สสว.เผย 32 ราย ชิงสุดยอด SMEs แห่งปี รายย่อยระบุปรับตัวได้ ค่าแรง 300
สสว.ประกาศผลการคัดเลือกสุดยอด SMEs แห่งชาติ ครั้งที่ 5 เอสเอ็มอีสมัครร่วมกว่า 1,000 ราย ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 32 ราย จาก 15 กลุ่มธุรกิจ เตรียมจัดงานมอบรางวัลสุดยิ่งใหญ่ 24 เมษาฯ นี้
นางสุทธิกานต์ มาสำราญ ผู้อำนวยการสำนักบริการผู้ประกอบการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากที่ สสว.ได้จัดโครงการประกวด “สุดยอด SMEs แห่งชาติ” ครั้งที่ 5 ขึ้น มีผู้ประกอบการ SMEs สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการในช่วงเดือนธันวาคม 2555 - มกราคม 2556 จำนวน 1,032 ราย ในจำนวน 15 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ อาหาร สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์-งานไม้ หัตถกรรม อัญมณี – เครื่องประดับ เครื่องจักร-อุปกรณ์ พลาสติก-ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งพิมพ์ ค้าปลีก ท่องเที่ยว ออกแบบ-สร้างสรรค์ ลอจิสติกส์ สุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม
ผอ.สำนักบริการผู้ประกอบการ สสว. กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการคัดเลือกรอบสุดท้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยได้ทำการคัดเลือกอย่างเข้มข้นโดยคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ นำแนวทางของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Awards : TQA) มาปรับใช้ การคัดเลือกมีการสัมภาษณ์ และการตรวจประเมินสถานประกอบการ จนได้ผู้เข้ารอบสุดท้ายจำนวน 32 บริษัท ที่มีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติครั้งที่ 5
ด้านนายพานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวว่า SMEs ที่จะผ่านเกณฑ์พิจารณาได้รับรางวัล จะต้องได้รับคะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในแต่ละหมวด ซึ่งมีทั้งสิ้น 7 หมวด สำหรับการมอบรางวัล ผู้ได้รับคะแนนตั้งแต่ 600 คะแนนขึ้นไป จะได้รับรางวัลชมเชย, 800 คะแนนขึ้นไป จะได้รับรางวัล SMEs ดีเด่น และผู้ที่ได้คะแนนมากกว่า 800 คะแนนขึ้นไปและสูงสุดในแต่ละกลุ่มธุรกิจ จะได้รับรางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติ
ผอ.สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ที่ SMEs จะได้รับ อาทิ ผู้ที่ได้รับรางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติ และผู้ที่ได้รับรางวัล SMEs ดีเด่นครั้งที่ 5 ได้รับสิทธิเข้ารับการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ บริษัทละ 3 หลักสูตร มีส่วนลดร้อยละ 50 ของค่าอบรม ส่วนด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมองและแนวคิดในการบริหารกิจการให้เติบโตและประสบความสำเร็จ จากผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่เริ่มต้นจากการเป็น SMEs จนกระทั่งเป็นบริษัทจดทะเบียน โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2556 นี้
ขณะที่นายสุรชัย ลิมทวีสมเกียรติ ฝ่ายการตลาด บริษัท เวย์ตานา จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม กล่าวถึง ผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ว่า แม้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบโดยรวมต่อบริษัทจนถึงขณะนี้ถือว่าไม่รุนแรง เพราะเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีลูกจ้างฝ่ายผลิตเพียงสิบคน และหันมาใช้วิธีลดต้นทุนการผลิตแทน เช่น งานบางงานใช้วิธีเหมาจ่าย โดยให้เงินก้อนกับพนักงานรับงานไปทำ แทนที่จะให้เป็นค่าล่วงเวลาหรือโอที เพราะการเหมาจ่าย สร้างแรงจูงใจได้มากกว่า
ส่วนนายสุรพงษ์ อติชาติศรีสกุล จากบริษัท ทีมพลาส เคมิคอล จำกัด ธุรกิจพลาสติกและยาง กล่าวว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ทั่วประเทศ แต่ทางบริษัทมีการเตรียมตัวเพื่อแก้ปัญหาในสามด้าน คือ 1.พัฒนาเครื่องจักร ชิ้นที่เก่า เปลี่ยนใหม่ ให้กินไฟน้อยลง และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากขึ้น 2.พัฒนาด้านบุคลากร โดยเพิ่มการอบรมให้มีความรู้ความสามารถ ทำงานได้มากขึ้น โดยให้ไปฝึกงานเรียนรู้ หาวิธีลดขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ได้งานปริมาณมากขึ้น และ 3.พัฒนาวิธีการผลิต ดูว่าส่วนไหนที่เป็นจุดติดขัดในกระบวนการผลิต ก็รีบแก้ไข เพื่อประหยัดเวลา ลดการใช้พนักงาน และเพิ่มการผลิต วิธีรับมือดังกล่าวแม้ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่ก็พอช่วยทำให้บริษัทอยู่ได้ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
ทั้งนี้ การประกวดสุดยอด SMEs แห่งชาติ เป็นโครงการที่ สสว. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการค้นหา SMEs ต้นแบบที่มีความสามารถ ดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs อื่น ๆ ให้มีความตื่นตัว ปรับปรุงพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการ สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ
การประกาศผลรางวัลสุดยอด SMEs แห่งชาติ ครั้งที่ 5 จะมีการมอบรางวัลในวันที่ 24 เมษายน ที่โรงแรมเอส 31 ซึ่งจะมีการมอบรางวัลจากครั้งที่ 4 ไปพร้อมกันด้วย