ทีดีอาร์ไอ ห่วงลงทุน 2 ลล.ไม่คุ้มค่า แนะตั้งหน่วยงานกลางร่วมศึกษาความเป็นไปได้
ทีดีอาร์ไอ ห่วงลงทุน 2 ลล.ไม่คุ้มค่า ชี้มีหลายโครงการยังไม่ศึกษาอีไอเอ-รายละเอียดการบริหาร หวั่นเสี่ยงทางการคลัง แนะการลงทุนในอนาคตควรจัดให้อยู่ในงบประมาณเท่านั้น
วันที่ 18 เมษายน สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โครงกาวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย (ThaiLawWatch) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีเสวนา ร่างพ.ร.บ.กู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ: เดินหน้าอย่างไรให้ถูกทาง โปร่งใส และเป็นประชาธิปไตย โดยมี ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ และดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการทีดีอาร์ไอ นำเสนอบทวิเคราะห์และข้อเสนอแนะว่า ในหลักการเห็นด้วยกับการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว แต่ในรายระเอียดยังคงมีความกังวลหลายประการที่อยากนำเสนอ เพื่อให้เดินหน้าโครงการอย่างดีที่สุด
ทีดีอาร์ไอ ระบุถึงข้อกังวลในหลายโครงการที่ยังไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความเหมาะสมและคุ้มค่าของการลงทุน รายละเอียดในการบริหารโครงการ การกู้เงินนอกงบประมาณ และความเสี่ยงทางการคลัง ในการดำเนินโครงการ โดยที่เสนอให้เพิ่มรายละเอียดระดับโครงการในบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.เพื่อให้สภาได้กลั่นกรองและให้ความเห็นชอบในรายละเอียดที่เหมาะสม และให้ทุกโครงการต้องผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ของหน่วยงานกลาง และมีหน่วยงานที่เป็นกลาง มีผู้ตรวจสอบอิสระตรวจสอบผลการศึกษาอีกชั้นหนึ่ง
ทั้งนี้ กำหนดให้ฝ่ายบริหารไม่สามารถเพิ่มโครงการใหม่ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.แทนโครงการที่ไม่ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้ และหากดำเนินการเสร็จแล้ว หากโครงการใดมีเงินกู้ที่เหลือจ่ายให้กระทรวงการคลังนำเงินเหลือจ่ายไปชำระคืนเงินกู้เท่านั้น ไม่ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
สำหรับการลงทุนในอนาคต เห็นว่า ควรจัดให้อยู่ในรูปเงินในงบประมาณเท่านั้น และควรจัดทำแผนแม่บทการคมนาคมขนส่งที่ศึกษาอย่างรอบคอบและเป็นระบบ
ในกรณีที่ติดปัญหาเพดานการกู้เงินในงบประมาณ อาจออกเป็น พ.ร.บ. ยกระดับเพดานการกู้เงินเป็นการชั่วคราว โดยระบุว่าเพดานส่วนเกินต้องนำมาใช้ในโครงการลงทุนที่ระบุใน พ.ร.บ. เท่านั้น และให้มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณรายจ่ายระยะปานกลาง
ในด้านการบริหาร รัฐต้องมีความชัดเจนของหนี้สะสม และหนี้จากการลงทุนระบบรางใหม่ว่าจะมีการบริหารจัดการอย่างไร ที่สำคัญต้องมีการปฏิรูปองค์กรและการกำหนดตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพอย่างชัดเจนและให้มีการประเมินผลหลังการดำเนินโครงการอย่างเป็นระบบ
ส่วนสำคัญที่ทีดีอาร์ไอ ระบุถึงคือการบริหารโครงการ ที่ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและทางการเงิน โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่วางงบประมาณในการลงทุนสูงที่สุด ไม่ควรมีความคิดในการบริหารว่าเป็นบริการทางสังคม เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของรถไฟความเร็วสูงไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อย ควรบริหารให้เป็นเชิงพาณิชย์และหาเลี้ยงตัวเองได้ และไม่ให้กิจการขาดทุนในระยะยาวจนไปเบียดบังรายจ่ายภาครัฐในเรื่องสำคัญอื่นๆ เช่น สังคมและการจัดสวัสดิการ เป็นต้น
อ่านบทวิเคราะห์และข้อเสนอฉบับเต็ม เร็วๆ นี้