จัดระเบียบคลองหลอดใหม่ กระทบแรงงานนอกระบบ-คนไร้บ้าน 1,000 ชีวิต
กทม.จัดระเบียบหาบเร่แผงลอยคลองหลอด 25 เม.ย. ขายได้เฉพาะกลางคืน กระทบแรงงานนอกระบบ 1,000 ชีวิต เอ็นจีโอถามหามาตรการรองรับคนไร้บ้าน 40 % พ่อค้านัดเจราจาเทศกิจสัปดาห์หน้า
วันที่ 19 เม.ย. 56 ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่สำรวจบริเวณคลองหลอดติดกับสนามหลวง ซึ่งเป็นแหล่งการค้าหาบเร่แผงลอยและเป็นที่อาศัยของคนไร้บ้านแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร(กทม.) สืบเนื่องจากกรณีพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ได้มอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่เทศกิจ 50 เขต ในการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกทม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่ายวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่เทศกิจเขตพระนครประมาณ 80 นายร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ลงพื้นที่แจกใบประกาศสำนักงานเขตพระนครแก่พ่อค้าแม่ค้าบริเวณคลองหลอด เรื่อง ‘ห้ามตั้งวางอุปกรณ์การค้า และให้รื้อถอนเพิงพักและสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ออกจากที่สาธารณะ’ โดยมีใจความระบุว่า สืบเนื่องจากบริเวณคลองหลอด(คูเมืองเดิม) ถนนอัษฎางค์ ถนนราชินีและบริเวณใกล้เคียงโดยรอบศาลฎีกา มีการตั้งวางอุปกรณ์การค้าและสร้างเพิงพักซึ่งมีลักษณะรุกล้ำที่สาธารณะทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย จึงอาศัยอำนาจกฎหมายที่เกี่ยวข้องห้ามมิให้ผู้ใดตั้ง วาง สิ่งใด หรือ จำหน่ายสินค้า รอบบริเวณดังกล่าวโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งให้รื้อถอนเพิงพักและสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 25 เม.ย. 56 หากฝ่าฝืนจะจับกุมดำเนินคดีต่อไป
นายจุลนพ นุชนารถ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจเขตพระนคร กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวเป็นการแจ้งเตือนล่วงหน้า อย่างไรก็ดีในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือร่วมกับแกนนำพ่อค้าแม่ค้า เพื่อหาข้อตกลงที่ยืดหยุ่นร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย เช่น ไม่ห้ามขายแต่ต้องมีการกำหนดช่วงเวลาขาย โดยอาจเป็นช่วงเวลานับแต่ 2 ทุ่ม – เที่ยงคืน ทั้งนี้เมื่อขายสินค้าเรียบร้อยแล้วต้องเก็บของและร้านให้เรียบร้อย ซึ่งหากไม่ทำตามเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องรื้อถอนร้าน ทั้งนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเพื่อความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่สาธารณะ
ด้าน‘นายปัง คลองหลอด’ แกนนำพ่อค้าแม่ค้าริมคลองหลอดกล่าวว่า บริเวณริมคลองหลอดมีการขายสินค้า 2 ช่วงเวลา คือ กลางวันตั้งแต่ 8 โมงเช้า-บ่าย3 และกลางคืนตั้งแต่ 1 ทุ่ม-ตี3 โดยมีจำนวนผู้ค้ารวมกันประมาณ 1,000 ราย สำหรับท่าทีการอนุญาตให้มีการขายสินค้าเฉพาะเวลากลางคืนซึ่งแม้จะส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารอบกลางวันจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่าจะเป็นที่ยอมรับได้ อย่างไรก็ดีสำหรับการบังคับให้รื้อถอนที่เก็บสินค้าและเพิงพักทั้งหมดโดยไม่มีสถานที่อื่นรองรับให้อาจเป็นไปได้ยากเนื่องจากคนส่วนหนึ่งคือผู้ชีวิตอยู่ที่นี่ ดังนั้นกทม.จึงควรหามาตรการรองรับ
นายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ผู้ทำงานช่วยเหลือคนเร่ร่อนและคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะบริเวณดังกล่าว กล่าวว่า ร้อยละ 40 ของพ่อค้าแม่ค้าริมคลองหลอด คือ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ ที่มีบ้านอยู่ต่างจังหวัดและบางส่วนเป็นคนเร่ร่อนไร้ที่พักพิง ประกาศดังกล่าวจะทำให้ผู้อาศัยในที่สาธารณะเหล่านี้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยโดนไล่จากสนามหลวงหมดหนทางไป แสดงให้เห็นถึงหลักคิดของกทม.ที่แก้ไขปัญหาโดยยึดเอา‘สถานที่’เป็นที่ตั้ง โดยละเลยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น‘คน’ซึ่งอาศัยอยู่มาก่อน ทั้งนี้เสนอให้กทม.หามาตรการรองรับ เช่น หาสถานที่เก็บสินค้าให้ โดยอาจเป็นบริเวณข้างศาลฎีกาที่ปัจจุบันกำลังซ่อมแซมไปก่อนชั่วคราว
ขณะที่ตัวแทนแม่ค้ารอบกลางวันผู้อาศัยอยู่บริเวณริมคลองหลอด กล่าวว่า รู้สึกเครียด เพราะหากห้ามไม่ให้ขายของช่วงกลางวันจริง ตนก็คงหมดหนทาง และต้องกลับไปบ้านต่างจังหวัดเพื่อทำมาหากินอย่างอื่นแทน เพราะไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศดังกล่าวนับเป็นการไล่รื้อพื้นที่บริเวณคลองหลอดครั้งแรก หลังจากเมื่อปี 53 มีการจัดระเบียบและไล่รื้อพื้นที่บริเวณสนามหลวงเพื่อปรับปรุงทัศนียภาพ ทำให้คนเร่ร่อน ไร้บ้าน และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยกว่า 1 พันชีวิตได้รับผลกระทบ ขณะที่บางส่วนได้ย้ายมาอาศัยอยู่บริเวณริมคลองหลอดนับจากนั้น
(ล้อมกรอบ)
ประกาศสำนักเทศกิจเขตพระนคร เรื่อง ห้ามตั้งวางอุปกรณ์การค้า และให้รื้อถอนเพิงพักและสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ออกจากที่สาธารณะ ณ วันที่ 18 เม.ย. 56