ผู้ส่งออกฉะ พณ.ยึดอำนาจ สภาหอการค้าฯ คุมส่งออกข้าวขาวหวังกลบจีทูจีเก๊
ผู้ส่งออกค้าน พณ.ออกประกาศยึดอำนาจออกใบรับรองข้าวส่งออกของสภาหอการค้า ชี้หวังปิดแหล่งเสนอข้อมูลระบายข้าวจริง เพื่อจัดการตัวเลข ยันจีทูจี รบ.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีจริง แอบล็อกสเป็กขายในราคาขาดทุน
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าว สำนักข่าวอิศรา ภายหลังที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกำหนดให้สำนักงานมาตรฐานสินค้า กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) มีอำนาจตรวจสอบและออกใบรับรองข้าวขาว 5 ประเภทที่เอกชนส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลวันที่ 30 เม.ย.นี้ และออกประกาศยกเลิกข้อกำหนดที่ให้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีส่วนร่วมในการออกใบรับรองข้าวขาวที่ส่งออก จากเดิมที่เข้าร่วมตรวจสอบและออกใบรับรอง ตามมาตรฐานการตรวจสอบสินค้า พ.ศ. 2544 ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ ว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เหตุใดจึงออกระเบียบดังกล่าวขึ้นมาดึงอำนาจทั้งหมดไปควบรวมในมือภาครัฐ ทั้งที่สภาหอการค้าฯ และเอกชนสามารถดูแลกันเองได้
"สภาหอการค้าฯ รับหน้าที่มานานกว่า 30 ปี โดยที่ไม่มีปัญหาร้องเรียน และคุณภาพในการส่งออกก็ตรวจสอบตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์"
นายชูเกียรติ กล่าวต่อว่า มองในภาคปฏิบัติแล้ว เมื่อควบรวมการทำงานไปอยู่ที่ภาครัฐย่อมมีผลต่อ "ความคล่องตัว" เนื่องจากติดวันหยุดราชการ และจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ จึงอาจเกิดความล่าช้าในเก็บเงิน การลงสินค้าที่ต้องอาศัยความปัจจุบันทันด่วน ท้ายที่สุดที่เป็นห่วงคือ เมื่อภาครัฐควบรวมงานไปทั้งหมดจะมีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขในการส่งออกหรือไม่ เนื่องจากเดิมเว็บไซต์ของคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าฯ เปิดเผยข้อมูลตัวเลขการระบายมาโดยตลอด พร้อมแสดงความเป็นห่วง เมื่อประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะไม่มีข้อมูลการระบายข้าวนำเสนอ เนื่องจากเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นแหล่งข้อมูลแห่งสุดท้ายที่สื่อมวลชน ผู้ส่งออกและผู้ที่ติดตามจะหาข้อมูลได้
"ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ที่เคยเปิดเผยข้อมูลก็ทยอยปิดไปหมด กระทรวงพาณิชย์ และกรมศุลกากรก็ไม่เคยให้ข้อมูล จนเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่า มีความพยายามกลบข้อมูลโดยที่ไม่ให้เหตุผลที่ยอมรับได้ เวลารัฐบาลพูดถึงจีทูจี ผู้ส่งออกรู้ข้อมูลดี เพราะวงการมันแคบ เห็นชัดเจนว่า มีการขายจริงหรือไม่หรือไปอยู่ในมือใครบ้าง หลอกผู้ส่งออกไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมามองไม่เห็นจริงๆ ว่ามีการขายจีทูจีสำหรับรัฐบาลนี้ คือขายให้กับผู้ส่งออกบางราย แล้วผู้ส่งออกก็ไปขายภาคปกติให้กับลูกค้าในราคาที่ถูกกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งหมดผิดกับเงื่อนไขของจีทูจีที่ต้องเป็นรัฐบาลขายให้รัฐบาลเท่านั้น" นายชูเกียรติ กล่าว และว่า จีทูจีที่เห็นว่า "จริง" มีอยู่ครั้งเดียว คือกับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งก็เริ่มมาจากรัฐบาลที่แล้วด้วยซ้ำไป และแม้รัฐบาลจะอ้างว่า ขายให้กับรัฐวิสาหกิจ ถามว่า ทำไมต้องมาซื้อหน้าตลาด ทำไมต้องจ่ายเป็นเงินบาทและไม่ได้ขนไปจีนจริง
ขณะที่แหล่งข่าวในวงการข้าว กล่าวถึงที่มาว่า ต้นเหตุมาจากประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อเดือนธันวาคม 2555 ที่กำหนดให้สินค้าข้าวขาวเป็นสินค้ามาตรฐาน ซึ่งต้องมีการจดทะเบียน ผ่านการตรวจสอบสินค้าและต้องขอหนังสือรับรองกับสภาหอการค้าฯ ไปแสดงกับกรมศุลกากรก่อนส่งออกข้าว จากเดิมที่มีข้าวหอมมะลิเพียงอย่างเดียว ซึ่งขณะนั้นทักท้วงไปก็ไม่เป็นผล กระทั่งมาออกประกาศยกเลิกข้อกำหนดที่ให้สภาหอการค้าฯ มีส่วนร่วมในการออกใบรับรองข้าวหอมมะลิที่ส่งออก ที่จะมีผลวันที่ 30 เมษายน ทั้งที่เป็นคำสั่งของกระทรวงพาณิชย์เอง ตั้งแต่ปี 2500 ที่มอบหมายให้สภาหอการค้าฯ ตรวจข้าวที่ส่งออกทุกชนิด เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ไม่มีบุคลากรเพียงพอ โดยมาตรฐานการตรวจสอบเป็นไปตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2544
"เมื่อออกประกาศให้ข้าวขาว ซึ่งมีหลายชนิดเป็นสินค้ามาตรฐานที่ผู้ส่งออกต้องจดทะเบียนและขอหนังสือรับรองเช่นเดียวกับข้าวหอมมะลิ และออกประกาศให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเป็นผู้ออกหนังสือรับรองข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว 5 ชนิดแต่เพียงผู้เดียว โดยอ้างว่าเพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้า แต่ข้อเท็จจริงการตรวจสอบเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงพาณิชย์ ไม่เคยมีการร้องเรียนและไม่เคยยกมาเป็นประเด็น
ทราบข่าวมาว่า จะมีการนำเงินในโครงการจำนำข้าวมาจ้างบุคลากรตรวจสอบและออกใบรับรอง เนื่องจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าไม่มีบุคลากรเพียงพอ จึงเป็นที่ชัดเจนว่ามีความพยายามควบคุมและจัดการข้อมูล"
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า หากประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้ภาระงานของสำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าฯ ถูกหักไปประมาณ 60% ของภาระงานที่ทำอยู่ และจะเหลือเพียงข้าว 25% ข้าวเหนียว ข้าวนึ่ง ข้าวกล้อง และปลายข้าวที่ยังสามารถตรวจสอบได้อยู่ คาดว่า น่าจะเพียงพอเลี้ยงพนักงาน 80 คนของสำนักงานฯ ให้ทำงานต่อไปได้