตุรุนแรงมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่รัฐบาลได้ตัดสินใจลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเมื่อ 28 ก.พ.2556 เป็นต้นมา แต่ไม่มีครั้งใดที่ปรากฏป้ายข้อความมากเท่าวันที่ 22 เม.ย.
บางข้อความที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่มีการใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นบนถนน มีถ้อยคำไม่เอาด้วยกับการเจรจาค่อนข้างชัดเจน เช่น "เจรจาโกหก ปัตตานีกำลังได้เอกราช!" เป็นต้น แต่ต้องยอมรับว่าข้อความที่ปรากฏเยอะที่สุด รวมเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ด้วย คือ KEDAMAIN TAKKAN LAHIR SELAMA HAK PERTUANAN TIDAK DIAKUI
แม้ป้ายที่พบบางป้ายจะมีความแตกต่างกันบ้างที่ตัวสะกด และการใช้อักษรพิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก เนื่องจากเป็นภาษามลายูที่เขียนด้วยตัวอักษรรูมี (อักษรโรมัน) แต่ข้อความหลักๆ มีอยู่ประมาณนี้
ประเด็นก็คือ ข้อความดังกล่าวแปลว่าต่อต้านการเจรจาหรือไม่ เพราะบางคนหรือสื่อบางฉบับแปลทำนองว่า "การเจรจาจะไม่เกิดขึ้นหากเจ้าของพื้นที่ไม่ยอมรับ" ขณะที่บางคนหรือบางสื่อแปลว่า "สันติภาพจะไม่เกิดขึ้นหากเจ้าของพื้นที่ไม่ยอมรับ" ฟังแล้วงงๆ พิกล...
สาเหตุที่มีการแปลแตกต่างกัน ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะคนในพื้นที่แม้จะเป็นคนมลายูมุสลิมเอง แต่ภาษาที่ใช้กันคล่องแคล่วคือภาษามลายูถิ่น หรือ "มลายูปัตตานี" ที่เป็นภาษาพูด ส่วนภาษาเขียนนั้น เขียนได้ทั้งอักษรยาวี อาหรับ และรูมี พอเขียนด้วยตัวอักษรแตกต่างกัน การตีความก็อาจจะแตกต่างกันไปได้
จากการพูดคุยกับ "นักภาษาศาสตร์" ที่เชี่ยวชาญการอ่านและตีความภาษามลายูที่เขียนด้วยตัวอักษรรูมี (ดังป้าย) เขาแปลถ้อยความที่ปรากฏบนป้ายผ้าที่ติดทั่วสามจังหวัดว่า "สันติภาพจะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่สิทธิความเป็นเจ้าของยังไม่ได้รับการยอมรับ"
พิจารณาจากรูปประโยค ไม่ได้มีการปฏิเสธการ "เจรจา" หรือ "พูดคุย" อย่างชัดเจน และไม่ได้มีการพูดถึงตรงๆ ด้วยซ้ำ แต่สาระหลักที่ผู้เขียนข้อความต้องการสื่อคือคำว่า "สันติภาพ" และแนวทางที่จะทำให้เกิด "สันติภาพ" ต่างหาก
นัยแห่งข้อความนี้จึงไม่ใช่การปฏิเสธหรือต่อต้านการเจรจา แต่เป็นการแสดงท่าทีให้รู้ว่าสิ่งที่รัฐไทยกำลังทำอยู่ในปัจจุบันนี้ (ซึ่งน่าจะหมายรวมถึงการพูดคุยสันติภาพด้วย) จะไม่นำไปสู่สันติภาพที่แท้จริงได้หรอก หากว่า "สิทธิความเป็นเจ้าของยังไม่ได้รับการยอมรับ"
วลีที่ว่า "สิทธิความเป็นเจ้าของ" นี้ นักภาษาศาสตร์ตีความว่าน่าจะหมายถึงสิทธิความเป็นเจ้าของดินแดน และความเป็นเจ้าของดินแดนย่อมหมายรวมไปถึง ตัวตน การมีอยู่ ซึ่งสะท้อนผ่านภาษา ศาสนา และวิถีวัฒนธรรม ซึ่งแยกไม่ออกจาก "ดินแดน" นั่นเอง
คำถามก็คือการพูดคุยเจรจา หรือสิ่งที่รัฐไทยปฏิบัติอยู่ ณ ขณะนี้ รวมทั้งที่ปฏิบัติตลอดมา แสดงถึงการ "ยอมรับ" การมีอยู่ของคนมลายูมุสลิมที่สื่อไปถึงสิทธิความเป็นเจ้าของดินแดนแห่งนี้ซึ่งมีอยู่จริงและอ้างอิงได้ตามประวัติศาสตร์หรือยัง ไม่ใช่คิดแค่ว่าเขาอาศัยแผ่นดินไทยอยู่ เพราะการรับรู้ของคนในพื้นที่ก็คือ เป็นการถูกผนวกรวมแผ่นดินเข้ามา และปัจจุบันอยู่ในประเทศที่ชื่อว่า "ไทย"
คำถามก็คือ ตัวตนของเขาอยู่ที่ไหน เพราะศาสนาประจำชาติของประเทศนี้คือศาสนาพุทธ พวกเขากลายเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศที่ชื่อ "ไทย" แต่เป็นคนกลุ่มใหญ่ใน "สามจังหวัด" ที่เคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่ของรัฐปาตานี หรืออาณาจักรปาตานี หรือลังกาสุกะ ตามแต่จะเรียกย้อนกันในห้วงเวลาไหน
