“หมอมงคล”เตือน"หมอประดิษฐ์"ระงับความแตกแยกสธ. กรณีม็อบชนม็อบ-P4P
“หมอมงคล” เตือนผ่านเฟสบุ๊ครีบระงับความแตกแยกในวงการสาธารณสุข จากกรณีม็อบรพ.ใหญ่ชนม็อบรพ.ชุมชน ค้านนโยบายจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน เครือข่ายผู้ป่วยสมทบให้ “หมอประดิษฐ์” ทบทวนตัวเอง
นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตปลัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) แสดงความคิดเห็นผ่านเฟสบุ๊ค นพ.มงคล ณ สงขลา (https://www.facebook.com/mongkol.nasongkhla?hc_location=timeline) ถึงสถานการณ์ความแตกแยกในวงการสาธารณสุข จนถึงขนาดมีการนำม๊อบวิชาชีพของ รพ.ใหญ่ในเมือง ชนกับการเคลื่อนไหวของแพทย์ชนบทว่า
“ประวัติศาสตร์ได้จารึกความแตกแยกในกระทรวงสาธารณสุขไว้แล้วด้วยความขมขื่น ผู้บริหารทั้งการเมืองและข้าราชการประจำ ยังภูมิใจในการเป็นผู้นำองค์กรที่แตกแยกอยู่หรือ ใครผิดใครถูกยังไม่ต้องพิสูจน์ แต่การรักษาความเป็นเอกภาพทางการบริหารองค์กรเป็นบทบาทหลักของผู้บริหารมิใช่หรือ หากยังฝืนยื้อให้กลุ่มต่าง ๆ มาชนกันจะยิ่งสร้างความเสียหายให้ใหญ่หลวงยิ่งขึ้น ถอยออกมาอย่างผู้ที่มีสติสูง หาทางพูดคุยกันใหม่ระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากปล่อยให้ผู้ที่ไม่เคยสัมผัสการทำงานบริการสาธารณสุขในชนบท มาให้ความเห็นจะทำให้หลงทางกันไปใหญ่”
อดีตรมว.สธ. ยังแสดงความไม่ความเห็นด้วยต่อนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน (P4P) ว่า “อยากยกตัวอย่างการแก้ปัญหาวัยรุ่นท้องก่อนวัยอันควร ที่มีสถิติว่าการคลอดอายุต่ำกว่า20ปี มีวันละ 370 ราย 10ราย อายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชนต้องไปทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม ชุมชน ท้องถิ่น วัด โรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาที่ยากสาหัส ใช้เวลา ประสานงานหลายทิศ ถามว่ามีตัวชี้วัดไหม ถ้ามีให้แต้มเท่าไร งานอย่างนี้มีมากในชนบท แม้แต่งานบวช งานศพ งานแต่งงาน ผู้อำนวยการ รพ.ชุมชนจะได้รับเชิญ และต้องไปร่วม เพราะต้องเชื่อมไว้ประสานงานแก้ปัญหาสาธารณสุขในชุมชน จะทำตัวชี้วัดให้ครอบคลุม และให้แต้มที่เป็นธรรมทำได้ยาก”
นพ.มงคล ย้ำต่อว่า “การถอยอย่างผู้เจริญแล้วในขณะนี้ดูเหมือนจะสายเกินไป แต่เชื่อว่าจะได้รับการยกย่องมากกว่าปล่อยให้ทุกอย่างพังทลายลงไป”
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากสธ. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้อาวุโสที่มีส่วนสำคัญบุกเบิกพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยกำลังหารือ เพื่อปกป้องระบบจากการแทรกแซงทางการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ รวมทั้งคัดค้านนโยบายP4P แบบไม่มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ และอาจไม่สอดคล้องกับสภาพงานของพื้นที่ รวมทั้งนโยบายเมดิคัลฮับที่จะเอื้อประโยชน์กับธุรกิจเอกชน และทำให้ระบบสาธารณสุขของรัฐอ่อนแอลง ประชาชน ผู้ป่วยในชนบทเดือดร้อน โดยจะมีการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคไต ผู้ติดเชื้อ HIV และเครือข่ายคนพิการกำลังจะเคลื่อนไหวขอให้รมว.สธ. ทบทวนบทบาทของตัวเอง เพราะความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการออกนโยบายที่ผิดพลาดมีผลโดยตรงต่อผู้ป่วยและประชาชน เหมือนตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับระบบป้องกันและการแพทย์ฉุกเฉินรับมือกับ 7 วันอันตรายในเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ที่เพิ่งผ่านมา ปรากฏว่ามียอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นจากเดิมมีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลง ขณะที่บทบาทของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสธ.ลดน้อยลง หรือแทบไม่มีบทบาทชัดเจนเหมือนเช่นที่ผ่านมา
ที่มาภาพ ::: http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/special_report/10970