นักวิชาการ มจธ. หนุนใช้เครื่อง UAV สำรวจพื้นที่ปลูกป่า เชื่อประสิทธิภาพดีกว่าดาวเทียม
อาจารย์วิศวะฯ หนุนใช้ เครื่อง UAV สำรวจพื้นที่ปลูกป่า เชื่อประสิทธิภาพดีกว่า ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการสำรวจด้วยดาวเทียม-คน
ผศ.ดร. อรรณพ เรืองวิเศษ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีแผนโครงการ ปลูกป่า 1 ล้านไร่ทั่วประเทศ ของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่ได้จัดสรรงบประมาณ 40 ล้านบาท ให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) (สทอภ.) หรือจิสด้า ในการจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ หรือ (Unmanned Aerial Vehicle:UAV) เพื่อใช้สำรวจตรวจพื้นที่ปลูกป่าว่า หากถามถึงความเหมาะสมในการนำเครื่อง UAV มาสำรวจพื้นที่ปลูกป่า นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับการเลือกประเภทของเครื่องด้วยว่า ตรงกับรูปแบบการใช้งาน และเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน เพราะ UAV มีหลายประเภท ซึ่งราคาจะแตกต่างกันไปตามประสิทธิภาพ
“UAV ทุกประเภทจะถูกออกแบบมาเพื่อสแกนพื้นที่และรวบรวมข้อมูลเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้นการนำเครื่องUAVมาสำรวจพื้นที่ป่าได้หรือไม่นั้น ก็อาจเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับเก็บข้อมูลพื้นที่ป่าในเบื้องต้น แต่หากต้องการรายระเอียดของข้อมูลเพิ่มเติมก็อาจต้องเพิ่มประสิทธิภาพของกล้องให้สูงขึ้น เพื่อแสดงผลลัพธ์ได้ละเอียดยิ่งขึ้น"
ผศ.ดร.อรรณพ กล่าวถึงการใช้ UAV ในการสำรวจพื้นที่ป่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่า สำรวจพื้นที่ด้วยวิธีอื่น เช่น การสำรวจพื้นที่ด้วยดาวเทียม ซึ่งจะมีต้นทุนที่สูงและวิถีโคจรในการสำรวจค่อนข้างแคบ รวมทั้งยังมีข้อจำกัดด้านระยะเวลาการสำรวจ หากเลยข้ามวิถีโคจรในพื้นที่ไปแล้ว ขณะที่การสำรวจพื้นที่ด้วยคนนั้น ก็จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน อีกทั้งเสียเวลามากด้วย ดังนั้น UAV หรืออากาศยานไร้คนขับสามารถเข้ามาทดแทน และลบข้อบกพร่องต่างๆ จากการตรวจ หรือสำรวจพื้นที่แบบอื่นๆ
"หาก กบอ. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ UAV ให้ถูกประเภท และทำอย่างจริงจัง เชื่อว่า การสำรวจพื้นที่ปลูกป่าของ กบอ. จะสามารถดำเนินการไปด้วยดี และคงไม่สูญเปล่าเหมือนเรือเหาะ ที่เคยนำมาประจำการที่ชายแดนภาคไต้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เอามาใช้งาน"
เมื่อถามถึงข้อจำกัดด้านข้อกฎหมาย ที่ยังไม่มีออกข้อบังคับด้านกฎมายที่เกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับอย่างชัดเจนนั้น ผศ.ดร.อรรณพ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเพียงตั้งระเบียบบังคับทางการบินสำหรับเครื่องบินขนาดเล็กและอากาศยานไร้คนขับเท่านั้น เช่น ไม่ให้บินใกล้บริเวณแถวสนามบินหรือเสาไฟฟ้ามากเกินไป ห้ามบินเหนือน่านฟ้าละแวกชุมชน กำหนดระดับความสูงของการบินไม่เกิน 3-4 พันฟุตจากพื้นดิน ซึ่งทั้งหมดเป็นกฎระเบียบเท่านั้นไม่ใช้กฎหมาย
ทั้งนี้ สำหรับเครื่องบินไร้คนขับ มีการนำมาใช้ในประเทศไทยมากว่า 10 ปีแล้ว โดยหน่วยงานทางทหารจัดซื้อมาในราคา 2-3 ล้านบาท สำหรับใช้งานทางการทหาร หลังจากนั้นก็จะการนำมาใช้เพื่อการวิจัยและพัฒนาภายในประเทศไทย จนในปัจจุบันประเทศไทย สามารถผลิต UAV ได้เองแล้ว แต่เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านการผลิต ทั้งทรัพยากรและศักยภาพด้านบุคลากร จึงยังมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศอยู่
โดยหน่วยงานของทหารจใช้ UAV ในการปฎิบัติภารกิจรวบรวมข่าวสารหรือบินสำรวจภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวางยุทธศาสตร์ทางการทหาร ส่วนภาคเอกชนนั้น จะเน้นสำรวจพื้นที่ทางการเกษตรหรือตรวจพื้นที่กักเก็บน้ำ เป็นต้น