นี่คือคำถามที่กลายเป็น "โจทย์ข้อสำคัญ" ว่าเราจะยอมรับเพื่อนร่วมแผ่นดินในสถานะใด แค่คนที่อาศัยแผ่นดินไทยอยู่ หรือชนชาติที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมา มีความยิ่งใหญ่ มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ต่างอะไรกับอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา หรือรัตนโกสินทร์ และวันนี้ได้มาอยู่ร่วมขอบเขตประเทศที่ชื่อว่า "ไทย"
โจทย์สำหรับคณะเจรจา การตั้งต้นที่ว่า "พูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย" อาจกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้หลายกลุ่มปฏิเสธที่จะยอมรับหรือไม่ แน่นอนว่าประโยคนี้ส่งผลดีแน่ๆ แต่เป็นผลดีของ "ประเทศไทย" ในนามของคนกลุ่มใหญ่นอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่อาจไม่ใช่ผลดีของคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ก็ได้ ทำให้ไม่มีผลต่อการลดดีกรีความรุนแรง
พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าผมสนับสนุนให้มีการ "พูดคุยนอกกรอบรัฐธรรมนูญไทย" แต่เรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นต้องพูดหรือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ เพราะทุกอย่างบนโต๊ะเจรจาต้องย้อนกลับมาสู่รัฐสภาและฉันทานุมัติจากประชาชนในประเทศไทยอยู่แล้ว
เช่นเดียวกัน หากไม่มองในแง่ลบมากจนเกินไป ข้อเรียกร้องทั้งหลายที่เคยเสนอมาอย่างเป็นทางการจากผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณของคนสามจังหวัด ตั้งแต่ยุค "ฮัจยีสุหลง" เป็นต้นมา จนถึงการพูดคุยเจรจาที่กำลังทำกันอยู่นี้ หรือแม้แต่ป้ายผ้าส่วนใหญ่ที่ติดทั่วสามจังหวัด ก็ยังไม่พบคำว่า "ต้องการเอกราช" แต่ประการใด
การพูดคุยเจรจาจึงยังมีความเป็นไปได้ หากแต่ต้องทำอย่างถูกวิธีการ โดยเฉพาะในปัญหาที่ซับซ้อนและเป็น "สงครามความรู้สึก" เช่นนี้ ต้องมีความระมัดระวังอย่างสูง และแน่นอนว่าทุกอย่างจะดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด สังคมไทยทั้งสังคมต้องมีความพร้อมและเปิดใจ
ถามง่ายๆ ถึงวันนี้เรายอมรับการใช้ภาษาของคนสามจังหวัดที่แตกต่างจาก "ภาษาไทยกลาง" ได้จริงหรือไม่ ยอมรับได้แค่ไหน หรือพอฟังแล้วหงุดหงิดใจ ตั้งคำถามในใจแบบยัวะๆ ว่า "ทำไมไม่พูดไทย (วะ)"
โดยเฉพาะข้าราชการจากนอกพื้นที่ที่ลงไปปฏิบัติงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าใจความละเอียดอ่อนตรงนี้หรือไม่ หรือยังไปเรียกเหมารวมพวกเขาว่าเป็น "คนไทยเหมือนกัน" อยู่
หลักคิดที่ว่าคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเป็น "คนไทย" ที่พูด "ภาษาไทย" เท่านั้น แต่สามารถเป็นคนเชื้อชาติอื่น เช่น "มลายู" แล้วก็พูดภาษาถิ่นของตนเองได้ เป็นเรื่องท้าทายที่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจอย่างขนานใหญ่กับสังคมของเราที่ถูกหล่อหลอมเรื่องการดำรง "วัฒนธรรมเดี่ยว" มาเนิ่นนาน และยังปฏิเสธ "ความแตกต่าง" ทั้งยังมองข้ามการมีอยู่ของ "ตัวตน" ที่ไม่เหมือนเราอีกด้วย
ถึงเวลาแล้วที่รัฐ (อันหมายถึงหน่วยงานภาครัฐ) และรัฐบาล (อันหมายถึงฝ่ายการเมือง) กับทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมมือกันทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะสายเกินไป และก่อนที่จะส่งผลให้การเจรจาที่พยายามทำกันอยู่นี้ไร้ประโยชน์
เพราะการยอมรับตัวตนและการมีอยู่ของอีกฝ่ายอย่างแท้จริง จะนำมาซึ่งความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และสิ่งที่เรียกว่า "คุยกันได้" อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขสถาพร