ศิษย์ ม.จ.สิทธิพร เปิดสูตรปฏิวัติ ลดปุ๋ยเคมี ยึดคติ “ฟางไม่เผา กินข้าวไม่เหลือ”
หลายคนคงเคยได้ยินวลีอมตะ “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” กันมาบ้างแล้ว ยิ่งนานวันกาลเวลาก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความอมตะของวลีดังกล่าว กอรปกับเมื่อต้องมาเจอภาวะตื่นตระหนก ราคาทองคำผันผวนร่วงลงแบบ “ดิ่งเหว” ทั้ง ๆ ที่เมื่อปีก่อนราคาทองยังอยู่สูงลิบ ก็จะยิ่งเข้าใจถ่องแท้
เจ้าของวลีนี้คือ "หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร" ผู้ผันตัวเองจากข้าราชการระดับสูง หันมาบุกเบิกทำการเกษตรแผนใหม่ระหว่างปี 2459-2502 โดยสร้างเป็นไร่ชื่อว่า “ฟาร์มบางเบิด” ตั้งอยู่ที่ ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ สร้างตำนาน แตงโมบางเบิด อันลือชื่อ และเป็นต้นแบบของการเกษตรแบบผสมผสาน
ด้วยคุณูปการหลากหลายต่อวงการเกษตรไทย ท่านจึงได้รับการยกย่องเป็น “บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่”
ปัจจุบันฟาร์มบางเบิด กลายเป็นที่ตั้งสถานีวิจัยสิทธิพร กฤดากร หรือสถานีวิจัยบางเบิด ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2534 มีเนื้อที่กว่า 452 ไร่ เป็นศูนย์การเรียนการสอน และค้นคว้าวิจัยของคณะ ทั้งนิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ที่สนใจเข้าฝึกอบรม รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร
ในปี 2556 เป็นปีครบ 130 ปี ชาตกาลของ ม.จ.สิทธิพร มีการจัดเสวนารำลึกม.จ.สิทธิพร ณ ป๋วยเสวนาคาร ร.ร.วัดปทุมคงคา คุยกันถึงเรื่องข้าวปลา ที่เป็น “ของจริง”
โดยเกษตรกรตัวจริง คุณขวัญชัย รักษาพันธ์ ชาวนา ชาว อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ “มีชีวิตเป็นชาวนามาจนทุกวันนี้ได้ ก็เพราะท่านหม่อมเจ้าสิทธิพร”
ลุงขวัญชัย ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้มีชีวิตใกล้ชิดกับ ม.จ.สิทธิพร เนื่องจากหลังเรียนจบจากมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ก็ได้เข้าทำงานที่มูลนิธิหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร จนวันหนึ่งท่านก็แนะให้มาเป็นชาวนา สร้างตัวมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็ด้วยวิชาการเกษตรที่ได้รับถ่ายทอดมาจาก ม.จ.สิทธิพร
ลุงขวัญชัย เล่าถึงหัวใจของการทำนา และการทำเกษตรทุกอย่างในวันนี้ว่า อยู่ที่ “ดิน” ถ้าดินดี ปลูกอะไรก็งอกงาม ไร้พิษภัย
แต่วิถีการทำนาของไทยทุกวันนี้ยังเดินผิดทาง เพราะไปพึ่ง “ปุ๋ยเคมี” มากเกินไป นำผลเสียมาให้หลายอย่าง จึงควรปฏิวัติสูตรปุ๋ยเสียใหม่ โดยนำปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ให้มากขึ้น
ลุงขวัญชัย เล่าว่า การเกษตรสมัยก่อน ไม่มีการใช้ปุ๋ย มีแต่ว่า ดินดีก็ได้ข้าวแล้ว เพราะในกระบวนการปลูกข้าว ดินเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จึงต้องหมั่นบำรุงดินให้ดี
ปุ๋ยเป็นวิถีการเกษตรในระยะหลังมานี้เอง ทุกคนปลูกอะไรก็จะคิดถึงแต่ปุ๋ย ปัจจุบันชาวนาจึงนิยมซื้อปุ๋ยสำเร็จรูป เพราะไม่มีองค์ความรู้ที่จะสามารถผสมปุ๋ยเองได้ จึงเป็นวิถีเกษตรแบบไม่พอเพียง เพราะต้องใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลงกันเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด
ตอนนี้สูตรปุ๋ยที่นักเกษตรส่งเสริมไม่เป็นสูตรแบบพอเพียง คือ สูตร 16-20-0 ใช้กับนาข้าว 15-15-15 ใช้กับพืชไร่ 13-13-21 ใช้กับผลไม้ ลุงขวัญชัยคิดว่า ต่อจากนี้การเกษตรต้องปฏิวัติสูตรปุ๋ยใหม่ ให้เป็น “ศูนย์” คือ 0-16-0 หรือ 0-13-21 คือตัวหน้าไม่มี ให้เกษตรกรพึ่งตัวเองโดยทำปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นมา
เป็นวิธีเอาปุ๋ยชีวภาพไปผสมกับปุ๋ยเคมี เป็น “อินทรีย์เคมี” คือ ใช้เคมีเฉพาะฟอสฟอรัสกับโพแทสเซียม ส่วนไนโตรเจนตัดออกไป เปลี่ยนมาใช้อินทรีย์
ประเทศชาติก็จะประหยัดเงินค่าปุ๋ยตัวไนโตรเจนไปได้อีกเยอะ
“การปลูกข้าวลูกผสม ที่มักปลูกตามพื้นที่ที่น้ำท่วมได้ เช่น ในเขตชลประทานทั้งหลาย เป็นข้าวที่ผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งข้าวประเภทนี้กินปุ๋ยเยอะ อย่างน้อยไร่ละ 50 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 ชาวนาชอบใส่กันมาก ยี่สิบวันใส่ครั้งหนึ่ง พอใส่ยูเรียแล้วแมลงมันมา ก็ต้องใช้ยาฆ่าแมลงอีก ส่งผลให้สุขภาพของไทยแย่ลง” ลุงขวัญชัย อธิบาย
ส่วนวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพนั้นไม่ยาก คนสมัยก่อนมีภูมิปัญญาทำกันมานาน แต่สมัยปัจจุบัน ”เผาทิ้ง” หมด
ของที่ว่านั้นคือ “ซัง” และ “ฟาง” ข้าว
ลุงขวัญชัยอธิบายให้เห็นภาพอย่างละเอียดว่า...
“นาหนึ่งไร่ ได้ซังกับฟางทั้งหมดรวมประมาณตันกว่า คือข้าวหนึ่งตันได้แกลบ 200 กก. ซังอีกประมาณ 600 กก. ฟางอีก 400 กก. รวมทั้งสามอย่างเท่ากับเราเบิกมาจากแผ่นดินประมาณ 1,200 กก. แล้วไม่เอามาใส่คืนผืนดินเลย ก็เท่ากับไม่เอากลับมาฝากเลย ธนาคารก็หมดเงิน ก็คือดินไม่สมบูรณ์ ลูกหลานก็ต้องรับกรรม”
ถ้าเอา 1,200 กก.นั้นกลับมาฝากดินก็จะดีกว่า แกลบก็เอาจากโรงสีมา ไม่ให้โรงสีเอาไปขาย เอาสิ่งที่เบิกไปจากดินกลับมาใส่คืนดิน เพียงสองถึงสามปีเท่านั้นเอง
ลุงขวัญชัย เชื่อมั่นว่า ดินจะดีอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ย...
วิธีการก็คือ เอาฟางมาต้ม สกัดได้น้ำดำ เอาฟางออก แล้วเอาเชื้อจุลินทรีย์มาใส่ ใส่กากน้ำตาล มันจะเป็นปุ๋ยชีวภาพภายในสิบวัน มีธาตุย่อยด้วยคือไนโตรเจน
หรือเอาฟางหรือซังข้าวมาแช่น้ำสองคืน แล้วไปรดดินก่อนปลูกพืช พืชจะงามหมด เพราะจุลินทรีย์เติบโต ทำให้ดินดี
ส่วนที่อ้างกันว่า เผาฟางเผาซังในนาช่วยฆ่าเชื้อโรคได้หลายชนิดนั้น ลุงขวัญชัย ชี้ว่า เป็นความรู้ไม่จริง และเป็นความมักง่ายเอาสะดวกมากกว่า เพราะไม่รู้ที่จะเอาฟางไปทำอะไร การเผาอาจได้ประโยชน์เพียงหนึ่งส่วน แต่ที่เสียไปนั้นร้อยส่วน
"และอีกอย่างหนึ่ง สมัยนี้ใช้รถเกี่ยวข้าว ไร่หนึ่งข้าวร่วงลงดิน 50 กก. ฝนตกทีแรกต้องไม่ไถ ต้องให้ข้าวให้หญ้าสูงขึ้นมาก่อน แล้วค่อยไถกลบลงไปเป็นปุ๋ย นี่คือสูตรปฏิวัติ ต้องเอาข้าวร่วงทำปุ๋ย เอาหญ้าทำปุ๋ย ข้าวร่วงในนาหลังเก็บเกี่ยวเอาปุ๋ยชีวภาพที่ทำไว้แล้วใส่ซ้ำ ให้หญ้ามันงามขึ้นมา แล้วไถกลบลงไป ดินจะดี ปุ๋ยเคมีไม่ต้องใส่
“เราต้องทำปุ๋ยเองได้ ไม่ต้องซื้อเขา ถึงจะพอเพียง”
คนไต้หวันมีคติ “ข้าวหนึ่งเม็ดได้มาไม่ง่าย” เพราะเขารู้คุณค่าของข้าวดี
สุดท้าย...ลุงขวัญชัยขอเพิ่มคติเข้าไปอีกสำหรับคนไทยคือคือ “ฟางไม่เผา กินข้าวไม่เหลือ” เพราะถ้าชาวนาไทยไม่เผาฟาง ดินจะดีขึ้นมาก
ส่วนข้าวในจาน กินให้หมดทุกเม็ด อย่างรู้ค่า ไม่เหลือทิ้ง ทำได้ไหม?