อย่าทิ้งเมืองมีศักยภาพ 'เดชรัต' หนุนกระบี่-ชุมพร จว.พลังงานหมุนเวียน 100%
"เดชรัต" ห่วง ส.อ.ท.เสนอรัฐสร้างเมืองตัวอย่างพลังงานทดแทน 100% ใช้เงินลงทุนสูง แนะอย่าลืมกระบี่ - ชุมพร เมืองที่มี "ศักยภาพ" พัฒนาต่อเนื่องได้เลย ลงทุนน้อย เชื่อได้ผลดีกว่า
กรณีมีรายงานข่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เตรียมที่จะเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาโครงการสร้างเมืองตัวอย่างพลังงานทดแทน 100% ปลายเดือนเมษายนนี้ โดยวางแนวทางที่จะใช้พื้นที่ 2,000 ไร่ บริเวณจังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ให้เป็นเมืองที่ใช้ไฟฟ้าและน้ำมันจากพลังงานทดแทน เช่น ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ การติดตั้งโซลาเซลล์ และการใช้น้ำมันไบโอดีเซลและเอทานอล โดยให้รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สายส่งไฟฟ้า ระบบบำบัดน้ำเสีย ส่วนเอกชนจะลงทุนผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับธุรกิจต่างๆ และคาดว่าจะใช้เวลาในการศึกษารายละเอียดประมาณ 6-8 เดือน
โดยโครงการสร้างเมืองตัวอย่างพลังงานนี้ จะใช้ต้นแบบจากโครงการ ซิมบิโอ ซิตี้ (Symbio City) กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ที่ ส.อ.ท.เดินทางไปดูงานร่วมกับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงกรณีการสร้างเมืองตัวอย่างพลังงานทดแทนตามแนวข้อเสนอของ ส.อ.ท.ว่า เป็นแนวคิดที่หลายๆ ประเทศกำลังพยายามสร้างเมืองเช่นนี้ขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนในอนาคต นอกเหนือจากประเทศเดนมาร์ก ก็มีประเทศเกาหลี และเยอรมันก็เริ่มต้นมานานแล้ว นับว่าได้ผลค่อนข้างดี ในการทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงสร้างความตื่นตัวในการสร้างเมืองลักษณะแบบเดียวกันไปทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นสำหรับประเทศไทย ตามที่ ส.อ.ท.นำเสนอให้สร้างเมืองใหม่ ในพื้นที่ใหม่ขึ้นมานั้น ดร.เดชรัต กล่าวว่า เป็นแนวความคิดที่ดี และไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่เกินไปสำหรับประเทศไทย แต่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ที่อาจมีความเสี่ยงในการลงทุน แม้จะยังไม่ทราบตัวเลขการลงทุนที่ ส.อ.ท.วางไว้ แต่เชื่อว่า การลงทุนเพื่อสร้างแหล่งพลังงานทดแทนเป็นสิ่งที่ "คุ้มค่า" อย่างแน่นอน
ดร.เดชรัต กล่าวต่อว่า อีกทางที่เป็นไปได้ คือเข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้มีหลายจังหวัดที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานชีวมวลในอัตราที่สูงมาก อย่างจังหวัดกระบี่ ใช้พลังงานหมุนเวียนประมาณ 70% ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้อยู่ในจังหวัด และจังหวัดชุมพร ใช้พลังงานหมุนเวียนประมาณ 50% ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้อยู่ในจังหวัด
"ข้อมูลการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นต้นแบบที่ดีของ 2 จังหวัดนี้ที่มีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดผลักดันและดูแล แต่ไม่เคยมีการพูดถึง และนำมาตั้งเป็นเป้าหมายในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน
หากเริ่มต้นพัฒนาที่ 2 จังหวัดนี้ก่อน แทนที่จะไปสร้างเมืองในพื้นที่ใหม่นั้น คาดการณ์ว่า จะใช้เวลาเพียง 5-6 ปีในการสร้างและพัฒนา ก็จะสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้เพียงพอกับการใช้ไฟฟ้าภายในจังหวัดของตนเอง นับเป็นการลงทุนที่น้อยกว่า แต่ส่งผลมากกว่า เพราะไม่ใช่แค่เมืองในพื้นที่เฉพาะ แต่หมายถึงจังหวัดทั้งจังหวัด" ดร.เดชรัต กล่าว และว่า กระบี่ และชุมพร รายได้ส่วนใหญ่มาจากบริการการท่องเที่ยวเป็นตัวหลัก ซึ่งหากสามารถพัฒนาให้เป็น "จังหวัดพลังงานหมุนเวียน 100%" จะช่วยเสริมหนุนการท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชั้นบน ในประเทศแถบตะวันตกได้เป็นอย่างดี
"หากสนับสนุนจังหวัดเหล่านี้ ที่ใกล้จะเป็นเมืองแหล่งพลังงานทดแทนอยู่แล้ว ให้เป็นเมืองแหล่งพลังงานทดแทนทั้งจังหวัด เศรษฐกิจก็จะเติบโต เกิดการจ้างงานภายในจังหวัดมากกว่าการสร้างเมืองใหม่ ทั้งนี้ ไม่ได้คัดค้านแนวคิดที่ ส.อ.ท.เสนอ แต่ในอีกด้านหนึ่งไม่อยากให้ทิ้งเมืองที่มี "ศักยภาพมากกว่า" และสามารถลงทุนต่อเนื่องได้โดยไม่ต้องสร้างสาธารณูปโภคใหม่ทั้งหมด โดยอาจเริ่มต้นที่สภาอุตสาหกรรมแต่ละจังหวัดที่ปัจจุบันมีการผลักดันเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว หลายจังหวัดมีความพร้อม ลองตั้งเป้าหมายให้จังหวัดตนเองเป็นพลังงานหมุนเวียน ผมคาดว่า เบื้องต้นสามารถทำได้ถึง 30 จังหวัด"
ดร.เดชรัต กล่าวถึงการเริ่มต้นเรื่องพลังงานทดแทนในประเทศไทยด้วยว่า ควรใช้ทุกทางเลือกประกอบกัน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือชีวมวล โดยเฉพาะพลังงานชีวมวล และแก๊ซชีวภาพ นั้น ควรทำเป็นลำดับแรกๆ และสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ ไม่ควรให้แหล่งที่ตั้ง ใกล้ชุมชนมากเกินไป
"ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่จะสนับสนุนนโยบายพลังงานทดแทนอย่างชัดเจน อาจทำให้ข้อเสนอของ ส.อ.ท.สร้างเมืองตัวอย่าง เปลี่ยนไปตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงอุปสรรคในระบบราชการที่มีความล่าช้า และมีการกำหนดโควต้าการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน อาจทำให้พลังงานไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้เต็มที่"